บุคลากรภาครัฐวิถีใหม่ สร้างได้ด้วยบันได 8 ขั้น
เรื่องโดย อัจฉริยา คล้ายฉ่ำ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก งานบุคลากรภาครัฐวิถีใหม่สู่การออกแบบองค์กรสุขภาวะ
ภาพโดย ภัณฑิรา แสวงดี Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
องค์กรภาครัฐจะมีประสิทธิภาพได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้มีความสามารถทำงานได้ดี ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเชิงสุขภาวะ เน้นความสุขในที่ทำงานและให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตการทำงานมากขึ้น
จับไปที่ “โครงการบรูณาการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานองค์กรภาครัฐสู่การปฏิวัติอย่างยั่งยืน” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องคุณภาพชีวิตของบุคลากรภาครัฐ สู่การบริการวิถีใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้องค์ความรู้เป็นฐานควบคู่กับการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดองค์กรสุขภาวะ เป็นสำคัญ
จึงเป็นที่มาของการจัดงาน “บุคลากรภาครัฐวิถีใหม่สู่การออกแบบองค์กรสุขภาวะ” เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ที่มีการสานพลังของภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงาน องค์กรสุขภาวะภาครัฐ เครือข่ายนักสร้างสุของค์กร (นสอ.) และองค์กรอื่น ๆ ที่สนใจเข้ามาร่วมเปิดเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์
สอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายระยะ 10 ปี ของแผนสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร สสส. ที่ต้องการสร้างองค์ความรู้ ขยายผล ต่อยอดนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานในองค์กรภาครัฐ สู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน ให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กร
“…การสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร ภายใต้แนวคิดองค์กรสุขภาวะ “Happy Workplace” เป็น 1 ในนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ไตรพลัง สสส.และภาคีเครือข่าย ที่ยังคงเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรสุขภาวะของนักบริหารภาครัฐ สนับสนุนบุคลากรภาครัฐที่มีกำลังคนกว่า 3 ล้านคน ให้ปฏิบัติราชการรองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความผูกพันในองค์กร ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดเวที
เติมเต็มถึงความสำคัญอีกด้วยว่า “บุคลากรรัฐเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของการดูแลงานระบบประเทศ” ก็คงจะไม่ผิด เพราะความมั่งคั่งของธุรกิจขึ้นอยู่กับสุขภาพของคนทำงาน ฉะนั้น บุคลากรภาครัฐสมควรได้รับการดูแลในทุกมิติ รู้จักการลำดับความสำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ครอบครัว เพื่อน สุขภาพ และจิตวิญญาณ เพื่อรักษาความผาสุกของร่างกายและจิตใจตนเอง” ฟังแบบนี้แล้ว จะไม่ให้ใจของคนที่ได้ยินในวันนั้นพองโตได้ไง
ขณะเดียวกัน ดร.กิตติพจน์ เพิ่มพูล ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้จัดการโครงการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานองค์กรภาครัฐสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน สนับสนุน โดย สสส. อ้างถึง ผลการสำรวจคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความผูกพันในองค์กรภาคีเครือข่ายภาครัฐ 58 องค์กร แม้จะพบปัญหาความต้องการสนับสนุนองค์ความรู้ นวัตกรรมเครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานก็ตาม
ภายในงานทุกคนแทบจะได้ทุกคำตอบจากการสานพลังภาคีเครือข่ายองค์กรฯ ที่ได้มานำเสนอนิทรรศการในธีม “Journey of Happy Workplace : เส้นทางแห่งความสุขที่เดินร่วมกัน” ซึ่งนวัตกรรมจะนำไปสู่การถอดบทเรียนการทำงาน แนวทางขับเคลื่อน “การสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรภาครัฐ” ในยุคการทำงานวิถีใหม่ เพื่อให้เกิดการทำงานมีประสิทธิภาพ คล่องตัว ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด เช่นกัน
เห็นได้จาก แนวทางขั้นตอนการพัฒนาสู่องค์กรสุขภาวะภาครัฐ 8 Step ประกอบดัวย
Step 1: ตรวจเช็กสภาพขององค์กร/วัดระดับความสุขในองค์กร
Step 2: ประชุมหารือกับผู้บริหาร เพื่อนำเสนอสภาพปัญหาขององค์กร/กำหนดแนวทางและนโยบายสร้างเสริมสุขภาพวะในองค์กร
Step 3: ตั้งคณะทำงานรับผิดชอบ/กำหนดบทบาทหน้าที่ และวางแผนการทำงานร่วมกัน
Step 4: ออกแบบวิธีการที่เสริมสร้างสุขภาวะ พัฒนาความผาสุก และความผูกพันของบุคลากรที่มีต่อองค์กร ทั้งมิติการทำงาน ตัวเอง สังคม เศรษฐกิจ
Step 5: ดำเนินกิจกรรมสร้างสุขภาวะที่ดีต่อองค์กร ตามแผนโครงสร้างสุขภาวะองค์กร
Step 6: สรุปบทเรียน ประเมินผล เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป
Step 7: พัฒนาจุดแข็งอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่องค์กรสุขภาวะต้นแบบ
Step 8: สร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งความสุข เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสร้างสุขภาวะขององค์กรให้ยั่งยืนตลอดไป
ดังนั้น ฉากทัศน์ในยุคที่โลกถูกทำให้แคบลงด้วยอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์สื่อสาร และระบบ Cloud ทำให้เงื่อนไขในการทำงานไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในออฟฟิศ และไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาอีกต่อไป
ปัจจุบันเทรนด์ของการทำงานจึงไม่ใช่แค่ Work Life Balance แต่จะกลายเป็น Work Lift Integration แนวคิดการทำงานแบบผสานงานกับการใช้ชีวิตเข้าด้วยกันชนิดที่ “ไร้รอยต่อ” หาเงินได้จากการใช้ชีวิต มีความยืดหยุ่น สามารถออกแบบชีวิตที่ต้องการ และมีความสุขได้ในทุกองค์กร
“คนสำราญ งานสำเร็จ” เป็นคำอุปมาอุปไมยที่ยังคงใช้ได้เสมอ หากบุคลากรภาครัฐมีสุขภาวะองค์กรที่ดี มีความสุขในการทำงานมากขึ้น ประชาชนก็จะได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่สังคมสุขภาวะที่ดีและยั่งยืน
สสส.และภาคีเครือข่ายเชื่อเหลือเกินว่า งานบุคลากรภาครัฐวิถีใหม่สู่การออกแบบองค์กรสุขภาวะ จะเป็นแนวทางในการต่อยอดนโยบายการพัฒนาศูนย์สุขภาวะองค์กรภาครัฐในอนาคต ได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน