บูรณาการพลังเด็กและเยาวชน ขับเคลื่อนท้องถิ่น

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน 


บูรณาการพลังเด็กและเยาวชน ขับเคลื่อนท้องถิ่น thaihealth


แฟ้มภาพ


เด็กและเยาวชนในวันนี้ล้วนแล้วแต่เป็นกำลังหลักให้สังคมในวันข้างหน้า หากผู้ใหญ่ ผู้ที่เกี่ยวข้องนักการเมืองให้ความสำคัญ และตระหนักถึงบทบาทของเด็กและเยาวชนเหล่านั้น โดยการปรับกระบวนทัศน์การทำงานวิธีการคิด ทัศนคติ ค่านิยม แบบแผน รูปแบบการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ฟังเสียงเด็กเป็น"


ที่ผ่านมาเด็กพูด ผู้ใหญ่มักไม่ใส่ใจ กำหนดเนื้องานโครงการงบประมาณให้เบ็ดเสร็จ เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมระดับต่ำหรือเข้ามาเป็นไม้ประดับให้แก่ผู้ใหญ่ ผลงานความสำเร็จมักปรากฏอยู่ที่ความพึงพอใจ ข้อมูลตัวเลข การมีส่วนร่วมจากภายนอกกิจกรรมของเด็กและเยาวชนถูกกำหนดไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วจากผู้เกี่ยวข้อง เสียงเด็กจึงเบาไร้ความหมายและวูบวาบไปตามกิจกรรม Events ที่ถูกจัดขึ้นมากมาย ลงทุนมหาศาล แต่ไม่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กเท่าที่ควร


สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เล็งเห็นปัญหาอุปสรรคของการสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ (Active Citizen) ที่เด็กอยู่ในกรอบมากเกินไป เกิดโครงการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชนกับพลังชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชน ได้ลงทำงานเชิงพื้นที่ 12 จังหวัด เน้นการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชนด้วยการยึดปัญหา ความสนใจ ความต้องการเป็นสำคัญกับพลังชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ทุนทางสังคม ศูนย์การเรียน ได้ข้อค้นพบศาสตร์เด็กและเยาวชนไทย คุณลักษณะสำคัญ วงจรส่งต่อ พลังหล่อหลอม กิจกรรมคัดสรร และดัชนีบ่งชี้ ดังมีบทสรุป คือ


1.การฟังเสียงเด็กเป็น (Listen by heart) ผู้ใหญ่ต้องรับฟังเสียงเด็กอย่างตั้งใจ มองเด็กเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานความสนใจ ความต้องการ และปัญหาใกล้ตัว ผู้ใหญ่ต้องลดอคติ การอธิบายให้เท่าที่จำเป็น เปิดโอกาสให้พื้นที่เด็กร่วมกันพัฒนาโจทย์วิจัยปัญหากิจกรรมกันเอง ผู้ใหญ่เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก อธิบายน้อยลง ปิดปากตนเอง เรียนร่วมศึกษาไปกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทุกประเด็นหัวข้อสำคัญที่ผ่านฉันทามติ กิจกรรมที่นำมาใช้ และอื่นๆ


2.กิจกรรมคัดสรร (Selected Activities) ต้องออกแบบ (design) ให้สอดคล้องกับเสียงความต้องการความสนใจและปัญหาใกล้ตัวของเด็กเป็นสำคัญ เป็นเรื่องสำคัญ ท้าทาย น่าสนใจ สามารถลงภาคสนามและเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบได้กิจกรรมจึงมีลักษณะเป็นโครงงาน (project based) หรืองานวิจัยชุมชนที่เด็กร่วมกันกำหนดซึ่งนำมาด้วยกิจกรรมคัดสรรมากมาย ดังเช่น การเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม จิตอาสา ลอกคลอง ปลูกป่า ทำแนวกันไฟ ผลิตสื่อประสม การเดินผจญภัย ความเป็นผู้นำ พลเมืองดี ศิษย์ปราชญ์ ชาวบ้าน และอื่นๆ


