บ้านผึ้งโมเดล ตำบลขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลอุบัติเหตุ
เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก งานลงพื้นที่ พื้นที่ต้นแบบการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน จังหวัดนครพนม ที่ สภ.จังหวัดนครพนม และ อบต.บ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม
ภาพโดย ชยวีร์ ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
การเกิดอุบัติเหตุเพียง 1 ครั้ง นำมาซึ่งการสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ อุบัติเหตุทางถนนจะเป็นศูนย์ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากคนในชุมชน เพราะอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะในเขตชุมชนยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะในช่วงเทศกาลหยุดยาว อย่างเทศกาลปีใหม่ หรือสงกรานต์เท่านั้น แม้แต่ในช่วงเวลาปกติ อุบัติเหตุทางถนน ก็ยังคงครองตำแหน่งการเป็นสาเหตุหลักที่สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศอยู่เสมอ
การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจึงถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมต้องร่วมมือกัน อย่างเช่น ที่ตำบลบ้านผึ้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม พื้นที่ต้นแบบ “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ที่มีผลงานการดำเนินงานการป้องกันและลดอุบัติเหตุในพื้นที่ชุมชนได้สำเร็จในระดับที่น่าพอใจ โดยมีพี่เลี้ยงอย่าง สอจร. จังหวัดนครพนม ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งการดำเนินงานของตำบลบ้านผึ้งนั้น มีกิจกรรมที่หลากหลายและครอบคลุม จนนำไปสู่การเป็นต้นแบบ “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ของจังหวัดนครพนม
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวถึงการลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานตำบลขับขี่ปลอดภัย อบต. บ้านผึ้ง จังหวัดนครพนม ว่า “การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ตำบลบ้านผึ้ง จังหวัดนครพนมนั้น ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบของตำบลขับขี่ปลอดภัยที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เป็นต้นแบบการทำงานด้านการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนให้กับหลาย ๆ พื้นที่ได้เป็นอย่างดี
“สสส. ได้เข้าไปหนุนเสริมความรู้ ผ่าน สอจร. ภาคอีสานตอนบนและกองร้อยน้ำหวานในชุมชน พัฒนาศักยภาพแกนนำ จัดการเครื่องมือกลไก จัดทำแผนความปลอดภัยในระดับตำบล แก้ไขจุดเสี่ยง รณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนในการปรับพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่ถูกต้องและปลอดภัย ภายใต้การทำงานของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) ร่วมกันดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการในระดับตำบล รวมถึงการประเมินผลการดำเนินงานของแผน ซึ่งพบว่า ช่วยป้องกันและลดการบาดเจ็บรุนแรง รวมทั้งการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ชุมชนได้จริง” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นายสมบูรณ์ นาคะอินทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้ง กล่าวถึงการดำเนินงานตำบลขับขี่ปลอดภัย ของ อบต. บ้านผึ้ง ว่า ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตำบลบ้านผึ้ง มีบทบาทหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาภัยให้กับประชาชนในลำดับแรก จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนและจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) ทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ โดยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด รวมทั้งดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยให้ความสำคัญในการสร้างจิตสำนึกและความตระหนักด้านความปลอดภัยทางถนนให้แก่ประชาชน
"การบริการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของพื้นที่ อบต. บ้านผึ้งจะใช้กระบวนการ “1669 Model” โดยมี อปพร. กองร้อยน้ำหวาน อสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกับชุมชน สามารถลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ตำบลบ้านผึ้งลงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงได้บรรจุงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ขับเคลื่อนให้เป็นตำบลขับขี่ปลอดภัย ลงในแผนพัฒนาท้องถิ่นของ อบต. บ้านผึ้งอีกด้วย” นายก อบต. บ้านผึ้ง กล่าว
ไม่เพียงแค่การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) เท่านั้น ตำบลบ้านผึ้ง จ.นครพนม ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่งเสริมและขับเคลื่อนให้เกิดตำบลขับขี่ปลอดภัยอีกมากมาย อาทิ
1. การรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยและป้ายเตือนขับขี่ปลอดภัยในพื้นที่ชุมชน
2. ขับเคลื่อนกิจกรรมผ่านเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ผ่านโครงการ “เด็กฟันน้ำนมหัวแข็ง” และโครงการ “สูงวัยขับขี่ปลอดภัย” ซึ่งบรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น
3. ขับเคลื่อนกิจกรรมผ่านสถานศึกษา ในโครงการ “โรงเรียนหัวแข็ง ขับขี่ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย สร้างวินัยจราจร”
4. กิจกรรม Big Cleaning Day ทำความสะอาดหมู่บ้าน ให้ประชาชนช่วยกันดูแล ปรับสภาพแวดล้อม ปรับสภาพเส้นทาง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่
5. ขับเคลื่อนให้เกิด “ธรรมนูญตำบล” สร้างกฎระเบียบการขับขี่ที่ปลอดภัยในชุมชน
6. กิจกรรมธนาคารหมวกบุญ
7. โครงการสวมหมวกนิรภัย 100% ทั่วทุกภาคส่วนราชการในตำบลบ้านผึ้ง
8. งานศพปลอดเหล้า งานเศร้าปลอดการพนัน
“1669 Model” สร้างตำบลขับขี่ปลอดภัย ของตำบลบ้านผึ้ง จังหวัดนครพนม มีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง มาดูกัน
1 นำ
ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) ตำบลบ้านผึ้ง เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยสร้างเครือข่าย ระบบ กลไก การบริหารจัดการ วางแผนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทุกมิติ
หลัก 6 P
P1 = Plan การวางแผนร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ตำบลบ้านผึ้ง ร่วมกันวางแผนปฏิบัติการ แผนงานโครงการ และงบประมาณในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
P2 = Public หน่วยงานที่ให้บริการสาธารณะในตำบลบ้านผึ้ง ต้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อนและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ อบต.บ้านผึ้ง ใช้กำลัง อปพร. กำนันผู้ใหญ่บ้าน ใช้ชุด ชรบ.หมู่บ้าน รพ.สต. ใช้กำลัง อสม. และสถานศึกษาจำนวน 9 แห่ง
P3 = People ประชาชนในตำบลบ้านผึ้งต้องปฏิบัติตามกฎจราจร และกฎหมู่บ้าน
P4 = Perception สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ให้กับคนในตำบลว่ากำลังทำอะไรอยู่ และต้องทำให้เขามีความรู้สึกตาม และตัดสินใจร่วมในสิ่งที่ทำ
P5 = Participation การมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงาน ประชาชน ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน แสดงความคิดเห็น หาวิธีการและแนวทางในการสร้างชุมชนให้ปลอดภัย
P6 = Partnership การเป็นหุ้นส่วน ต้องสร้างจิตสำนึกในการเป็นเจ้าของชุมชน โดยประชาชนและทุกส่วนราชการจะต้องรับรู้ เข้าใจ ในกฏกติกาของชุมชน และต้องร่วมรับผิดชอบในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
หลัก 6 E
E1 = Education จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้วินัยจราจรครอบคลุมทุกส่วน ในด้านการใช้รถใช้ถนนและกฎจราจร
E2 = Enforcement การบังคับใช้ “ธรรมนูญตำบล” ประชาชนต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับด้านความปลอดภัยทางถนน
E3 = Environment ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้รถใช้ถนนได้อย่างปลอดภัย
E4 = Engineering การควบคุมและจัดการด้านความพร้อมของยานพาหนะให้มีความปลอดภัยในการขับขี่
E5 = Empowerment การเสริมพลังให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยให้ กู้ชีพ อปพร. อสจร. ตชต. ชรบ. สถานศึกษา ร่วมรณรงค์ในช่วงเทศกาล
E6 = Evaluation มีการประเมินผล โดยมีคณะกรรมการและหน่วยงานภาครัฐจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ร่วมตรวจประเมินผลการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนระดับท้องถิ่น (ศปถ.อปท.)
9 หนุน
หนุนที่ 1 = ศูนย์กู้ชีพกู้ภัย อบต.บ้านผึ้ง เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการเข้าให้ความช่วยเหลือ ซึ่งผ่านการฝึกอบรม มีความชำนาญ และมีรถกู้ชีพกู้ภัย มีเครื่องมือพร้อมที่ได้มาตรฐาน
หนุนที่ 2 = อปพร. ตำบลบ้านผึ้ง เป็นหน่วยจัดตั้งจุดอำนวยความสะดวกทางถนนในช่วงเทศกาล และเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนน ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน
หนุนที่ 3 = กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน เป็นหน่วยในการขับเคลื่อนกิจกรรมด่านชุมชน ในช่วงเทศกาลงานบุญประเพณี เป็นหน่วยที่บังคับใช้กฎชุมชน
หนุนที่ 4 = โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 3 แห่ง เป็นหน่วยอบรมให้ความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และมีอสม. เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เป็นหน่วยประชาสัมพันธ์ทางด้านความปลอดภัยทางถนน โดยใช้ อสม. เป็นฐาน
หนุนที่ 5 = สถานศึกษา 9 แห่ง อบรมให้ความรู้และขับเคลื่อนกิจกรรมความปลอดภัยทางถนนในสถานศึกษาให้กับนักเรียน เพื่อปลูกฝังวินัยจราจรให้เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก
หนุนที่ 6 = สภ.เมืองนครพนม อสจร. ตชต. เป็นหน่วยอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ดูแลความปลอดภัยทางถนน กวดขันวินัยจราจร เป็นหน่วยที่บังคับใช้กฎหมายในการขับขี่ยานพาหนะของประชาชน
หนุนที่ 7 = บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด สาขานครพนม เป็นหน่วยขับเคลื่อนกิจกรรม พรบ. 100% ให้ความรู้และบริการเชิงรุกในการส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันภัยภาคบังคับ
หนุนที่ 8 = สมาคมกู้ภัยศรีสัตตนครพนม เป็นหน่วยที่เข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุและขับเคลื่อนกิจกรรม “ไฟชีวิต” ซ่อมแซม เปลี่ยนหลอดไฟรถจักรยานยนต์ให้กับประชาชนฟรี ร่วมดูแลติดตามผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนหลังรับการรักษาพยาบาลในโครงการ “ผลัดใบบุญ”
หนุนที่ 9 = ทางหลวงนครพนม เป็นหน่วยที่ดูแลสภาพแวดล้อมของถนนให้มีความเหมาะสม และปลอดภัยต่อการขับขี่ตามหลักวิศวกรรม แก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงในพื้นที่ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผึ้งและคณะทำงาน
การดำเนินงานของตำบลบ้านผึ้ง จ.นครพนม ทำให้เห็นว่าการลดอัตราการบาดเจ็บและจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนโดยเฉพาะเขตในชุมชนนั้น จะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ซึ่งเปรียบเสมือนกุญแจสำคัญที่จะไขประตูนำไปสู่การสร้างค่านิยมการ “ขับขี่ปลอดภัย” ให้เกิดขึ้นได้ด้วยพลังของคนในชุมชน เพื่อชุมชนอย่างแท้จริง
การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ยังคงเป็นภารกิจสำคัญที่ สสส. และภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนและทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักในการขับขี่ปลอดภัย ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้รถ ใช้ถนนอย่างถูกต้อง เคารพกฎจราจร สวมหมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย ลดความเร็ว ดื่มไม่ขับ รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เพื่อลดความสูญเสีย และสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน