บูรณาการศูนย์เด็กเล็กให้เป็น ‘อนุบาลปลอดโรค’
โรงเรียนนับเป็นจุดที่ต้องสนใจรองมาจากที่บ้าน ในเรื่องของสุขภาพของเด็กนักเรียน เป็นหน้าที่ของทางโรงเรียนและที่บ้านซึ่งจะต้องช่วยกันดูแลและใส่ใจให้มากยิ่งขึ้น
น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดโครงการรณรงค์ “การป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลคุณภาพ-ปลอดโรค ปี 2556”ว่า การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลต่างๆ ให้ปลอดโรคและน่าอยู่ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นมาก เนื่องจากถือเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็ก และเด็กใช้ชีวิตช่วงกลางวันร่วมกัน หากเด็กคนใดคนหนึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อ เช่น โรคไข้หวัด โรคมือ เท้า ปาก โรคอุจจาระร่วง เป็นต้น จะติดกันง่ายและรวดเร็ว ทำให้เด็กต้องหยุดเรียน และอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและสมองได้ ในการพัฒนาครั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้บูรณาการงาน 3 กรม ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต เพื่อดูแลเด็ก ทั้งเรื่องความสะอาดสถานที่ โภชนาการ เครื่องเล่นเด็กที่กระตุ้นพัฒนาการเด็ก การป้องกันโรค โดยเน้น 5 โรคที่พบบ่อยในเด็กเล็ก ได้แก่ ไข้หวัดซึ่งเด็กป่วยบ่อยที่สุดในเขตเมืองพบเฉลี่ยคนละ 5-8 ครั้งต่อปี ในเขตชนบทเฉลี่ยละ 3-5 ครั้งต่อปี รองลงมาคือโรคมือเท้าปาก โรคสุกใส โรคตาแดง และโรคอุจจาระร่วง โดยอบรมครูพี่เลี้ยงและจัดทำคู่มือการดูแลเด็กเบื้องต้น ในปี 2556 ดำเนินการในศูนย์เด็กเล็กครบ 100% แล้วจะเริ่มดำเนินการในโรงเรียนอนุบาลต่อไป ตั้งเป้าครบ 100% ภายในปี 2563
ด้าน น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการติดตามและประเมินผลโครงการศูนย์เด็กเล็กปลอดโรคของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา พบว่าได้ผลดี ส่งผลให้การระบาดของโรคไข้หวัดลดลงจาก 25% เหลือเพียง 9% และยังสามารถตรวจจับสัญญาณของโรคระบาดและควบคุมไม่ให้โรคแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้โครงการรณรงค์ดังกล่าวยังเป็นการปลูกฝังและวางรากฐานเรื่องการดูแลสุขภาพอนามัยที่ดีและถูกต้องแก่เด็กตั้งแต่เยาว์วัยติดตัวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้ในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลปลอดโรค
จะเน้นยุทธศาสตร์ 3 ดี คือ
1.ครูและพี่เลี้ยงเด็กมีสุขภาพดีและความรู้ดี
2.มีระบบริหารจัดการดี
3.สภาพแวดล้อมในศูนย์เด็กเล็ก/โรงเรียนอนุบาลดี สะอาด ทุกแห่งต้องมีระบบการตรวจคัดกรองเฝ้าระวังเด็กป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่เด็กปกติ
ส่วนเด็กจะต้องมีสุขภาพดี มีพฤติกรรมสุขภาพถูกต้อง เช่น ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และล้างหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม เป็นต้น หากทุกแห่งผ่านการประเมินขั้นต้น จะได้รับการรับรองให้เป็นศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลปลอดโรค
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง