“บุพเพสันนิวาส” สอดแทรก”โรคมาลาเรีย”
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
"มาลาเรีย" หรือ "ไข้จับสั่น" เป็นโรคเก่าแก่ที่เกิดคู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ในอดีต "มาลาเรีย" เป็นโรคสำคัญที่ทำให้ประชาชนของโลกเจ็บป่วยและเสียชีวิต และเป็นโรคหนึ่งที่คุกคามประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) อยู่เนืองๆ "มาลาเรีย" เป็นโรคประจำถิ่นในพื้นที่ลุ่มและพื้นที่บุกเบิกใหม่ในการทำเกษตรหรืออยู่อาศัยและแพร่ระบาดมากในดินแดนทางใต้ ได้แก่ ยูนนาน กวางสี ไต้หวัน พม่า เวียดนาม
สมัยกรุงศรีอยุธยา ในช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครองราชย์ เป็นยุคที่ชาวตะวันตกเข้ามาทำการค้าขายและตั้งถิ่นฐานจำนวนมาก กรุงศรีอยุธยาจึงมีฐานะเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ ที่มีชาวต่างชาติหลายชาติหลายภาษามาอยู่อาศัยจำนวนมาก จากจดหมายเหตุ ลา ลู แบร์ (ราชทูตเข้ามาประเทศสยามประมาณ พ.ศ. 2230 – พ.ศ. 2231) ได้บันทึกว่า ในสมัยนั้นมีไข้จับสั่น(มาลาเรีย)อยู่ชุกชุม แต่ด้วยความรุนแรงของโรคน้อยกว่าไข้ทรพิษทำให้ไข้จับสั่นไม่ถูกบันทึกไว้ การรักษาโรครวมทั้งโรคมาลาเรียในยุคสมัยนั้น จะใช้ความรู้แบบตำราแพทย์แผนไทย และแพทย์พื้นบ้าน เป็นแบบความเชื่อผี พุทธ โหราศาสตร์ และพราหมณ์ผสมปนกันไป ซึ่งต่างกับแพทย์แผนตะวันตกอย่างสิ้นเชิง
ปัจจุบันสถานการณ์โรคมาลาเรียของประเทศไทยลดลงอย่างมาก เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคยังคงเดินหน้ายุทธศาสตร์กำจัดโรคมาลาเรียให้หมดไปจากประเทศอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มีผู้จัดละครหลายค่ายให้ความสำคัญกับงานด้านสาธารณาสุข โดยเฉพาะละคร "บุพเพสันนิวาส" ละครย้อนยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ได้สอดแทรกความรู้เรื่องการป้องกันควบคุม "โรคมาลาเรีย" ในบทละครได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน กรมควบคุมโรคกล่าวชื่นชมและคาดหวังให้สังคมไทยมีละครดีๆ ที่สามารถสะท้อนเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมแบบนี้ตลอดไป
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามีชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาทำการค้าขายและตั้งถิ่นฐานจำนวนมาก ทำให้เป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ ซึ่งการเดินทางระหว่างประเทศสามารถนำโรคติดต่อต่างๆ ที่ไม่เคยพบแพร่กระจายเข้ามาได้ โดยโรคระบาดหรือโรคติดต่อในอดีตที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศ อาทิ โรคไข้ทรพิษ (ไข้ฝีดาษ) โรคบิดและโรคมาลาเรีย (โรคไข้จับสั่น)
สำหรับ "โรคมาลาเรีย" จากข้อมูลพบว่ามีบันทึกในจดหมายเหตุลาลูแบร์ บ่งชี้ว่า "มาลาเรีย" หรือ "ไข้จับสั่น" เป็นโรคประจำถิ่นที่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคมสยามในสมัยนั้น และชาวสยามรู้จักคุ้นชินกันเป็นอย่างดี โดยมีความตอนหนึ่งในบันทึกจดหมายเหตุระบุว่า "….การจับไข้สั่นเมื่อยปวดสรรพางค์กายก็ชุ่มไม่น้อย ณ กรุงสยาม กว่าหัวเมืองอื่นๆ เหล่านั้น และข้าพเจ้าไม่พิศวงเลย ด้วยเห็นอากาศฉะอุ่มฝนเสียมากเดือนในปีหนึ่ง.." ซึ่งเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าโรคมาลาเรียอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน ส่วนมาตรการป้องกันโรคมาลาเรียยังไม่ปรากฎหลักฐานที่ชัดเจนที่ชัดเจนโดยเฉพาะการใช้มุ้งแต่สันนิษฐานว่าด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยาเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ที่มาจากทั้งเอเชียและยุโรป จึงมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเริ่มมีการนำวัฒนธรรมการนอนในมุ้งเพื่อกันยุงแล้วตั้งแต่สมัยนั้น
นายแพทย์สุวรรณชัยยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคมาลาเรียของประเทศไทยลดลงอย่างมากจากรายงานสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค ปี 2561 พบผู้ป่วยจำนวนเพียง 856 คน ซึ่งลดลงเกือบร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยกรมควบคุมโรคยังคงเดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ สู่เป้าหมายการกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดไปจากประเทศภายในปี 2567 ได้แก่ 1.เร่งรัดกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศไทย 2.พัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม มาตรการและรูปแบบที่เหมาะสมในการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย 3.สร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย ระดับประเทศ และนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนงานกำจัดโรคไข้มาลาเรีย และ 4.ส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลตนเองจากโรคไข้มาลาเรีย ซึ่งเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้คือภายในปี 2564 มกกว่า 95% ของอำเภอในประเทศไทยต้องไม่มีการแพร่เชื้อ และภายในปี 2567 ประเทศไทยต้องปลอดจากโรคไข้มาลาเรีย
อย่างไรก็ตามนโยบายการกำจัดโรคไข้มาลาเรียนี้จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ หน่วยบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนงานกำจัดโรคไข้มาลาเรียโดยนำไปปฏิบัติตามบริบทของแต่ละพื้นที่ต่อไป
ทั้งนี้ขอชื่นชมทีมงานและผู้จัดละคร "บุพเพสันนิวาส" ละครย้อยยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาที่สามารถสอดแทรกความรู้เรื่อง "โรคมาลาเรีย" ได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน โรคเก่าแก่ที่ในอดีตเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ แม้ในสมัยอยุธยาก็ได้มีการระดมกำลังจากทุกภาคส่วนของสังคม จนสามารถควบคุมปัญหาเรื่อง "โรคมาลาเรีย" ได้สำเร็จ มั่นใจกระแสละครจะสามารถจุดประกายและก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวในการควบคุมป้องโรคไข้มาลาเรียในสังคมปัจจุบันได้อย่างแนบเนียน เนื่องจากละครมีจุดเด่นและข้อดีหลายด้านที่สามารถดึงดูดความสนใจและความใส่ใจของผู้ชมโดยคาดหวังให้สังคมไทยมีละครดีๆ ที่สามารถสะท้อนเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมแบบนี้ตลอดไป
"โรคมาลาเรีย" เกิดจากยุงก้นปล่องที่อาศัยตามป่าหรือลำธาร วิธีการป้องกัน คือ 1. นอนในมุ้งชุบน้ำยาไล่ยุง 2. สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาวปกปิดเพื่อป้องกันยุงกัด 3. ทายากันยุง และ 4. จุดยากันยุง หากประชาชนมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ประกอบกับมีประวัติถูกยุงก้นปล่องกัด ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับรองวินิจฉัยต่อไปหรือหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422/ นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวปิดท้าย