บุญบั้งไฟปลอดเหล้า

ประเพณีบุญบั้งไฟ ที่ชาวอีสานบ้านเรามีความเชื่อว่า หากปีใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟ ปีนั้นฟ้าฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล ไม่มีน้ำทำนา งานบุญบั้งไฟจึงถือเป็นงานประเพณีประจำปีที่สำคัญของชาวอีสาน พอใกล้ถึงวันงานชาวอีสานไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะกลับบ้านไปร่วมงานบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นงานที่สร้างความรักความสามัคคีของคนท้องถิ่นเป็นอย่างดี



ยิ่งเมื่อชาวบ้านมาเจอะเจอเพื่อนฝูง ญาติสนิทมิตรสหาย การเลี้ยงฉลอง การจัดงานรื่นเริงต้องมีเครื่องดื่มมึนเมามาเป็นองค์ประกอบของงานอยู่เสมอ ขณะที่เครือข่ายองค์กรงดเหล้าในแต่ละพื้นที่ก็ไม่วางเฉย หลังจากที่ได้ทำกิจกรรมงานบุญปลอดเหล้าในหลายพื้นที่ไปแล้ว บุญบั้งไฟก็ถือเป็นอีกหนึ่งงานบุญประเพณีที่จะมองข้ามไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับพื้นที่ของชาวชุมชนอุทัยทิศ จังหวัดมหาสารคาม ที่ได้เริ่มต้นจุดประกายความคิดดีๆ กับงานบุญบั้งไฟปลอดเหล้าครั้งนี้ โดยนายบุญชอบ สิงห์คำ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จังหวัดมหาสารคาม บอกว่า ทางเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดมหาสารคาม จัดทำงานบุญประเพณีปลอดเหล้ามาตั้งแต่ปี 2547 โดยเริ่มที่งดเหล้าเข้าพรรษา จนกระทั่งปี 2551 จึงขยับมาจัดงานศพปลอดเหล้า และมองว่าจะพยายามทำให้ทุกงานบุญ งานประเพณีปลอดเหล้าทั้งหมด 100%โดยเฉพาะงานบุญประเพณีบั้งไฟนั้น ปีนี้เราเริ่มทดลองนำร่องใน 4-5 อำเภอของพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เช่น อำเภอยางสีสุราช อำเภอแกดำ อำเภอนาเชือก และอำเภอนาดูร เป็นต้น อย่างที่อำเภอชุมชนอุทัยทิศ เทศบาลเมืองมหาสารคาม เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีประชากรประมาณ 3 หมื่นคน ที่จัดงานบุญบั้งไฟเป็นบุญประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน เหมือนกับหมู่บ้านต่างๆในจังหวัดมหาสารคาม โดยในปี 2554 กำหนดจัดงานในระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนายน 2554 ขบวนแห่บั้งไฟในปัจจุบัน ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนไปชมการจุดบั้งไฟ ซึ่งในขบวนแห่ทุกขบวน มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือขบวนเมา ซึ่งอ้างว่าเป็นกิจกรรมที่ทุกขบวนแห่จะต้องมี เพื่อความสนุกสนาน


จากปัญหาและความเปลี่ยนแปลงของบุญบั้งไฟ หากไม่มีการฟื้นฟูสิ่งดีงามในอดีตให้กลับคืนมา บุญบั้งไฟในอนาคตอาจกลายเป็นงานประเพณีเมา ประเพณีดื่ม ซึ่งประเพณีดังกล่าวเป็นประเพณีของชาวอีสานทุกคน ดังนั้น เทศบาลเมืองมหาสารคาม และประชาคมงดเหล้ามหาสารคาม จึงได้ร่วมกับชุมชนอุทัยทิศ เพื่อทำให้บุญบั้งไฟของชุมชนเป็นบุญบั้งไฟปลอดเหล้า  เพื่อสร้างกระแสให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชุมชนและหมู่บ้านอื่นๆ และหวังว่า ในอนาคตงานบุญบั้งไฟ งานประเพณีทีดีงามของชาวอีสานตลอดไป


ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม เป็นประธานในพิธี ในการจัดงานบุญบั้งไฟปลอดเหล้าครั้งนี้ โดยความร่วมมือจากหน่วยงานเทศบาลเมืองมหาสารคาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับชุมชนอุทัยทิศ ภายใต้ชื่อ “ชุมชนอุทัยทิศร่วมใจ ฟื้นฟูประเพณีไทย บุญบั้งไฟปลอดเหล้า ปี 2554” โดยการจัดขบวนแห่บุญบั้งไฟพร้อมการรณรงค์ไปตามถนนสายต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม ทั้งนี้ได้มีการออกประกาศเป็นนโยบายสาธารณะโดยกำหนดเป็นข้อห้ามจากเทศบาลเมือง อีกทั้งมีประกาศข้อตกลงของชุมชนอุทัยทิศ โดยเน้นห้ามจำหน่ายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณงาน เพื่อความสงบเรียบร้อยต่างๆ ของการจัดงานครั้งนี้


ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จังหวัดมหาสารคาม กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากการดำเนินงานแล้วพบว่า เป็นที่น่าพอใจ โดยคนในพื้นที่ให้ความร่วมมือและความเห็นส่วนใหญ่ต้องการให้มีการจัดงานบุญบั้งไฟปลอดเหล้าต่อไป เพราะเป็นการลดความรุนแรงจากเหตุการณ์ต่างๆ แต่สิ่งที่ยังต้องเฝ้าระวังและพยายามขยับขยายดูแล คือบริเวณที่จุดบั้งไฟ ที่ห่างจากบริเวณพื้นที่จัดงานออกไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร ยังคงพบเห็นเรื่องของการพนันที่แอบแฝงมากับประเพณี และยังพบการค้าและดื่มสุราอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งในส่วนนี้อาจจะทำอะไรไม่ได้เพราะเป็นนอกพื้นที่การจัดงาน แต่อนาคตก็จะพยายามแก้ปัญหานี้ต่อไปให้ได้


“งานจริงๆ ที่จัดในวัดควบคุมได้ 100%แต่บริเวณฐานจุดบั้งไฟ ซึ่งห่างจากชุมชนไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร จะพบเห็นเรื่องการพนันแอบแฝง และมีการขายเหล้า ดื่มเหล้าอยู่บ้าง เพราะจะเป็นคนนอกพื้นที่ที่มาจุดบั้งไฟให้ เราก็ยอมรับว่าตรงส่วนนี้เราควบคุมยาก เพราะเค้าเป็นคนนอกพื้นที่ แต่ก็ถือเป็นปัญหาที่เราต้องนำเข้าหารือเพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป เพราะงานบุญประเพณีน่าจะเป็นงานบุญที่ปลอดเหล้า บุญบั้งไฟก็ถือเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเราก็ค่อยๆ รณรงค์กันไป โดยขยับจากจุดเล็กๆ แล้วไปสู่ภาพใหญ่ โดยเฉพาะวัฒนธรรมจังหวัดต้องมีการขยับพร้อมกัน และผมก็อยากเห็นงานรณรงค์แบบนี้ไปสู่งานใหญ่ๆ ทั่วประเทศ” นายบุญชอบกล่าว


แม้งานบุญประเพณีนี้จะเป็นเพียงเริ่มจุดต้นเล็กๆ ในพื้นที่ของชุมชนเพียงจังหวัดหนึ่ง แต่ขึ้นชื่อว่าได้เริ่มทำแล้ว เชื่อได้ว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ต่อไปงานบุญประเพณีในทุกรูปแบบของเมืองไทย จะเป็นงานบุญประเพณีที่สะอาดใส ปลอดอบายมุขและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สมดั่งเป็นงานบุญอย่างแท้จริง


 


 


เรื่องโดย: สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th


 


 


 


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