บุหรี่โรงงานกับบุหรี่ใบจาก อันตรายเท่ากัน
ไอ มีเสมหะ และหายใจมีเสียงวี้ดในปอดเหมือนกัน
ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรจน์ เปิดเผยงานวิจัยที่เปรียบเทียบผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระหว่างการสูบบุหรี่ใบจากมวนเองกับการสูบบุหรี่ซองที่ผลิตจากโรงงานในอาสาสมัคร 240 คน โดยเป็นผู้สูบบุหรี่ใบจาก 42 คน สูบบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน 42 คน ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง 72 คน และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 84 คน โดยจำนวนมวนบุหรี่ที่สูบต่อวันเท่ากันระหว่างผู้ที่สูบบุหรี่ใบจากกับผู้ที่สูบบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน การตรวจระดับนิโคตินในปัสสาวะไม่มีความแตกต่างกันระหว่างผู้สูบบุหรี่ใบจากกับผู้ที่สูบบุหรี่โรงงาน ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มผู้ที่สูบบุหรี่ทั้งสองชนิดมีอาการไอ มีเสมหะ และหายใจมีเสียงวี้ดในปอดมากกว่ากลุ่มผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และผู้ที่สูบบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน มีอาการไอ มีเสมหะมากกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ใบจาก การตรวจสมรรถภาพปอดระหว่างผู้สูบบุหรี่ทั้งสองประเภทไม่แตกต่างกัน ผลการวิจัยสรุปว่าบุหรี่ทั้ง 2 ชนิดมีโทษและพิษภัยต่อระบบทางเดินหายใจไม่ต่างกัน
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เปิดเผยข้อมูล การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2550 พบว่า ในจำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ 9.48 ล้านคน ร้อยละ 50.6 หรือครึ่งหนึ่งสูบบุหรี่ใบจากมวนเอง โดยเพศหญิงที่สูบบุหรี่ 420,000 คนเป็นผู้ที่สูบบุหรี่มวนเอง 294,000 คนหรือร้อยละ 70 ในขณะที่เพศชายสูบบุหรี่ 9.07 ล้านคนสูบบุหรี่มวนเอง 4.53 ล้านคนหรือร้อยละ 50 โดยภาคอีสานมีสัดส่วนสูบบุหรี่มวนเองสูงสุดคือ ร้อยละ 66.8 ขณะที่ กทม.ร้อยละ 8.9 ผู้ที่สูบบุหรี่ไม่ควรเข้าใจผิดว่าบุหรี่โรงงานปลอดภัยกว่าและไม่ยอมเลิกสูบ หากเลิกสูบไม่ได้จริง ๆ การสูบบุหรี่ใบจากก็ยังอาจจะมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน เนื่องจากบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานมีการผสมสารเคมีในขบวนการผลิตนับร้อยชนิดเพื่อทำให้บุหรี่รสดีน่าสูบกว่าบุหรี่มวนเอง
ที่มา: มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
update : 05-09-51