“บุหรี่ไฟฟ้า” ภัยคุกคามเยาวชน ทำลายสุขภาพ ทำร้ายคนรอบข้าง

เรื่องโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก Live Check In สสส. EP 55 บุหรี่ไฟฟ้า ระเบิดเวลาสุขภาพเยาวชนไทย : No Smoke Let’s Stop

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    ต้องยอมรับว่า สิ่งเสพติดที่คอยทำลายสุขภาพ ในปัจจุบัน คงหนีไม่พ้น  “บุหรี่ไฟฟ้า” ภัยคุกคามเยาวชน ทำลายสุขภาพ ทำร้ายคนรอบข้าง เนื่องจากไม่มีควันจากการเผาไหม้ แต่มีสารนิโคติน และ ยังประกอบไปด้วยโลหะหนักต่าง ๆ ที่มีสารก่อมะเร็ง มีพิษต่อปอด ไต อีกด้วย

                    ที่น่าเป็นห่วง พบว่า เกินกว่าครึ่งของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในไทย เป็นเยาวชน อายุ 15-24 ปี จึงเป็นปัญหาสังคมและปัญหาสาธารณสุข ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง

                    ยืนยันจาก รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุ งานวิจัยใน The New England Journal of Medicine (NEJM) ที่รวบรวมงานวิจัยบุหรี่ไฟฟ้าเปรียบเทียบกับบุหรี่ธรรมดา เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ร้อยกว่าชิ้น  พบอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า มีปริมาณสารนิโคตินสูงเทียบเท่าบุหรี่ธรรมดา 20 ซอง ซึ่งสารนิโคตินเป็นสารเสพติด อันตรายกับสมอง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เซลล์สมองจะเติบโตไปเรื่อย ๆ จนอายุ 25 ปี ถ้าใช้เสพติดก่อนที่สมองจะโตเต็มที่ ส่งผลกระทบต่อการเรียน อารมณ์ การควบคุมตัวเอง โรคทางจิตใจ เช่น มีภาวะซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย นอกจากนี้ทำให้เสี่ยงไปใช้สารเสพติดชนิดอื่น ๆ ได้อีก

                    จากการสำรวจในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในภาคกลาง พบว่า เด็กประถมฯ เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 43% และที่น่าตกใจ คือ พบนักเรียนหญิงสูบมากกว่าชาย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน อีกทั้งบริษัทบุหรี่ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าหรือพอดแบบใช้แล้วทิ้ง และยังออกแบบให้ พกพาง่าย รูปร่างสวยงามมีกลิ่นหอม มีการโฆษณาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อดึงดูดใจ ทำให้เด็กเข้าใจผิดว่าไม่อันตราย หากมองในเรื่องของผลกระทบด้านสุขภาพ การเสพติดนิโคติน ยังส่งผลกระทบต่ออวัยวะโดยเฉพาะปอดและระบบทางเดินหายใจ ทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด ฯลฯ

                    อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันของไทย การสูบบุหรี่ไฟฟ้าค่อนข้างน่าเป็นห่วง ทั้งที่ในกฎหมายระบุชัดเจน ห้ามขาย ห้ามนำเข้าบุหรี่ฟ้า แต่ก็มีการขายอย่างแพร่หลาย และเข้าถึงสถานศึกษา พบเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา มีการซื้อ-ขายในโรงเรียน ครูบางคนยังไม่รู้จัก ไม่รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้าผู้ปกครองบางคนยังเข้าใจผิด คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย จึงไม่ห้ามให้เด็กสูบ อีกทั้งผู้ขาย-ผลิตบุหรี่ไฟฟ้า ได้ปรับรูปแบบ ปรับกลิ่นให้เข้ากับเด็ก ๆ และวัยรุ่น มีรูปแบบคล้ายขนม ของเล่นอุปกรณ์การเรียน มีสีสันสดใสแต่แฝงไปด้วยอันตรายร้ายแรง

                    นอกจากรูปทรงที่ดึงดูดใจยังมีมีสารปรุงแต่งกลิ่น รส กว่า 16,000 ชนิด เช่น กลิ่นลูกกวาด นม ช็อกโกแลต ตบตาผู้ปกครอง ครูได้อย่างแนบเนียน แสดงให้เห็นถึงการเจาะกลุ่มลูกค้า เด็กและวัยรุ่นโดยเฉพาะ และบุหรี่ไฟฟ้าบางชิ้นสูบได้ถึง 9.000 ครั้ง จาก “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566”  เมื่อเปิดสัดส่วนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการขายและส่งเสริมการขายบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า มีการขายและส่งเสริมการขายบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อสังคมออนไลน์สูงถึง 300 ราย ใน 6 แพลตฟอร์ม พบการขายมากที่สุดผ่านทาง “เว็บไซต์” รองลงมา คือ ผ่านทางแอปพลิเคชัน “Line”  และ “Youtube” “Facebook”   “Twitter”  และผ่าน “Instagram”  ตามลำดับ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” มีความชุกเป็นอย่างมากในกลุ่มเยาวชนไทย และยังสามารถหาซื้อได้ง่ายผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ

                    ยืนยันด้วยตัวเลขจาก ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า กล่าวถึงสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนและคนไทยในปัจจุบัน พบว่า ข้อมูลจากผลสำรวจใน ปี พ.ศ.2564-2565 บุหรี่ไฟฟ้ารุนแรงเพิ่มขึ้น จาก 80,000 คน เพิ่มมา 700,0000-800,000 คน ในกลุ่มอายุ 18-30 ปี

                    สรุปได้ว่านักสูบบุหรี่ส่วนใหญ่เป็นนักสูบหน้าใหม่  ที่ไม่เคยสูบมาก่อน ส่วนคนที่เปลี่ยนจะหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มติดมากขึ้นเรื่อย ๆ และเลิกได้ยาก จากผลสำรวจ พบว่า จะสูบทั้งสองอย่าง และการติดนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้า เด็กติดเร็วกว่าบุหรี่ธรรมดา

                    หากย้อนไปในอดีต ส่วนใหญ่จะติดบุหรี่ตอนอายุ 17-18 ปี แต่บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันลงไปถึงประถมฯ ยิ่งติดเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีความเสี่ยงไปใช้ยาเสพติดอื่นมาขึ้น

                    นอกจากนี้ ในควันบุหรี่ยังมีสารพิษที่เมื่อสูดเข้าไปแล้ว สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และส่งต่อไปยังสมองได้ภายใน 7 วินาที ช่วยกระตุ้นให้สมองเกิดการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการผ่อนคลายขึ้น หลังจากนั้น จะมีผลเสียไว้มากมายไม่ว่าจะเป็น ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็งต่ออวัยวะต่าง ๆ

                    สำหรับแนวทางการป้องกัน ควรสร้างความเข้าใจ ไม่ให้เข้าไปริลอง ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชน  การประชาสัมพันธ์ การรณรงค์ให้ความรู้ ข้อมูลที่ถูกต้อง ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้คนทั่วไป รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง เอาชนะ Fake News เอาชนะการโฆษณาทางการตลาดที่ถูกบิดเบือนได้

                    สสส. ยังคงจุดเดิม คือ ไม่สนับสนุนสิ่งที่ทำลายสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นภัยคุกคามใหม่ในเด็กและเยาวชน สนับสนุนให้รัฐบาลคงกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า  สานต่อความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการสื่อสารรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูล/ข้อเท็จจริง และการเพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน

Shares:
QR Code :
QR Code