“บ้านดอนแก้ว” ชุมชนลดเหล้าต้นแบบ
ชุมชนลดเหล้าต้นแบบ "บ้านดอนแก้ว" ชวนคนในพื้นที่ลงนามร่วมงดเหล้าถึง 600 คน มีทั้งงดเหล้าครบพรรษา งดดื่มเหล้าวันพระ งดเหล้าวันเสาร์ อาทิตย์
แฟ้มภาพ
สถิติการบริโภคน้ำเมา เช่นเหล้า ของพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนว่ากันว่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย แต่ชุมชนเล็กๆอย่าง "ชุมชนบ้านดอนแก้ว" ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จังหวัดลำปางกลับสามารถยืนหยัดต่อสู้กับค่านิยมและประเพณีต่างๆ ที่ผูกพันกับการดื่มเหล้ายาปลาปิ้งได้ผ่านประชามติของคนในชุมชน ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินการมาเกือบ 10 ปี จึงประสบความสำเร็จ "ชุมชนบ้านดอนแก้ว" จึงถูกเชิดชูว่าเป็นชุมชนลดเหล้าต้นแบบ" และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่พื้นที่อื่นๆ
ชุมชนบ้านดอนแก้วนั้นมีประชากรทั้งสิ้นราว 235 ครัวเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ล่าสุด เมื่อช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)สนับสนุนแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษา ชุมชนบ้านดอนแก้วก็มีคนในพื้นที่ลงนามร่วมงดเหล้าถึง 600 คน มีทั้งงดเหล้าครบพรรษา งดดื่มเหล้าวันพระ งดเหล้าวันเสาร์ อาทิตย์ เป็นต้น
เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดพิธีมอบใบประกาศเชิดชูแก่ตัวแทนชาวบ้านที่ลงนามปวารณางดเหล้างดบุหรี่ได้ครบพรรษา โดยมีนายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธาน
นายชัยรัตน์ ทองใบ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ร่องเคาะ บอกว่า ที่ผ่านมาคนในชุมชนบ้านดอนแก้วมีชีวิตผูกพันกับสุรามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานศพ ที่เจ้าภาพต้องจัดหาสุราอาหารมาเลี้ยงรับรองแขก หรือแม้แต่ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวที่ทุกคนจะแสดงน้ำใจมาช่วยเหลือบ้านที่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้ว ก็ยังต้องมีเหล้าเข้ามาเลี้ยงดูกัน โดยอ้างว่าแก้อาการปวดเอว ทั้งที่เหล้าไม่ได้ช่วยเรื่องนี้ได้เลย
"ประเด็นสำคัญคือ เมื่อดื่มสุราแล้วมักจะทำให้เกิดมีปากเสียงทะเลาะวิวาท เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จนนำมาซึ่งความเสียหายทั้งด้านทรัพย์สินและชีวิต เรื่องนี้จึงมีการพูดคุยในคณะกรรมการชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยอาศัยกระบวนการประชาธิปไตยสร้างประชามติผ่านวงประชาคมหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนเป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณะเรื่องงดเหล้า" นายชัยรัตน์ กล่าว
สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณะเรื่องลดเหล้าของชุมชนบ้านดอนแก้ว กำลังหลักสำคัญคนหนึ่งของพื้นที่นี้คือ พ่อหลวงพล ทารักษ์ ผู้ใหญ่บ้านดอนแก้ว ที่เล็งเห็นถึงปัญหาต่างๆที่ตามมาอันเป็นผลพวงมาจากพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
"ครั้งนั้นได้มีการหารือกับคนในชุมชน รวมถึงพระสงฆ์ ว่าจะดำเนินการเรื่องงานศพปลอดเหล้า เพราะทุกครั้งหลังพระสวดพระอภิธรรมเสร็จ ก็จะมีการเล่นไพ่ ดื่มเหล้ากันเสียงดัง ถึงตอนพระสวดก็ไม่ได้สนใจงาน ไม่สนใจพระสวด ซึ่งบางครั้งก็ก่อเหตุทะเลาะวิวาทขณะที่เจ้าภาพเองก็ต้องจัดหาสุราอาหารมาเลี้ยงรับรอง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ ก็เลยขอความร่วมมือเจ้าภาพงานศพไม่ให้จัดงานในลักษณะดังกล่าวที่ต้องมีสุราอาหารดิบมาเลี้ยง"
พ่อหลวงพล กล่าวว่า ช่วงแรกๆ จะเน้นการรณรงค์ก่อนว่าอย่าจัดงานเช่นนี้ ซึ่งก็มีคนฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง แต่พอคนในชุมชนบางส่วนเริ่มทำได้ เขาก็เห็นดีกับสิ่งที่เราทำ ก็ร่วมกันดำเนินการต่อมาจนกระทั่งปี 2553 ก็เริ่มดำเนินการผ่านมติของประชาคมหมู่บ้านโดยออกเป็นกฎระเบียบที่ทุกคนในชุมชนต้องปฏิบัติตาม เช่นมาตรการปรับเงินเจ้าภาพที่เลี้ยงเหล้าในงานศพ จำนวน 2,000 บาท
"งานศพเป็นงานที่มาแสดงความเสีย เป็นงานโศกเศร้า แต่การมากินเหล้าในงานเช่นนี้ผมว่ามันไม่เหมาะไม่ควร สงสารเจ้าภาพที่ต้องจัดงานแล้วยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นตรงนี้ด้วยนอกจากงานศพปลอดเหล้าแล้ว ในชุมชนยังดำเนินงานในเรื่องของงานบุญปลอดเหล้าด้วย เริ่มมีร้านค้าปลอดเหล้าของลุงแซวมีมาตรการปรับคนที่ดื่มสุราแล้วทะเลาะวิวาทในตำบล 5,000 บาทดื่มเหล้าในงานบุญปรับ 2,000 บาท เลิกดื่มสุราหลังการลงแขกเกี่ยวข้าว หันมาดื่มน้ำนมถั่วเหลืองแทน"
หลังจากดำเนินงานลดเหล้าในพื้นที่ พ่อหลวงพลบอกว่าอาชญากรรมต่างๆ ในพื้นที่ การเมาทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุต่างๆลดลงอย่างชัดเจน ถือเป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้นภายในชุมชน ที่สำคัญอีกประการคือการดึงคนในชุมชนเข้าหาธรรมะ โดยจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรทุกวันพระ เชิญชวนผู้ที่งดเหล้าไปทำบุญเพื่อเป็นกุศลต่อตัวเอง โน้มน้าวจิตใจผู้ดื่มที่งดเหล้าเข้าพรรษาให้อยู่กับจิตที่เป็นบุญกุศล
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