“บุหรี่ไฟฟ้า” ยาเสพติดแปลงร่างชนิดใหม่
บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับผู้สูบบุหรี่ ที่มีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยเฉพาะการจำหน่ายผ่านทางอินเตอร์เน็ตอย่างเปิดเผยและมีจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบมีการออกบูทจำหน่ายในหลายสถานที่ เช่น งานแสดงสินค้าต่างๆ
ข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ที่เสนอโดยผู้ลักลอบจำหน่าย เป็นข้อมูลเพื่อประโยชน์ทางการค้า ที่พบผ่านทางอินเตอร์เน็ตและหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ มักจะโฆษณาว่า เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยเลิกบุหรี่ และอ้างสรรพคุณว่ามีนิโคตินปริมาณน้อย
ก.สาธารณสุข ชี้อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า ซ้ำผิดกฎหมายถึง 3 ฉบับ
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนภัยผู้บริโภคว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าเลียนแบบ ที่ผู้จำหน่ายโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเลิกสูบบุหรี่ แต่จากการศึกษา พบว่ามีปริมาณนิโคติน (nicotine) สูงกว่าบุหรี่ทั่วไปหลายเท่า นับเป็นภัยตัวใหม่ จึงมีผลเสียต่อผู้ที่สูบบุหรี่
“สูบบุหรี่ไฟฟ้า 1 มวน จะเท่ากับสูบบุหรี่ทั่วไปถึง 15 มวน หากนำไปใช้จะเป็นอันตรายต่อหัวใจและหลอดเลือดได้ ที่สำคัญคือ ยังไม่มีผลการวิจัยรับรองว่าช่วยเลิกบุหรี่ได้จริง” นางพรรณสิริ กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ประกาศ มาตรการห้ามนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศ โดยใช้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่
พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มาตรา 10 เรื่องห้ามผลิตนำเข้า เพื่อขายหรือเพื่อจ่ายแจกเป็นการทั่วไป หรือโฆษณาสินค้าอื่นใด ที่มีรูปลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ประเภทบุหรี่ซิการ์แรตหรือบุหรี่ซิการ์ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำ หรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งยาแผนปัจจุบัน เว้นได้แต่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และมาตรา 72 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตขาย หรือนำเข้า หรือสั่งนำเข้ายาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มาในราชอาณาจักร ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของต้องจำกัดหรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรสยาม ความผิดครั้งหนึ่งจะมีโทษปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรขาเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
ซึ่งที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงกรมศุลกากร เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบบุหรี่ไฟฟ้า ตามชายแดนทั่วประเทศ
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เตือนผิดกฎหมายและเสี่ยงเสพติด
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ขณะนี้การขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ยังไม่มีการขออนุญาตจากหน่วยงานใดๆ โดยหากจะขายเป็นยาช่วยเลิกบุหรี่ ก็ต้องขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหากได้รับการอนุญาต ก็จะต้องได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ยา
รวมทั้ง หากจะขออนุญาตขายเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนบุหรี่ ก็ต้องขออนุญาตกรมสรรพสามิต และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายไม่อนุญาต ให้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปลกใหม่ใดๆ ที่มีนิโคตินผสมอยู่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คือการขายยาเสพติดนั่นเอง สรุปได้ว่า การขายบุหรี่ไฟฟ้า เป็นการทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น
ปัจจุบันสถิติของคนไทยที่ติดบุหรี่ พบว่ามีเพียง 3 คนใน 10 คนเท่านั้น ที่สามารถเลิกสูบได้สำเร็จ และในผู้ที่เลิกสูบได้นั้น ต้องตกเป็นทาสของการสูบบุหรี่โดยเฉลี่ยถึง 20 กว่าปี ส่วนที่เหลืออีกกว่า 70% คือ ติดบุหรี่ไปจนตาย
ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่า คนที่ติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า จะติดนานเท่าไร และเลิกยากเท่ากับการติดบุหรี่ทั่วไปหรือไม่ แต่จากข้อเท็จจริงที่ว่า ในบุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณนิโคตินมากกว่าบุหรี่ทั่วไป ทำให้อนุมานได้ว่า อย่างน้อยที่สุดอำนาจการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้า ก็ไม่น่าจะแตกต่างจากการเสพติดบุหรี่หรือยาสูบทั่วไป
การใช้บุหรี่ไฟฟ้า จึงเป็นเพียงการเปลี่ยนวิธีการที่จะนำสิ่งเสพติด “นิโคติน”เข้าสู่ร่างกาย โดยเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่เผา มาเป็นนิโคตินไอระเหยจากความร้อนของไฟฟ้าเท่านั้น
ทำไมจึงห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศ
ศ.จอห์น บานซ์ฮาฟ จากองค์กรรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมข้อคิดเห็นจากนักกฎหมายในนิวยอร์ก โดยได้รวบรวมประเด็นต่างๆ เพื่อให้ความถูกต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภคบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ให้ได้รับข่าวสารที่บิดเบือนจากฝ่ายผู้ได้ประโยชน์ทางการค้า ซึ่งทำให้สภาของรัฐนิวยอร์ก โหวตให้ การห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ชนะขาด 125-0
