“บีท 72” จังหวะ…บำบัดใจ

เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th


ภาพประกอบโดย นัฐพร  ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ


ข้อมูลบางส่วนจาก http://www.dms.moph.go.th/dmsweb/infocus/music_0909.pdf และหนังสือ ดนตรีเปลี่ยนคน คนเปลี่ยนสังคม บทเรียนจากการติดตามและประเมินผลโครงการดนตรีสร้างสุข สสส.


 “บีท 72” จังหวะ...บำบัดใจ thaihealth


เมื่อจังหวะเสียงเพลงดัง น้อยคนนักที่จะไม่โยกตามเสียงเพลง ไม่ว่าจะร้องเพลงตาม โยกตัว เคาะเท้า ขยับนิ้วมือ ฯลฯ นั่นหมายความว่า ตัวเราและเสียงเพลงกำลังมีจังหวะและท่วงทำนองเดียวกัน และไม่ว่าเราจะสุข เศร้า เหงา หรือดีใจ จังหวะของเพลงและเสียงเพลงก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกเหล่านั้น


ลองสังเกตให้ลึกลงไปอีกนิด ในห้วงเวลาของความเศร้า ทำไมบางเพลงดึงให้เราเศร้าลงไปอีก ราวกับว่า กำลังอยู่ในพายุของความเศร้าที่พัดกระหน่ำความรู้สึก หรือเวลาที่เรามีความสุข จังหวะเพลงที่สนุกสนาน ก็ยิ่งทำให้ทวีความรู้สึกสนุกและมีความสุข ท้องฟ้าสดใส ยิ้มไปกับลมพัดใบไม้ไหวอย่างไม่มีสาเหตุ


นั่นก็เพราะว่า “องค์ประกอบของดนตรี” มีผลกับร่างกายและจิตใจเรา ไม่ว่าจะเป็น จังหวะ (Rhythm) ช่วยเสริมสร้างสมาธิ และช่วยผ่อนคลาย ระดับเสียง (Pitch) ในระดับต่ำ และระดับสูงปานกลาง ช่วยให้รู้สึกสงบ ความดัง (Volume) ในระดับเบานุ่ม ทำให้เกิดความสุขสงบ สบายใจ ทำนองเพลง (Melody) ช่วยระบายความรู้สึกส่วนลึกของจิตใจ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และคลายความกังวล การประสานเสียง (Harmony) ช่วยวัดระดับอารมณ์ความรู้สึกได้ โดยดูจากอาการที่แสดงออกมาเมื่อฟังเสียงประสานต่างๆ


จังหวะ 72 บีท


ภาษาดนตรีเรียกจังหวะที่อยู่ระหว่าง 70–80 บีท ว่า อะดาจิเอตโต (Adagietto) เป็นจังหวะช้า สบาย ๆ ทางการแพทย์ ใช้เสียงดนตรีบรรเลง แบบไลต์มิวสิค ในจังหวะช้าๆ ก่อนที่ผู้ป่วยจะผ่าตัด เป็นการทำให้จิตใจคนไข้สงบ บรรเทาอาการกังวล เครียด และหลังผ่าตัดเสร็จก็เปิดเพลงบรรเลง เพื่อลดความเครียดจากอาการปวดแผล และบำบัดจิตใจอีกด้วย


ดนตรีสามารถลดอาการเครียด หรือวิตกกังวลตลอดเวลาของคนไข้โรคซึมเศร้าได้ โดยใช้เสียงเพลงเข้ามาแทนที่เวลาที่คนไข้วิตกกังวล พร้อมกับกิจกรรมร้องเพลงจนเกิดสมาธิ เพื่อให้เกิดการผ่อนคลาย  เอลิซาเบธ สก็อต (Elizabeth Scott)  ที่ปรึกษาด้านสุขภาพ  ของสถาบัน THE AMERICAN INSTITUTE OF STRESS รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลไว้ และหลังจากการทำการศึกษาผลของเพลงต่อการรักษาโรค ก็พบว่า เพลงสามารถช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ และช่วยให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น หมายถึงภาวะผ่อนคลาย


 “บีท 72” จังหวะ...บำบัดใจ thaihealth


วิธีเลือกเพลงให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการผ่อนคลายหรือบำบัด (เอลิซาเบธ สก็อต)


1. เลือกเพลงที่ท่วงทำนองช้าๆ สบายๆ  และเป็นเสียงของธรรมชาติ โดยจะมีคลื่นจังหวะที่ 72 บีท (beat) ต่อ 1 นาที ไม่ดังมากจนเกินไป ซึ่งเท่ากับอัตราการเต้นของหัวใจมนุษย์ในภาวะปกติ และไม่ควรฟังเสียงดังเกิน 80 เดซิเบล ถ้าฟังก่อนเริ่มเรียน เริ่มทำงาน ช่วงพัก จะทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีสุขภาพจิตดีขึ้น ช่วยลดความเครียดได้


