บ้านพักเด็กและครอบครัว พัฒนาคุณภาพชีวิต
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
แฟ้มภาพ
ในปัจจุบันปัญหาครอบครัวเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจัดตั้งบ้านพักเด็กและครอบครัว เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในทุกมิติ
'ปัญหาครอบครัว' มีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานการเลี้ยงดูของครอบครัว ฐานะทางบ้าน ความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงของคนในครอบครัว ฉะนั้นเรามุ่งหวังที่จะให้ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นทุเลาลงมากที่สุด กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) โดยกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงจัดตั้ง 'บ้านพักเด็กและครอบครัว' เป็นสถานที่แรกรับเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มีภารกิจหลักในการคุ้มครองสวัสดิภาพ ให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่กำลังประสบปัญหาในทุกมิติ
นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เผยว่า ในปัจจุบันปัญหาครอบครัวเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนที่เปลี่ยนไป อาทิ ปัญหาด้านยาเสพติด ปัญหาด้านการเสพสื่อออนไลน์อย่างผิดวิธี ซึ่งพบว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากพื้นฐานการเลี้ยงดูของครอบครัว การให้ความสำคัญของครอบครัวที่มีต่อตัวเด็กอาจไม่เพียงพอ ทำให้เด็กเหล่านั้นต้องถูกส่งมายังบ้านพักเด็กและครอบครัว ซึ่งเป็นสถานแรกรับหรือสถานพักพิงชั่วคราวที่ดำเนินการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในด้านปัจจัย 4 การฟื้นฟู เยียวยา พัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต เพื่อ ส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือส่งคืนสู่สังคม ตามกระบวนการสังคมสงเคราะห์ให้กลุ่มที่ต้องการ เลี้ยงดูในรูปแบบต่างๆ
"บ้านพักเด็กและครอบครัวเป็นสถานที่รับอุปการะเลี้ยงดูเด็กเป็นการชั่วคราว เพื่อสืบเสาะวิเคราะห์ปัญหาของเด็กเป็นรายบุคคล หลังจากนั้นจึงกำหนดแนวทางในการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพที่เหมาะสมแก่เด็กแต่ละราย โดยให้การสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพได้ไม่เกิน 3 เดือน หากสืบเสาะแล้วพบว่า ครอบครัวไม่สามารถดูแลเด็กได้ อาจส่งเด็กเข้ารับการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์ สถานพัฒนาและฟื้นฟู โรงเรียน หรือสถานที่อื่นใดที่เหมาะสมแก่เด็ก ซึ่งสถานสงเคราะห์จะเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับเด็กจริงๆ
การเตรียมความพร้อมของเด็กและเยาวชนเพื่อก้าวสู่สังคมใหม่?
การเตรียมความพร้อมของเด็กและเยาวชนเพื่อให้ออกไปสู่สังคมใหม่ที่เรียกว่า 'อุปถัมภ์' เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับเด็กในทุกมิตินั้น ดย. จึงจับมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะสำคัญในการดำรงชีวิตในรูปแบบต่างๆ แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อถ่ายทอดให้กับเด็กอีกต่อหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของนันทนาการ วิชาการ ทักษะอื่นๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กเหล่านี้ออกไปสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ
"สิ่งที่กรมกิจการเด็กและเยาวชนอยากเห็นมากที่สุดคือ เมื่อเด็กออกไปสู่โลกภายนอกหรือสู่สังคมใหม่แล้ว เด็กเหล่านั้นสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่เขาเจอได้เป็นอย่างดี ตลอดจนพวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมใหม่ได้อย่างปกติสุข โดยไร้ซึ่งความกังวลที่เคยมี และสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวของเขาเอง"
นโยบายการพัฒนาบ้านพักเด็กฯ ในอนาคต?
ในส่วนการพัฒนาบ้านพักเด็กฯ หรือสถานสงเคราะห์ประเภทอื่นๆ ขณะนี้ ดย. กำลังดำเนินการเชิงรุกร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พัฒนาหลักสูตร ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ด้านจิตวิทยา เพื่อตรวจสอบสุขภาพด้านจิตวิทยาแก่เด็กและเยาวชนในปกครองของ ดย. และจัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาทักษะให้แก่กลุ่ม พี่เลี้ยงเด็กเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลเด็ก ตลอดจนการดำเนินโครงการ 'เพชรน้ำหนึ่ง' ที่ดำเนินการในบ้านพักเด็กฯ และสถานสงเคราะห์หลายแห่ง เพื่อมุ่งหวังให้เป็นเวทีที่ให้เด็กและเยาวชนได้โชว์ความสามารถและทักษะ ความรู้ ความถนัดของเด็กแต่ละคน
อาทิ สถานสงเคราะห์เยาวชนมูลนิธิมหาราช เป็นศูนย์กลาง ของกีฬาฟุตบอลชาย จะมีโค้ชหรือมีวิทยากรมาฝึกสอน ให้ความรู้ในเรื่องของกีฬาฟุตบอลให้แก่เด็กๆ จนสามารถที่จะไปแข่งขันในระดับที่สูงกว่าได้, สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถีจะเป็นศูนย์กลาง ของฟุตบอลหญิง, สถานสงเคราะห์เด็กหญิงสระบุรี เป็นศูนย์กลางเรื่องของการแข่งขันจักรยาน BMX จนได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นต้น
"นอกจากนี้ยังพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อบันทึกข้อมูลขอเด็กแต่ละคน ทำเป็นแผนการพัฒนารายบุคคลว่าเด็กแต่ละคนที่ผ่านมาได้รับการช่วยเหลือพัฒนาฟื้นฟูในด้านใด และในลำดับต่อไปเด็กแต่ละคนจะมีแนวทางในการพัฒนาเด็กคนนั้นแต่ละคนเป็นแบบใดในอนาคต ฉะนั้นระบบเหล่านี้เราได้นำมาใช้ในกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้อย่างมากเลยทีเดียว"
หากประชาชนประสบปัญหาทางสังคม สามารถติดต่อได้ที่ บ้านพักเด็กและครอบครัว ปัจจุบันครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ หรือโทร. 1300 ตลอด 24 ชม. ทั้งนี้ ยังมีระบบแอปพลิเคชัน 'คุ้มครองเด็ก' เพื่อติดต่อขอความช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง
"กรมกิจการเด็กและเยาวชนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตจำนวนของเด็กในสถานแรกรับจะสามารถลดจำนวนลงได้ เด็กและเยาวชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ปกติสุข หากเราสามารถแก้ไขปัญหาได้ตั้งแต่ต้นน้ำซึ่งก็คือ ครอบครัว"