สำหรับประเทศที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเลยนั้น ขณะนี้มี 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา อิสราเอล เม็กซิโก และนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศที่ให้เป็นสินค้าควบคุม ได้แก่ ฟินแลนด์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอังกฤษ อยู่ในระหว่างดำเนินการให้เป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมเช่นเดียวกับยา
นี่คือเหตุผลส่วนหนึ่ง ที่ถูกนำเสนอต่อสภาของรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา เพื่อให้มีการออกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า
จากรายงานการประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของบุหรี่ไฟฟ้า ของ usfda (กระทรวงอาหารและยาสหรัฐอเมริกา) ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มทำให้เกิดความเสี่ยงต่อร่างกายแบบเฉียบพลันได้ อาทิ หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียน พูดไม่ชัด เกิดแผลในปาก ไอและเจ็บคอ เสียดท้องและท้องเสีย เป็นต้น จากสารเคมีที่บรรจุอยู่ภายในผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงกับผู้บริโภคได้ จึงควรกำหนดให้ “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นสิ่งผิดกฎหมาย
กลุ่มองค์กรรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ the american cancer society, american heart association, american lung association, campaign for tobacco-free kids, american for nonsmoker’ rights และ association for the treatment of tobacco use and dependence ได้ผนึกกำลังกัน เรียกร้องให้เกิดการควบคุมการขายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ แสดงข้อมูลคัดค้านว่า บุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่ ซิการ์ และไปป์ เป็นสินค้าที่ทำให้เยาวชนเสพติดนิโคติน และยังไม่มีการพิสูจน์ว่าปลอดภัยจริง
แม้ว่าจะมีการอ้างสรรพคุณว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ แต่จากเอกสารของ usfda ระบุไว้ว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดพิสูจน์ได้ว่า บุหรี่ไฟฟ้า ซิการ์ และไปป์ เป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ เป็นเพียงความเข้าใจของผู้ใช้บางกลุ่มเท่านั้น
เอกสารของ usfda ยังระบุด้วยว่า ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูดเอาไอน้ำและสาร propylene glycol เป็นสารต้านการแข็งตัวในอุตสาหกรรม ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ จึงทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และจะได้รับนิโคติน ซึ่งส่งผลให้เป็นโรคหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้ ยังมีสารก่อมะเร็งและสารพิษอื่นๆ ที่ส่งผลต่อคนใกล้ชิดได้ด้วย ดังนั้น องค์กรรณรงค์ในอเมริกาจึงห้ามสูบบุหรี่ชนิดนี้ในสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ตามกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน
ข้อสังเกตต่อผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า
ส่วนประกอบต่างๆ ของบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ batteries, atomizers, cartridges, cartridge wrappers ในแพ็คเก็ตหรือหีบห่อ รวมถึงคู่มือการใช้งาน ไม่ได้ระบุข้อควรระวังและเตือนถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากสินค้าตัวนี้
ใน cartridges หรือที่บรรจุนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดและสารเคมีอันตราย สามารถรั่วออกมาทางรอยต่อของอุปกรณ์บุหรี่ ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง
ในบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีการกำจัดสารพิษที่เหมาะสม เช่น ใน cartridges ที่บรรจุนิโคตินผสมอยู่กับน้ำ เมื่อใช้แล้วก็ย่อมมีการปนเปื้อนของนิโคติน เมื่อนำไปทิ้งก็จะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้บริโภคพึงระลึกว่า กระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ การขาย การโฆษณา ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้รับการควบคุมดูแลจากหน่วยงานอาหารและยาของรัฐบาล
การ์เมส อโซตา ผู้บริหารองค์กรวิจัย tobacco-related disease research program รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า งานวิจัยที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าล้วนเกิดขึ้นเนื่องจากต้องการปกป้องสุขภาพของผู้บริโภค ทั้งผู้ที่เคยทดลองใช้แล้วหรือยังไม่เคยทดลองใช้ ข้อมูลที่ผู้ผลิตและนักการตลาดอ้างว่าปลอดภัย แท้ที่จริงแล้ว ในกระบวนการที่ทำให้เกิดไอน้ำของบุหรี่ไฟฟ้า ยังเป็นกระบวนการที่น่าสงสัยถึงความปลอดภัย และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคมากกว่า เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดความร้อนใน cartridges ที่บรรจุนิโคตินซึ่งเป็นสารพิษ
เรียบเรียง: ชูรุณี พิชญกุลมงคล
ที่มา: มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่