“บ้านปู่ทวดครูสิงห์” พื้นที่ดีๆ หลังเลิกเรียน

สร้างเสริมการเรียนรู้แบบทางเลือกเพื่อเยาวชนภาคอีสาน

         

          สถานการณ์เด็กและเยาวชนของสังคมไทยในรอบปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็น ปัญหาที่ทำให้เยาวชนต้องอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงมากมายรอบตัว ล้วนเกิดขึ้นมาจากสถาบันครอบครัวที่อ่อนแอ สื่อลามก พื้นที่ๆไม่สร้างสรรค์ และระบบการศึกษาที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก

 

“บ้านปู่ทวดครูสิงห์” พื้นที่ดีๆ หลังเลิกเรียน 

 

          สถาบันรามจิตติ และมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกันจัดทำ โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด child watch ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นมาเพื่อเฝ้าระวัง ศึกษาข้อมูลและปัญหาของเยาวชนในด้านการศึกษา สุขภาพ และปัญหาด้านสังคม พร้อมทั้งแสวงหาแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างสังคมที่ดีสำหรับเด็กและเยาวชน

 

          โดยเฉพาะปัญหาของเยาวชนไทยในภาคอีสานที่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน แต่ในด้านที่ส่งผลกระทบและมาแรงที่สุดในปีนี้ก็คือเรื่องของ สื่อสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต หรือสื่อรูปแบบใหม่ๆบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนหมดเวลาและเงินจำนวนมากไปกับสื่อเหล่านี้ นับเป็นปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นโดยมีแนวโน้มของการใช้ที่สูงมากขึ้นโดยสัมพันธ์กับเวลาที่ใช้

 

          ดร.สมบัติ ฤทธิเดช หัวหน้าโครงการ child watch ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เปรียบเหมือนดาบสองคม หากเด็กใช้ในเรื่องของการเรียนรู้เพิ่มเสริมพลัง ก็จะได้ความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติมมีหูตากว้างไกล แต่ถ้าใช้ในทางที่ผิดเช่นในร้านเกมส์เด็กก็จะไปหมกมุ่นอยู่กับเกมส์ทั้งบนโทรศัพท์มือถือและ อินเทอร์เน็ต ซึ่งต้องจ่ายทั้งเงินและใช้เวลาหมดไปกับกิจกรรมต่างๆ ผ่านสื่อเหล่านั้น และยังพบว่าสื่อเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับการส่ง sms ดูคลิปโป๊ ดูสื่อลามก ฯลฯ เป็นผลที่กระทบกับเด็กที่มาแรงที่สุดในปีนี้

 

          ปัญหาเรื่องของความรุนแรงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นจากพฤติกรรมการลอกเลียบแบบจากสื่อต่างๆ รวมไปถึงปัญหาแม่วัยเรียน และการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่ยังมีอยู่ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือทัศนคติทางสังคมที่พบว่า เด็กและเยาวชนจำนวนมากยอมรับได้ว่าประเทศไทยมีการทุจริตคดโกงกันจนเป็นเรื่องปกติซึ่งเป็นที่น่าสังเกตและน่าคิดว่าถ้าเขามีแนวคิดและความเชื่ออย่างนี้ในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่สังคมน่าจะต้องร่วมกันคิดหาทางที่จะเยียวยา เพราะต่อไปเราไม่ได้มีประชากร 64 ล้านคนเหมือนเดิมแล้ว แต่เรามีอาเซียน บวก 3 บวก 6 ก็จะกลายเป็น 400-500 ล้านคน ถ้าความเชื่อของคนไทยเรายังเป็นแบบนี้ โอกาสที่เราจะสู้หรืออยู่ในสังคมอย่างทัดเทียมกับเขาก็คงจะลำบากดร.สมบัติกล่าว

 

          โครงการบ้านหลังเรียน แหล่งเรียนรู้ชุมชนบ้านหลังเรียนปู่ทวดครูสิงห์บ้านกุดแคน ต.หนองโน อ.เมือง จ.มหาสารคาม จึงเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นมาภายใต้การดำเนินงานของ child watch ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสานต่ออุดมการณ์ของ ปู่ทวดครูสิงห์ ฤทธิเดชอดีตครูประชาบาลที่มีความต้องการสร้างโรงเรียนให้ชุมชน และเพื่อแก้ปัญหาเยาวชนใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนไปทำกิจกรรมเสี่ยง ด้วยการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อกันเด็กและเยาวชนไม่ให้หลงทางเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เสี่ยงในสังคม ให้หันมาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ภายใต้แนวคิดเด็กนำผู้ใหญ่หนุน

 

 “บ้านปู่ทวดครูสิงห์” พื้นที่ดีๆ หลังเลิกเรียน

 

            ดร.ประสพสุข ฤทธิเดช หรือ อาจารย์ป้าต๋อยผู้อำนวยการและผู้ประสานงานแหล่งเรียนรู้ชุมชนฯ เล่าถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในบ้านหลังเรียนแห่งนี้ว่าจะมีเด็กๆ ในชุมชนมาทำกิจกรรมหลายอย่างตามความสนใจและความถนัด ทั้งกิจกรรมเสริมทักษะการเรียนรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เป็นหลักสูตรทางเลือกโดยจะมีครูจิตอาสาที่เป็นนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก มาช่วยเติมเต็มความรู้ส่วนนี้ให้กับเด็กๆ และกิจกรรมตามอัธยาศัยเช่นการเล่นดนตรีพื้นเมืองเรียกว่าวงดนตรีโปงลางประยุกต์ ก็จะมีครูจิตอาสาในชุมชนที่เป็นครูภูมิปัญญาพื้นบ้านมาช่วยดูแล กลุ่มกิจกรรมปั้นดินน้ำมันมีผู้ปกครองจิตอาสามาเป็นพี่เลี้ยง กลุ่มปลูกพืชผักสวนครัวใครชอบก็ไปทำได้ในสวนหลังบ้าน หรือการอ่านหนังสือค้นหาข้อมูล ทำการบ้านตามมุมต่างๆ การเล่นม้าโยก เล่นไกวเปล ฯลฯ

 

           ผลลัพธ์ที่เราพบก็คือเด็กมีความรักสามัคคีกันมากขึ้น ทุกคนมีความรู้สึกเหมือนเป็นพี่เป็นน้องกัน ที่สำคัญยังลดภาวะเสี่ยงในเรื่องของเด็กติดสื่อ ติดเกมส์ เพราะใช้เวลาไปกับกิจกรรมสร้างสรรค์ตรงนี้ร่วมกัน แต่ก็มีข้อจำกัดคือผู้ปกครองที่เป็นชาวไร่ชาวนาในช่วงนี้ส่วนมากเด็กก็จะไปช่วยพ่อแม่เกี่ยวข้าว แต่อีกกลุ่มหนึ่งก็จะมาทำการบ้านหรือเอาน้องเล็กๆ มาเล่นอยู่ที่นี่ สถานที่แห่งนี้จึงเหมือนกับเป็นพื้นที่ปลอดภัยของชุมชน เป็นสวนสนุกของชุมชน เป็นสวนสนุกของเด็กๆ ที่จะได้ทั้งความรู้ความบันเทิง ได้ทำกิจกรรมหลากหลายเป็นกิจกรรมที่เสริมสติปัญญา เสริมสุขภาวะทั้งทางด้านสังคมและจิตใจอาจารย์ป้าต๋อยระบุ

 

          ด.ญ.ฉัตรชบา รังวัดสา หรือ น้องน้ำนักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนสารคามวิทยาคม ผู้นำกลุ่มเด็กและเยาวชนฯ เล่าว่าทุกวันหลักเลิกเรียนจะมาที่บ้านปู่ทวดครูสิงห์ โดยจะพาเพื่อนๆ ทำกิจกรรมต่างๆ เช่นการวาดภาพ ฝึกมารยาทไทย หรือการดูแลพืชผักสวนครัวหลังบ้าน

 

          วันธรรมดาจะกลับจากที่โรงเรียนก็จะมาทำกิจกรรมต่างๆ ประมาณ 30 นาทีก่อนกลับบ้าน ถ้าหากมีการบ้านก็จะนำมานั่งทำที่นี่เลย ส่วนวันเสาร์หรืออาทิตย์ก็จะมาตั้งแต่ 8 โมงเช้า เพราะจะมีการสอนวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ไม่ต้องไปเรียนพิเศษในเมืองก็มีความรู้เพิ่มขึ้นได้ ได้ความรู้เหมือนกันโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากมีปัญหาก็สามารถปรึกษาคุณครูได้ตลอดเวลาน้องน้ำกล่าว

 

          ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้จัดการสถาบันรามจิตติ และหัวหน้าโครงการ child watch เผยว่าโครงการบ้านหลังเรียนเกิดขึ้นมาจากงานวิจัยที่พบว่าเด็กมีเวลาเสี่ยงหลังเลิกเรียนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่ามีเด็กประมาณร้อยละ 10-15 ที่หลังเลิกเรียนแล้วกลับบ้านอยู่คนเดียวเป็นประจำ ในบางพื้นที่ๆ เป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่พ่อแม่ต้องไปทำงานในนิคมฯ ตัวเลขนี้ก็จะยิ่งสูงถึงร้อยละ 20

 

           การที่เด็กกลับบ้านแล้วไม่มีใครอยู่ด้วย หรือต้องอยู่คนเดียวเป็นประจำก็ทำให้เด็กใช้เวลาหลังเลิกเรียนเป็นเวลาเสี่ยง บางคนก็ไปอยู่ร้านเกมส์ บางคนก็ไปมีพฤติกรรมเสี่ยงเช่นการแข่งรถมอเตอร์ไซค์เพราะฉะนั้นบ้านหลังเรียนจึงเป็นประโยชน์กับเด็กโดยตรง โดยสามารถตอบโจทย์ของปัญหาเด็กในสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี ที่มีเวลาเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยงมากขึ้น เราก็ทำให้เกิดเวลาที่ดี พื้นที่ดีๆ เพิ่มขึ้นแทนที่ บ้านหลังเรียนจึงเข้ามาแก้ปัญหาให้เด็กได้มีทางเลือกมากขึ้นและมีพื้นที่มาทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้สิ่งดีๆหลังเลิกเรียนหัวหน้าโครงการ child watch กล่าวสรุป

 

 

 

 

 

 

ที่มา: สถาบันรามจิตติ

 

 

 

update: 19-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย

Shares:
QR Code :
QR Code