‘บุญทางเลือก’ เสียสละช่วยงาน บริการสังคม
ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาตลอด 3 เดือนพุทธศาสนิกชนใช้วาระนี้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรมตามรอยวัตรปฏิบัติของสงฆ์ แม้ไม่เคร่งครัดเท่า แต่เดินสายมุ่งทำบุญไหว้พระเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคล นุ่งขาวห่มขาว ปฏิบัติทำสมาธิ ลด ละ เลิก ของมึนเมา
โลกที่เปลี่ยน สังคมที่ขยายตัว วิธีคิดจิตใจของผู้คนเปลี่ยนไปด้วย ในยุคนี้บุญที่มุ่งกระทำกับสงฆ์ในอดีตกาล ปัจจุบันไม่เร่งด่วนเท่ากับบุญที่เกิดจากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะนั่นคือการสร้างแนวทางของสังคมที่สงบเท่าเทียมและน่าอยู่ มูลนิธิสุขภาพไทย และเครือข่ายอาสาสมัครในสถานสงเคราะห์ ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ยกระดับการทำบุญด้วยการเป็นอาสาสมัคร เรียกรูปแบบการทำบุญครั้งนี้ว่า ทำบุญทางเลือก ซึ่งเป็นบุญที่ต้องการให้มีความสำคัญถึงระดับนโยบายที่หน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ควรให้การสนับสนุนและขยายผลต่อไปในสังคม
นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย ขยายภาพความชัดเจนการทำบุญทางเลือกว่าคือ การทำบุญด้วยการเสียสละช่วยงานคนอื่น บริการสังคมเป็นมรรควิธีหนึ่งในการทำบุญตามที่พระพุทธเจ้าได้สั่งสอน ด้วยมิติของบุญมีความหมายกว้างออกไปถึงกาย วาจา ใจ (จิต) สังคม และปัญญา บุญจึงไม่ใช่เรื่องเพื่อความสุขของตัวเองเท่านั้น แต่การทำบุญนั้นก็เพื่อความสุข ความเจริญงอกงามของสังคมหรือของมนุษย์ทั้งหมด
“อยากขยายความหมายของคำว่าบุญออกไปในสังคม โดยให้คนในสังคมหันมามองเด็กที่ขาดโอกาสในทุกเรื่อง เช่น ไม่มีพ่อแม่ ครอบครัว หรือเกิดมาร่างกายสติปัญญาไม่สมบูรณ์ เด็กเหล่านี้ไม่ได้ต้องการทรัพย์สิน เงินทอง แต่อยากได้เพียงความรัก ความอบอุ่นช่วยส่งเสริมพัฒนาการ และต้องการการดูแลเท่านั้น เพียงท่านแบ่งเวลาในช่วงหลังเลิกงานหรือวันหยุด ด้วยการมาเป็นอาสาสมัคร เพราะเด็กในสถานสงเคราะห์ ทั้ง 4 บ้าน ได้แก่ สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพิการทางสมอง และสติปัญญา (บ้านเฟื่องฟ้า) ยังขาดคนที่มาช่วยดูแลเด็ก ๆ อีกจำนวนมาก”
ตัวแทนของคนที่ได้ทำบุญทางเลือก น.ส.สรณีย์ สายศิลป์ อาสาสมัครบ้านพญาไทเล่าว่า งานอาสาสมัครเป็นบุญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อตนเอง เป็นทางเลือกหนึ่งที่สอดคล้องกับหลักทางพุทธศาสนา หากมองเชิงวิชาการบุญทางศาสนามี 10 ข้อ ถ้าแบ่งออกเป็น ทาน ศีล ภาวนา สำหรับการให้เวลาเป็นอาสาสมัคร คือ เวยยาวัจจมัย คือ การทำบุญด้วยการขวนขวายรับใช้ผู้อื่น ที่อยู่ในขอบข่ายของศีลและธรรม เช่น ช่วยเป็นธุระ จัดการในงานบุญ งานกุศล ของส่วนรวมที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม หรือ ขวนขวาย ทำกุศลต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การพยาบาลผู้เจ็บไข้ การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยต่าง ๆ
ด้านนายธนัช นฤพงศ์ อดีตคนทำงานด้านการเงิน อาสาสมัครบ้านปากเกร็ดกล่าวว่า ทำมา 3 ปีครึ่งแล้ว จากสารถีที่ต้องมารับส่งภรรยามาทำดีด้วยการเลี้ยงเด็ก มาบ่อย ๆ ก็เริ่มสนใจจึงสมัครมาเป็นอาสาสมัครนวดสัมผัสเด็กก่อน 3 เดือน ซึ่งมีหลายคนมองว่าไม่น่าจะเหมาะสมกับผู้ชายแต่ก็ทำได้ เมื่อได้นวดสัมผัสเด็ก นอกจากร่างกายเด็กจะแข็งแรงแล้วเรื่องของจิตใจสำคัญมาก เพราะเด็กในสถานสงเคราะห์ในเรื่องอาหารมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่จิตใจนั้นสำคัญกว่าด้วยอัตราส่วนของแม่หรือพี่เลี้ยงเด็กมาตรฐานต้องเป็น 1 ต่อ 5 คน แต่ในความเป็นจริงขณะนี้ อยู่ที่ 1 ต่อ 15 คน ใช้เวลาดูแลเด็กตลอด 24 ชั่วโมง เป็นงานที่หนักและเหนื่อยมาก
บุญทำแล้วจิตใจดี สงบ เย็นขึ้น ทางพุทธศาสนากล่าวไว้ว่าทุกคนได้รับผลบุญอย่างแน่แท้แล้ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ขอบคุณภาพจาก : ธนาคารจิตอาสา