บุหรี่ภัยร้ายคุกคามคุณภาพชีวิตแรงงาน

             “บุหรี่” ภัยร้ายคุกคามคุณภาพชีวิตทุกระดับอาชีพ พบชีวิตแรงงานนอกระบบเกือบ 90% ตกเป็นเหยื่อ หนี้สินสุขภาพรุมเร้า-ครอบครัวแตกแยก สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (ไทยเกรียง) แนะ ชูโครงการลดละเลิกบุหรี่ฯ นำร่อง หวังสร้างความตระหนักนักสูบกลับใจเลิกได้ถาวร


/data/content/26023/cms/e_abcjklns2457.jpg


             เมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.อรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (ไทยเกรียง) กล่าวในเวทีเสวนาถอดบทเรียนการทำงาน หัวข้อ “บุหรี่ ภัยคุกคามคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ” จัดโดยสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (ไทยเกรียง) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2556 พบว่า คนไทยสูบบุหรี่ 10.8 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 19.94 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม แต่ละปีภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาจำนวนมาก และที่เห็นปัญหาชัดเจนคือ กลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือผู้ที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ตนทำงานด้วยพบว่า เกือบ 90% เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ มีปัญหาหนี้สิน รายรับไม่พอกับรายจ่าย คุณภาพชีวิตตกต่ำ


             จากปัญหาและผลกระทบดังกล่าวจึงเกิดเป็นที่มาของโครงการ “ลดละเลิกบุหรี่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า” เนื่องจากต้องการให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ ตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ที่มีผลต่อสุขภาพหันมาเลิกบุหรี่ อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดครอบครัวตัวอย่างที่ให้กำลังใจคนที่สูบบุหรี่ในครอบครัวและช่วยเหลือจนสามารถเลิกบุหรี่ได้ ซึ่งเราจะเริ่มต้นจากบุหรี่ ก่อนจะขยายไปสู่ปัจจัยคุกคามอื่นๆ


             น.ส.อรุณี กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการตั้งแต่ 1 ต.ค.56-30 ก.ย.57 เริ่มจากสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่ของกลุ่มอาชีพอิสระ ได้แก่ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซาเล้งของเก่า แม่ค้าหาบเร่แผงลอย ในพื้นที่เขตวัฒนา เขตป้อมปราบฯ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ และ ต.บางจาก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ทั้งหมด 622 ราย ในจำนวนนี้สมาชิกกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ ต.บางจาก เป็นผู้ที่สูบบุหรี่มากที่สุด คือ 279 ราย จากนั้นได้คัดกรองคนที่สมัครใจอยากเลิกบุหรี่จำนวน 60 ราย โดยมีการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้เข้าใจพิษภัยของบุหรี่ บอกวิธีช่วยให้เลิกบุหรี่ พร้อมเชิญวิทยากรจากหลายภาคส่วน อาทิ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (Quit line 1600) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ความรู้ร่วมแลกเปลี่ยนให้คำปรึกษาและบูรณาการร่วมกัน


             อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ที่สมัครใจเลิกบุหรี่ได้สำเร็จแล้ว 8 ราย ส่วนที่เหลือคือผู้ที่ยังไม่ได้เลิกแต่ลดจำนวนการสูบบุหรี่ลงอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุเพราะกำลังใจไม่เข้มแข็งพอ มีปัญหาครอบครัวเกิดภาวะเครียด ซึ่งหลังจากนี้จะมีการติดตามเพื่อปรับพฤติกรรมให้คำแนะนำผู้ที่ยังเลิกไม่ได้ และจะต่อยอดเพิ่มพื้นที่รณรงค์ลดละเลิกบุหรี่ต่อไป แม้จำนวนจะไม่มากแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว


             นายธนวัฒน์ ผักผือ อายุ 40 ปี อาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กล่าวถึง ประสบการณ์ชีวิตที่เคยสูบบุหรี่จนติดถึง 2 ครั้ง ว่า ตนเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 17 ปี สูบมาเรื่อยๆ จนติด ต้องสูบทุกวันหลังทานข้าว ตกวันละ 2 ซองอย่างต่ำ เสียค่าใช้จ่าย 1,500 บาทต่อเดือน จากนั้นเริ่มมีปัญหาสุขภาพ ร่างกายทรุดโทรม มีกลิ่นตัว มีปัญหากับเพื่อนที่ทำงานทะเลาะกันบ่อยครั้ง สาเหตุจากการขอสูบบุหรี่แต่ไม่เคยจ่ายค่าบุหรี่ช่วย จากนั้นเมื่อแต่งงานกับภรรยาคนที่ 2 และกำลังจะมีลูกชาย จึงคิดเลิกสูบบุหรี่เพื่อลูกและครอบครัว แต่ก็เลิกสูบแค่ชั่วคราว สุดท้ายหันมาสูบบุหรี่อีกครั้งตอนอายุ 30 ปี เพราะเริ่มมีปัญหากับภรรยา มีปากเสียงบ่อยครั้ง จนต้องแยกทางกันและตอนนี้ใช้ชีวิตอยู่กับลูกเพียง 2 คน


