‘บ้านนาหลวง’ ลดขยะ-จัดการสิ่งแวดล้อม

ที่มา : แฟนเพจสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม


ภาพประกอบจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม


'บ้านนาหลวง' ลดขยะ-จัดการสิ่งแวดล้อม thaihealth


“ชาวบ้านนาหลวง” ร่วมกันลดขยะ หวังจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมชุมชน


หลากหลายกลยุทธที่นำมาใช้ ทำให้ปริมาณขยะในหมู่บ้านนาหลวงลดน้อยลง การเผาทำลาย การกำจัดอย่างใม่ถูกวิธีก็ลดลงเป็นเงาตามตัว สองข้างทางสะอาดสอ้าน หากสิ่งที่ยังต้องเฝ้าระวังคือขยะสารพิษ ประเภทบรรจุภัณฑ์สารเคมี ที่ยังใช้อย่างแพร่หลายในภาคเกษตร จำเป็นต้องให้ความรู้ และส่งเสริมให้มีการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ตลอดจนสมุนไพร่ไล่แมลงศัตรูพืชไว้ใช้เอง ชาวบ้านจะได้มีทางเลือก เพื่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม​ 


ตามไปดูกลวิธีการลดขยะจาก 2 แกนนำบ้านนาหลวงกัน…


จิรพงศ์ แก้วกุฬา ผู้ใหญ่บ้านนาหลวง หมู่ 4 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และหัวหน้าโครงการร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่หมู่บ้านนาหลวง กล่าวว่า ความพยายามของแกนนำ ที่เริ่มต้นจากคณะกรรมการหมู่บ้านแค่ 12 คน ภายหลังขยายไปสู่แกนนำกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มสตรีแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน อสม. ฯลฯ ได้ถึง 40 คน ส่งผลให้การคัดแยกขยะในครัวเรือนแพร่หลายขึ้นด้วย เดิมมีแค่ 12 ครัวเรือนของแกนนำที่ทำเป็นตัวอย่าง ตอนนี้สำรวจพบ 143 ครัวเรือน ที่แยกขยะเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล และขยะมีพิษ


'บ้านนาหลวง' ลดขยะ-จัดการสิ่งแวดล้อม thaihealth


เช่นเดียวกับร้านค้าในหมู่บ้าน ที่มีการตั้งถังขยะขนาดใหญ่อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ตอนนี้ทุกคนหันมาทิ้งในถังขยะ ทำให้ข้างทางสะอาดตา และในภาพรวมปริมาณขยะก็ลดลงจากเดิมหลายเท่าตัว เหลือจ้างรถขนทิ้งแค่เดือนละ 2 ครั้ง ในวันที่ 15 และ 30 ของเดือน ทำให้ต่อรองราคากับรถรับจ้างขอให้หยุดขึ้นราคาได้


ส่วน ณรงค์ศักดิ์ ศรีคำภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนบ้านนาหลวง และผู้รับผิดชอบโครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่หมู่บ้านนาหลวง อธิบายว่า ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านเป็นผู้สูงอายุ และเด็ก ส่วนวัยรุ่นและวัยทำงาน มักจะออกไปเรียนหรือทำงานนอกพื้นที่ จึงต้องวางแผนดึงเด็กและผู้สูงอายุเข้ามาเป็นกำลังสำคัญ เริ่มจากการรณรงค์คัดแยกขยะเป็น 4 ประเภท คือ ขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล และขยะมีพิษ แล้วขอความร่วมมือจากผู้สูงอายุ ในวันที่เดินทางมารับเบี้ยยังชีพจาก อบต. ให้หิ้วขยะรีไซเคิลจากบ้านมาด้วย เพื่อนำมาชั่งน้ำหนักแล้วเก็บรวมกันไว้ พอได้ปริมาณมากพอก็ขายหาเงินสร้างอาคารคัดแยกขยะ


ขณะเดียวกันยังอาศัยกิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรม จัดกิจกรรมผ้าป่าขยะ ช่วงเช้าให้แต่ละคุ้มจัดทำต้นผ้าป่าขยะ นำขยะมาตกแต่งต้นไม้ แล้วแห่จากหน้าวัดไปยังที่เก็บขยะ เสมือนครัวตานตามประเพณีล้านนา ที่จัดขึ้นในโอกาสที่หมู่บ้านมีงานเทศกาลสำคัญ เช่น งานตานสลากภัตร งานปอยหลวงฉลองโบสถ์ วิหาร ศาลา หรือถาวรวัตถุที่เป็นสาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้าน แต่สำหรับผ้าป่าขยะจัดขึ้นในโอกาสทำบุญสิ้นปี และเมื่อขายขยะแล้วก็นำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนรับซื้อขยะภายในหมู่บ้านต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code