‘บ้านนี้มีสุข’กำลัง 2

กับบทบาทใหม่ของมหาวิทยาลัย ที่นอกจากจะทำหน้าที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ต่างๆ ให้กับนักศึกษาที่จะเติบโตออกสู่ตลาดแรงงานแล้ว ยังจะต้องเป็นตัวอย่างในการดูแลสังคมทั้งภายใน และสังคมภายนอกให้มีความสุข มีสุขภาวะที่ดี หรือที่เราเรียกว่า usr (university social responsibility) อีกด้วย

'บ้านนี้มีสุข'กำลัง 2ในช่วงสองสามปีมานี้ ประเด็นสร้างสรรค์หนึ่งของสังคมที่กำลังเริ่มก่อตัวและกำลังมีการขับเคลื่อนกันอย่างจริงจังก็คือ การทบทวนภารกิจของมหาวิทยาลัย ซึ่งท่ามกลางสังคมและสิ่งแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ณ วันนี้ การทำหน้าที่เพียงเป็นส่วนสำคัญในการประสาทวิชา ให้ความรู้ต่างๆ กับนักศึกษาที่จะเติบโตออกสู่ตลาดแรงงานนั้น ไม่เพียงพอเสียแล้ว แต่มหาวิทยาลัยจะต้องใช้องค์ความรู้ บุคลากร ที่มีอยู่มากมายในมหาวิทยาลัย ในการนำสังคมให้มีคุณภาพ

นอกจากภารกิจหลักในการปั้นคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ที่จะต้องปั้นคนให้มีทั้งความเก่ง ความดี มีจิตสาธารณะแล้ว มหาวิทยาลัยยังจะต้องเป็นตัวอย่างในการดูแลสังคมทั้งภายใน และสังคมภายนอกให้มีความสุข มีสุขภาวะที่ดี รวมถึงเป็นผู้นำในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อลดผลกระทบในทางลบของสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและดังที่เราได้ยินเรียกกันว่า usr (university social responsibility)

ควบคู่กับดูแลสังคมในวงกว้าง หัวใจสำคัญของการนำองค์กร หรือมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับด้านความรับผิดชอบต่อสังคมก็คือ การส่งเสริมการปฏิบัติภายใน คือ บุคลากร สภาพแวดล้อม และกระบวนการดำเนินงานภายใน จะต้องได้รับการดูแลให้ดี มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมเป็นลำดับแรกก่อน

อีกหนึ่งในความพยายามของมหาวิทยาลัยที่น่าสนใจ คือการจัดประชุมหัวข้อ “มหาวิทยาลัยกับความรับผิดชอบต่อสังคม” usr&s core group ครั้งที่ 2 ที่สถาบันคลังสมองจัดขึ้น และที่น่าชื่นชมมากๆ คือ โครงการสร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีชื่อง่ายๆ แต่มีความหมายว่า “บ้านนี้มีสุข กำลัง 2″

รศ.นพ.ดร.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์สำหรับที่มาของโครงการ ได้รับคำอธิบายจาก รศ.นพ.ดร.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ผู้ช่วยอธิการบดี ว่าภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งให้มหาวิทยาลัยเป็นเสาหลักของแผ่นดิน และความมุ่งมั่น ที่ต้องการให้จุฬาฯ เป็นบ้านที่อบอุ่นสำหรับคนดีและคนเก่ง ทางมหาวิทยาลัยจึงเห็นความสำคัญในการดูแลบุคลากร นิสิต และผู้ที่อยู่อาศัย ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องโดยรอบมหาวิทยาลัยให้มีสุขภาวะที่ดี  โดยมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากมาย ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยทุกกิจกรรมเน้นให้ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย คณาจารย์ นิสิต และชุมชน เข้ามีส่วนร่วม

กิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากๆ จาก บุคลากร  ตลอดจนชุมชน ร้านค้า แม่ค้าที่อยู่โดยรอบก็คือ  กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพต่างๆ  เช่น โครงการชุมชนสุขภาพ 5 ส ที่ทางหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ได้จัดทีมเข้าไปจัดกิจกรรม ตรวจสุขภาพ และรณรงค์ ให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนในชุมชน (ผู้เช่า/ผู้มาใช้บริการ/ผู้อยู่อาศัย) ในสยามสแควร์ สวนหลวง สามย่าน สีลม สวนลุมพินี ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวไม่เพียงทำให้ประชาชนตื่นตัวด้านสุขภาพมากขึ้น แต่ยังทำให้ความสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยกับชุมชน ที่เคยมีปัญหาร้องเรียนระหว่างกันบ้าง ดีขึ้นด้วย

'บ้านนี้มีสุข'กำลัง 2

ส่วนกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้นิสิต และบุคลากร ที่น่าสนใจและอยากพูดถึงก็คือ กิจกรรม “จุฬาสง่างาม” ที่เปลี่ยนมาเป็น i food ตามความเห็นของนิสิต ที่เริ่มต้นจากความตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ อันเนื่องมาจากการบริโภค เช่น นิยมน้ำอัดลม fast food ต่างๆ ที่ทำให้คนจำนวนมากเจ็บป่วย น้ำหนักเกิน อ้วน ลงพุง จึงมีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยหันมาเอาใจใส่ดูแลสุขภาพ  โดยให้ความสำคัญต่อการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ มีสารอาหารครบ ลดการกินอาหารที่ไม่เป็นผลดี มีการออกกำลังกาย ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโรงอาหารให้มีความสะอาดปลอดภัย

ภายใต้โครงการยังมีการริเริ่มจัด workshop งานศิลปะ เช่น สอนวาดรูป จัดดอกไม้ ถ่ายภาพ การละคร มีการจัดคลินิกแนะนำสุขภาพ ตลาดนัดผักและผลไม้ รวมถึงจัดโครงการร้านอาหารสุขภาพในมหาวิทยาลัย รวมถึงมีการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของนิสิต ให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาสุขภาวะนิสิต บริการให้การปรึกษาและพัฒนานิสิต ให้มีคุณสมบัติอันพึงประสงค์ของสังคม อีกด้วย

'บ้านนี้มีสุข'กำลัง 2  'บ้านนี้มีสุข'กำลัง 2

ขณะที่ในด้านการลดผลกระทบในทางลบ นอกจากมีการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และเสพยาเสพติด อย่างจริงจังแล้ว ยังมีการประกาศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการลดการใช้พลังงานในอาคารต่างๆ ทั้งหมดนี้คือบางส่วนของกิจกรรมในโครงการ บ้านนี้มีสุข ยกกำลังสอง ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในปีนี้จะมีการขยายผลทำอย่างต่อเนื่อง สำหรับหน่วยงานที่สนใจที่จะสร้าง บ้านนี้มีสุข ลองแวะเข้าไปแลกเปลี่ยนความรู้และความเห็น หรือชมคลิปแอนนิเมชันเทคนิคสร้างสุขภาวะที่ดีที่ และสุขภาพที่แข็งแรงกันที่ www.facebook.com/hpuchula  

“หัวใจสำคัญของการนำมหาวิทยาลัยไปสู่การยอมรับคือ การส่งเสริมการปฏิบัติการภายในให้ดีก่อน”

เรื่อง: พิมพร ศิริวรรณ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code