บ้านปูบ้านปลา “พึ่งพา พึ่งกัน” ที่บ้านหน้าทับ
สสส. สำนัก 6 หนุนโครงการบ้านปลาบ้านปูฟื้นฟูป่าชายเลนลดหนี้นอกระบบ ของบ้านหน้าทับ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ที่แก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ แล้วทำให้สุขภาพชุมชนดีขึ้น เป็นบ้านที่น่าอยู่ มีที่ยืน
โครงการบ้านปลาบ้านปู ฟื้นฟูป่าชายเลน ลดหนี้นอกระบบ ของบ้านหน้าทับ ม. 7 ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เกิดขื้นด้วยพลังความร่วมมือจากผู้นำกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มประมงชายฝั่งบ้านหน้าทับ, กลุ่มมุสลีมะฮ์แม่บ้านหน้าทับ, กลุ่มเครื่องแกงบ้านแหลมโฮมสเตย์, กลุ่มแกนนำศาสนาประจำมัสยิดฯบ้านหน้าทับ, กลุ่มเยาวชนฯ บ้านหน้าทับ, กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านหน้าทับ และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านหน้าทับ ซึ่งมีนายสุธรรม โต๊ะหมาด ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 บ้านหน้าทับ ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เป็นผู้ดูแลโครงการ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 6
ทักษิณ หมินหมัน ชาวบ้านที่เติบโตมากับการขายกาแฟให้กับชาวประมง เปิดเผยว่า อาชีพตนคือขายกาแฟและน้ำชาให้ชาวประมง เราเติบโตมาด้วยกัน เห็นความทุกข์ชองชาวประมง ว่าหาปูปลายากขึ้นทุกวัน ชาวประมงต้องออกไปหาไกลมากขึ้น เมื่อเขาหาปลายาก ตนก็ขายของยากไปด้วย จึงมานั่งคิดร่วมกัน ว่าต้องแก้ไข เพราะชาวบ้านเริ่มย้ายถิ่น นักเรียนไม่ได้เรียน ต้องออกมาทำงานช่วยพ่อแม่ จึงต้องช่วยกัน ขณะที่เขามากินน้ำชา เราก็ชวนคุย ว่าเรามาจัดพื้นที่ในทะเลซัก 4-5 ไร่ แล้วมาทำบ้านให้ปู ทำที่อยู่ให้ปลา จากวันนั้นสู่วันนี้ ได้กลายเป็นที่รวมใจด้วยหลัก "พึ่งพา พึ่งกัน"
สำหรับบทบาทสำคัญชองกลุ่มต่างๆ นอกจากจะแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบแล้ว ต้องทำให้สุขภาพชุมชนดีขึ้นอย่างเป็นระบบด้วย เช่น กลุ่มประมงชายฝั่งบ้านหน้าทับ ต้องคอยตรวจระแวดระวังดูแลการใช้เครื่องมือของเรือประมงชายฝั่ง การจับปลาโดยไม่ใช้ยา, กลุ่มแม่บ้าน ซึ่งเรียกว่ากลุ่มมุสลีมะฮ์ แม่บ้านของบ้านหน้าทับ จะเตรียมการจัดทำอาหารต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือน, กลุ่มผลิตเครื่องแกงบ้านแหลมโฮมสเตย์ จัดการเรื่องการต้อนรับการทำอาหาร, กลุ่มแกนนำศาสนาประจำมัสยิดบ้านหน้าทับ มีบทบาทสร้างความเข้าใจและการพัฒนาชีวิต, กลุ่มเยาวชนบ้านหน้าทับ จัดการเรื่องความสะอาดและรณรงค์เก็บขยะทุกเสาร์-อาทิตย์, กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านหน้าทับดูแลการจัดการพื้นที่ป่าชายเลนให้มีความสมบูรณ์ และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านหน้าทับมีบทบาทคอยดูแลภาพรวมทั้งพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งวันนี้ได้มีการร่วมบริจาค ปูไข่ จำนวน 45 ตัว เป็นไข่ปูประมาณ 2,700,000 ฟอง และเพิ่มพันธ์หอยแครงตามธรรมชาติ ประมาณ 3,000,000 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ จากเรื่องเล็กๆ ที่เริ่มจากความสัมพันธ์ในชุมชนกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ต่อการจัดการชีวิตของชุมชนบ้านนาทับ เมื่อการจัดการคุณภาพชีวิตของชุมชน มีความมั่นคงทั้งอาชีพ อาหารการกิน สุขภาพย่อมดี ไม่ใช่แค่ทางกาย ความสุขทางใจคือตัวชี้วัดอย่างยั่งยืน เพราะเด็กในชุมชนก็ไม่ต้องไปทำงานนอกหมู่บ้าน เพื่อนๆชาวประมงก็ไม่ต้องไปหาปูปลาไกลบ้าน ที่นี่จะเป็นแหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบรูณ์จากการทำบ้านปูบ้านปลา ซึ่งพบว่ามีสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คิดไว้ ปูไข่เพิ่มมากขึ้นจากการจัดทำพื้นที่อนุบาลปู และหอยจุ๊บแจงจากที่มีเคยหายไปจากพื้นที่ แต่วันนี้สามารถหาได้ฟื้นคืกลับมาเพิ่มขึ้นซึ่งหาได้ 30-50 กิโลกรัมต่อคนรวมทั้งปูเปี้ยวมากขึ้น จับได้ประมาณวันละ 100 กิโลกรัมต่อคน“
กำไล สมรักษ์ พี่เลี้ยงโครงการนี้ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่ชุมชนและผู้นำชุมชนร่วมคิดร่วมทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ ปี 2555 ใช้หลักคิดที่ชัดเห็นการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการพึ่งตนเองให้พื้นที่อื่นมาเรียนรู้ เมื่อธรรมชาติกลับมาสมบูรณ์ ความสุขกลับสู่ชุมชน ชาวบ้านกลับมาร่วมมือกันมากขึ้นทำให้วันนี้พื้นที่บ้านหน้าทับ อ.ท่าศาลา เป็นแหล่งเรียนรู้บ้านปลาบ้านปู มีการบริการนำเที่ยวโดยกลุ่มชาวประมง เพื่อไปชมการอนุรักษ์ เกิดการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและโรงเรียนร่วมกิจกรรมอนุรักษ์ป่าชายเลน และเกิดการจัดตั้งองค์กรร่วมกันสร้าง ศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเลและป่าชายเลนอ่าวทองคำ บ้านหน้าทับ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โครงการบ้านปลาบ้านปู ฟื้นฟูป่าชายเลน ลดหนี้นอกระบบ บ้านหน้าทับ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ทำให้เห็นภาพแห่งอนาคตว่า การทำให้ชุมชนเข้มแข็ง คือการทำให้คนทั้งหมู่บ้านทั่วทุกชุมชน มองเห็นความสำเร็จจากมันสมองและวิธีคิดที่มาจากพรแสวง ทำให้มองเห็นภาพชุมชนแห่งความสุขอีกครั้ง ด้วยชีวิตที่ดีขึ้น ลูกหลานไม่ต้องมาลำบากในเมืองจากต้นทุนชีวิตที่สูงขึ้น ชุมชนน่าอยู่ บ้านหน้าทับมีที่ยืน
ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์