2. ชำระล้างอารมณ์ด้วยเสียงเพลง ด้วยการฟังเพลงใน 20 นาทีแรก และหลังจากนั้นให้ฟังอย่างตั้งใจ โดยใส่หูฟัง นอนบนพื้นราบ และพุ่งความสนใจไปที่เสียงเพลง พร้อมหลับตาลง


3. ตัดเรื่องขุ่นข้องหมองใจออกจากความคิด ขณะที่เพลงกำลังบรรเลง มุ่งความสนใจที่ลมหายใจ ควบคุมการหายใจ ให้ลึก ช้า และสม่ำเสมอ และให้จิตใจจดจ่อกับเสียงเพลงจนเกิดสมาธิ


4. ถ้าต้องการกระตุ้นให้เกิดความคึกคัก ในขณะทำงานควรเลือกฟังเพลงเร็ว


5. ถ้าต้องการเสริมสร้างความคิด การฟังเพลงเด็ก เพลงย้อนยุค ช่วยให้เกิดความสงบได้ เพราะเป็นท่วงทำนองช้า


6. เมื่อเครียดมาก และไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ให้เดินออกกำลังกายเพร้อมฟังเพลงที่ชอบ ประมาณ 30 นาที


7. เมื่อความเครียดบรรเทาไประยะหนึ่ง ให้ตั้งใจฟังเสียงธรรมชาติรอบตัว 15-20 นาที ความเครียดจะลดลง


 “บีท 72” จังหวะ...บำบัดใจ thaihealth


ดนตรีบำบัดใจ


ทางการแพทย์สาขาต่างๆ ต่างเลือกใช้ “ดนตรี” ในการบำบัดผู้ป่วย เพื่อลดความเครียดและความกังวลลง ในทางของประชาชนทั่วไป ก็สามารถเลือกบำบัดจิตใจตัวเองด้วยเสียงเพลงด้วยเช่นกัน ซึ่งประโยชน์ของดนตรีบำบัด เช่น


1. ปรับสภาพจิตใจให้อยู่ในสภาวะสมดุล มีมุมมองเชิงบวก


2. ผ่อนคลายความตึงเครียด และความวิตกกังวล


3. สร้างทักษะ พัฒนาการเรียนรู้ และความจำ


4. กระตุ้นประสาทสัมผัสการรับรู้


5. เสริมสร้างสมาธิ


6. พัฒนาทักษะทางสังคม การสื่อสาร การเคลื่อนไหว


7. ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ


8. ลดอาการเจ็บปวด


9. เสริมกระบวนการบำบัดทางจิตเวช



ดนตรีเปรียบได้กับอาหาร 5 หมู่


สารอาหารทั้ง 5 หมู่ ทำหน้าที่แตกต่างกันตามแต่ละชนิด เพื่อสร้างเสริมให้ร่างกายแข็งแรง ในมิติของ ดนตรีก็มีคุณสมบัติเปรียบเหมือนสารอาหารทั้ง 5 หมู่ เช่นกัน เพราะจากการถอดบทเรียนจากเครือข่ายเยาวชนดนตรีสร้างสุข ของ  เกศินี จุฑาวิจิตร มหาวิทยาลัยนครปฐม แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ สสส. พบว่า ดนตรี ไม่ได้แค่ดนตรีที่ให้ความสนุกสนาน และความสุขแก่ผู้ร้อง ผู้ฟังเท่านั้น แต่คุณค่าของดนตรีที่ค้นพบคือ สารอาหารครบหมู่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีคิดและวิถีชวิตของเรา


ดนตรี เปรียบได้กับ คาร์โบไฮเดตร สร้างพลังการเรียนรู้ทุกๆ ด้าน เสริมขวัญและกำลังใจ


ดนตรี เทียบเคียงกับ โปรตีน ที่คอยซ่อมแซมและเยียวยาจิตใจที่สึกหรอให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความระลึกรู้ เกิดทักษะ จิตอาสา และทัศนคติในการมองโลก


ดนตรี เหมือน ไขมัน ทำหน้าที่เป็นพาหะ เคลื่อนย้าย และขนส่งเรื่องราวดีๆ ระหว่างบุคคล


ดนตรี ดุจ เกลือแร่และวิตามิน คอยเสริมแต่ง กระตุ้น ควบคุม เร่งเร้าให้ผู้ฟัง ผู้เล่น ได้ทั้งความสุขและความรู้


ดนตรี ไม่ต่างอะไรกับ น้ำ ที่ละลายความเป็นตัวตน


คุณค่าของดนตรีถูกพิสูจน์แล้วว่า นอกจากความบันเทิงยังช่วยบำบัด และสร้างสรรค์สังคมด้วย แล้วคุณล่ะ…วันนี้ได้ฟังเพลงแล้วหรือยัง?

Shares:
QR Code :
QR Code