3.การมีส่วนร่วมจากภายใน (Inside-out Participation) การมีส่วนร่วมมักถูกกำหนดจากภายนอกจากสถาบันการศึกษา หน่วยวิจัย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้เกิดการรวมตัวกัน ปรึกษาหารือ การประชุมเพื่อดำเนินกิจกรรมตามโจทย์ ปัญหาการศึกษาตามกรอบวิจัย และขั้นตอนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เมื่อถูกกำหนดจากภายนอกเสร็จสิ้นภารกิจการมีส่วนร่วมจากภายนอกจะค่อยๆ หายไป แต่หากการมีส่วนร่วมเกิดจากภายในกันเองเกิดแกนนำเด็ก และผู้นำเยาวชนตามธรรมชาติจากการทำกิจกรรมร่วมกัน อันนำไปสู่ภาวะการมีส่วนร่วมเคารพสิทธิจากสมาชิกทุกคนด้วยกิจกรรมคัดสรรที่พัฒนา และตอบโจทย์ท้องถิ่นได้ สังคมชุมชนนั้นจะมีความยั่งยืน แน่นแฟ้น ได้อย่างมีคุณภาพประสิทธิภาพต่อไป


4.ชุมชนแห่งการขัดเกลา (Community of Socialization) เป็นทุนทางสังคมเดิมที่มีอยู่ ที่ผู้ใหญ่ในชุมชนจะเป็นผู้ดูแล เอาใจใส่ อบรมสั่งสอน ตักเตือนชี้แนะ การดึงกลับชุมชนให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (learning community) จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง โดยการเดินเรื่องจากกลุ่มเด็กและเยาวชนในชุมชนของตนเองเป็นสำคัญ ยิ่งบูรณาการเข้าไปในหลักสูตรท้องถิ่น สถานศึกษา หรือภูมิสังคม โรงเรียนจะกลับมาเป็นหน่วยสำคัญที่ช่วยสร้างผลิตพลเมืองที่มีคุณลักษณะตามที่ท้องถิ่นต้องการเกิดการขัดเกลา รับช่วง สร้างเสริมพัฒนารุ่นแล้วรุ่นเล่าต่อยอดความสำเร็จ และความมั่นคงได้ตลอดเวลา


เมื่อกระบวนการทั้ง 4 ขั้นตอนข้างต้นได้เกิดขึ้นครบวงจร และค่อยเป็นค่อยไปแล้วนั้น จะพบว่าเสียงของเด็กนั้นสำคัญที่จะสะท้อนความต้องการ ความสนใจ ปัญหาใกล้ตัว ด้วยการเปิดเวทีชุมชนพื้นที่กลางให้เด็กแสดงทรรศนะอย่างกว้างไกล สร้างสรรค์กิจกรรมคัดสรรตามที่เด็กคิดจินตนาการ และร่วมกันกำหนดขึ้น เชื่อมโยงกับกิจกรรมต่างๆ ที่นำมาฝึกฝน ดำเนินการและลงมือปฏิบัติ


การแสดงออกด้วยการให้เด็กทุกคนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ นำไปสู่การสร้างพลเมืองของชุมชน ท้องถิ่น การเติบโตของเด็ก และเยาวชนจะพัฒนาไปอย่างมีคุณภาพ จนก่อเกิดเสริมสร้างคุณลักษณะของเด็กไทย 10 ประการ ได้แก่ 1.ความเป็นพลเมืองดี รู้จักสิทธิ หน้าที่ความรับผิดชอบ จิตสำนึกในระบอบประชาธิปไตย 2.มั่นใจในตนแบบสากล อ่อนน้อมถ่อมตนแบบวัฒนธรรมไทย 3.ดำเนินชีวิตแบบพอเพียง เรียบง่าย มีความสุข 4.ยึดมั่น ค่านิยมไทย ยิ้มง่าย ใจดีมีน้ำใจ ใฝ่สันติ ปรองดอง สามัคคี 5.คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ในกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต 6.รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมสารสนเทศ 7.มีทักษะชีวิต การจัดการ แข่งขัน และร่วมมือได้ 8.การสร้างงานอาชีพด้วยตนเองได้ 9.ใฝ่ดี มีธรรมะ ความซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ตรงต่อเวลา กตัญญูกตเวที 10.เคารพความแตกต่างหลากหลาย สิทธิมนุษยชน ชาติพันธุ์ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม


อีกทั้งยังทำให้เกิดดัชนีบ่งชี้สำคัญ 5 ด้าน ซึ่งเป็นตัวช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนัก เตรียมการ มีความรอบคอบ และวางแผนเพื่อความต่อเนื่อง ยั่งยืน ได้แก่


1.ความเป็นพี่เลี้ยง ผู้ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่มีประวัติ ภูมิหลังผ่านงานด้านสภาเด็กและเยาวชน สภานักเรียน ประธานที่ปรึกษากิจกรรมด้านเด็กและเยาวชน นักดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมมาก่อน และในปัจจุบันมีฐานะบทบาทและตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือให้คำแนะนำ พูดภาษาเดียวกัน ร่วมเรียนรู้ ผู้อำนวยความสะดวกและผู้เสนอแนะแนวทางให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ


2.การเตรียมการคน 3 รุ่น 3 วัย ให้มีการส่งต่อภารกิจของงานบูรณาการพลังเด็ก และเยาวชนกับพลังของชุมชนท้องถิ่น คน 3 รุ่นยกตัวอย่าง ได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น พี่เลี้ยงเด็กและเยาวชน และแกนนำเด็กและเยาวชนทำงานสืบทอดส่งต่อกัน เตรียมการรุ่นต่อรุ่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน ทดแทนขึ้นมาเป็นบุคคลสำคัญที่ยึดโยงกับความยั่งยืนของชุมชนตลอดเวลา


3.ทุนทางสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศาสตร์องค์ความรู้ที่คิดค้น สั่งสม และถ่ายทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคตมีผู้รู้ ผู้สั่งสม ปราชญ์ชาวบ้าน ในท้องถิ่นที่สามารถบอกเล่าเรื่องราว ให้ข้อมูล ความเป็นมาข้อค้นพบ วิธีการแก้ไขปัญหา การสรุปการเรียนรู้ และอื่นๆ


4.วิสัยทัศน์ นโยบายของผู้นำท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญมากกว่าการทุ่มเทด้านสาธารณูปโภค การสร้างความเจริญทางด้านวัตถุ ถนนหนทาง ไฟฟ้า และการเติบโตของเมือง


5.การมีสถาบัน หน่วยงานสนับสนุน ช่วยเหลือวิชาการในท้องถิ่น (nodes) มหาวิทยาลัย วิทยาลัยชุมชน สถาบันการศึกษาที่มีหน่วยงานด้านวิจัยชุมชน ภารกิจของการเป็นผู้ให้คำแนะนำ การนิเทศ การขึ้นโครงการ การเป็นผู้อำนวยความสะดวก การลงพื้นที่ อย่างสม่ำเสมอ ให้คำปรึกษาแนะนำด้านวิชาการ การวิจัย องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น


ทั้ง 4 กระบวนการ 10 คุณลักษณะ 5 ดัชนีบ่งชี้ ที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ และขีดความสามารถของเด็กและเยาวชน โดยเน้นการสร้างการมีส่วนร่วม การเป็นเจ้าของร่วมกันในการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้เกิดระบบกลไกการทำงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการขยายตัวในลักษณะการประสานงานและบูรณาการร่วมกัน


พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีและลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคมของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ปัจจุบันสังคมไทยเต็มไปด้วยปัญหาความรุนแรง แม่วัยใส เด็กติดเกม ยาเสพติด เด็กแว้นสก๊อย นักดื่มหน้าใหม่ ยุวอาชญากรเต็มบ้านเต็มเมือง และอื่นๆ รัฐบาลช่วยกำหนดนโยบายด้านเด็กและเยาวชนชัดเจนเข้าใจตรงกัน ฟังเสียงเด็กเป็นเปิดพื้นที่กลาง ส่งเสริมโครงการโจทย์วิจัย กิจกรรมคัดสรร ให้งบประมาณเพียงพอ จัดหาบุคลากรพี่เลี้ยงที่เข้าใจเด็ก ส่งเสริมให้ท้องถิ่นสร้างเด็กมากกว่าสร้างสาธารณูปโภค


 

Shares:
QR Code :
QR Code