             “ลูกชายเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผมกลับมาเลิกบุหรี่ได้อีกครั้ง ลูกชายจะพูดทุกวันให้เลิกบุหรี่ ประกอบกับปัญหาสุขภาพรุมเร้า เพราะเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ เวลาไอจะมีสิ่งที่ปนออกมากับเสมหะเป็นสีดำเข้ม แพทย์แนะนำให้เลิกบุหรี่ สุดท้ายผมตัดสินใจหาวิธีเลิก จนได้เข้ามาร่วมกิจกรรมโครงการลดละเลิกบุหรี่ฯ จนปัจจุบันผมสามารถเลิกสูบ/data/content/26023/cms/e_defhikmqrwyz.jpgบุหรี่ได้ถาวร อย่างไรก็ตาม ฝากถึงคนที่คิดจะเลิกสูบ ให้เข้มแข็งมุ่งมั่น ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง อย่าลืมว่าบุหรี่เป็นภัยร้ายแรง มีผลกระทบรอบด้าน ขอให้รักตัวเอง รักลูก รักครอบครัว” นายธนวัฒน์ กล่าว


            ด้าน นายเสริมพงษ์ คงสถิต อายุ 52 ปี อาชีพกลุ่มซาเล้งขายของเก่า ปัจจุบันหันหลังให้บุหรี่อย่างเด็ดขาด กล่าวเป็นอุทาหรณ์ว่า เริ่มสูบมาตั้งแต่อายุ 15 ปี เพราะเป็นวัยรุ่นอยู่ในกลุ่มเพื่อนฝูง อยากรู้อยากลอง บ่อยครั้งที่แอบเอาบุหรี่ไปสูบในโรงเรียน จากนั้นก็เริ่มสูบเรื่อยมาจนอยู่ในช่วงวัยทำงานและมีครอบครัว เริ่มสูบมากขึ้น ตกวันละ 1 ซอง ทำให้รายจ่ายเพิ่มโดยไม่จำเป็น ลูกก็ไม่มีความสุขเวลาเห็นเราสูบบุหรี่ต้องรีบเอามือปิดจมูกแล้วเดินหนี


            “สาเหตุที่เลิกสูบบุหรี่เพราะกำลังใจจากครอบครัว อีกทั้งได้เข้าร่วมโครงการลดละเลิกบุหรี่ฯ โดยใช้วันที่ 5 ธันวาคม 2556 เป็นจุดเริ่มต้นในการเลิกอย่างเด็ดขาด ตอนนี้ครอบครัวอบอุ่น ผมเรียกความเชื่อมั่นจากภรรยาและลูกกลับคืนมาได้ กล้าพูดกับคนในสังคมอย่างภาคภูมิใจ และตอนนี้ก็หันมาทำงานให้กับคนในชุมชนมากขึ้น ท้ายนี้อยากเป็นกระบอกเสียงฝากไปถึงสังคม หรือคนที่คิดจะเลิกบุหรี่ว่า ต้องมีความตั้งใจเริ่มจากลดปริมาณการสูบลง จากนั้นก็เลิกสูบหันมาทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน เลิกยุ่งกับสิ่งที่คุกคามความสุข สุขภาพ เงินทองของเราไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพอะไรสุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง” นายเสริมพงษ์ กล่าว


            น.ส.ใกล้รุ่ง วิลาส อายุ 21 ปี อาชีพแม่ค้าแผงลอยย่านโบ๊เบ๊ อดีตผู้ที่เคยสูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์ กล่าวว่า เริ่มสูบบุหรี่ตอนอายุ 12 ปี เพราะเห็นพ่อกับแม่สูบบุหรี่ม้วนเอง เลยอยากลองบ้าง เริ่มสูบถี่ขึ้นเรื่อยๆ ขนาดแต่งงานมีครอบครัวและตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน ก็ยังสูบอยู่เพราะไม่รู้ตัวว่าท้อง อีกทั้งเคยคิดว่าสูบบุหรี่ไม่กระทบกับลูกในท้อง จากนั้นที่เลิกสูบบุหรี่ได้เพราะทางโครงการลดละเลิกบุหรี่ฯ พามาเข้าร่วมกิจกรรม เราได้เห็นผลกระทบและพิษภัยมากมาย จึงเริ่มลดปริมาณการสูบ และสิ่งที่เป็นกำลังใจสำคัญคือคนในครอบครัว สามีจะให้คำแนะนำให้เราเลิกบุหรี่มาตลอด อยากให้ทำเพื่อลูก สุดท้ายก็สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ


             “โครงการดังกล่าว ช่วยให้เราเลิกบุหรี่ได้ และเปลี่ยนแปลงชีวิตเราไปในทางที่ดีขึ้น ตอนนี้เลิกบุหรี่ได้ 7 เดือนแล้ว สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในชีวิตหลายอย่าง มีเงินเก็บมากขึ้น ครอบครัวมีความสุข ทะเลาะกับสามีน้อยลง สุขภาพร่างกายแข็งแรง ทั้งนี้ฝากถึงคนที่สูบบุหรี่ ให้พยายามลดละเลิก ให้คิดถึงครอบครัว เอาเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ เช่น เป็นทุนการศึกษาลูก” น.ส.ใกล้รุ่ง กล่าว


 


 


              ที่มา: เว็บไซต์บ้านเมือง


              ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


 

Shares:
QR Code :
QR Code