บำบัดฝิ่นยุค 4.0
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
พืชล้มลุกปลูกง่าย ดอกสีสันสดใสสวยงามอย่าง "ฝิ่น" ที่หลายๆ คนคงจะเคยผ่านตา ในตำราเรียนสมัยเด็กกันมานั้น เชื่อได้ว่า สำหรับคนกรุงแล้ว คงไม่มีใครคิดหรอกว่า วันนี้ฝิ่นยังคงระบาดและเป็นปัญหาที่ ส่งผลกระทบกับสังคมอยู่ในขณะนี้
โดยเฉพาะในพื้นที่ อบต.แม่ตื่น รวมถึงอีกหลายพื้นที่ส่วนใหญ่ในแม่ระมาด ซึ่งมีภูมิประเทศที่รายล้อมด้วยเขาสูงป่าลึก ทำให้การเดินทางลำบาก และกลายเป็นความห่างไกลที่ไม่เฉพาะระยะทาง แต่เป็นการเข้าถึงบริการที่แทบเป็นศูนย์
เมื่อเข้าถึงบริการจากรัฐได้ยาก จึงไม่แปลก หากจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ฝิ่นเป็นยาบำบัดรักษาโรค จนเกิดปัญหาการ ติดฝิ่น และยิ่งไปกว่านั้น คือ ชาวบ้าน ยังมีการปลูกฝิ่นเพื่อจำหน่ายด้วย
"เฉพาะที่แม่ตื่น น่าจะมีคนที่ติดฝิ่นอย่างต่ำ 500 คน เพราะเป็นพื้นที่ปลูกด้วย จึงมีการใช้กันแพร่หลายระดับครอบครัว ทีเดียว เรียกว่าบางบ้านนี่ พ่อแม่ลูกติดหมด เขามองว่าฝิ่นเป็นยาบรรเทาปวดฉุกเฉินสำหรับเขา ปัญหาคือหลังจากทำไร่ เขาไม่รู้ว่าจะทำอะไรอื่น ก็เลยปลูกฝิ่น" วีระพล บูชาคุณธรรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก สะท้อนให้ฟังถึง ปัญหา โดย อ.แม่ระมาด ถือเป็นอีกหนึ่งอำเภอที่มีการปลูกฝิ่นมากที่สุดอันดับสอง ในประเทศ รองจากอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะตำบลแม่ตื่นนั้น กล่าวได้ว่า เป็นพื้นที่สีแดงเลยก็ว่าได้
นพ. จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด จ.ตาก เพิ่มเติมถึงข้อมูลล่าสุดที่ทางโรงพยาบาลแม่ระมาดสำรวจพบ ทำให้ทราบว่า ไม่ใช่เฉพาะชาติพันธุ์เท่านั้นที่ติดฝิ่น ปัจจุบันมีคนไทยพื้นราบมากกว่าหนึ่งในสี่ ที่ติดฝิ่นมารักษากับทางโรงพยาบาล และที่น่าเป็นห่วง มากที่สุด คือเริ่มมีกลุ่มคนรุ่นใหม่หันมา เสพฝิ่นมากขึ้น
"เขาบอกว่าหาใช้ง่าย สะท้อนให้เห็นว่า การแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดโดยการไป กดห้ามอีกตัว ทำให้เขาหนีไปใช้กลุ่มอื่น" นพ. จิรพงศ์กล่าวถึงเหตุผลที่คนรุ่นใหม่ ในพื้นที่หันมาเสพฝิ่น
ในอดีตการเสพฝิ่นใช้วิธีสูบ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้วิธีฉีดกันมากขึ้นเนื่องจาก ออกฤทธิ์เร็วกว่า และใช้ปริมาณน้อยกว่า แต่ผลร้ายที่ตามมาคือผู้เสพจำนวนมาก ติดเชื้อโรคร้าย ทำลายสุขภาพในระยะยาว
"ผู้รับการบำบัดฯ กว่า 400 คน พบว่า มี 250 คนที่ใช้วิธีฉีด ทำให้พบผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการติดโรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบบี และซี จากการใช้เข็มฉีดยาไปด้วย ซึ่งแม้ปัจจุบันอาการจะยังไม่ปรากฏชัด แต่ในระยะสิบปีอาจมีโอกาสเป็นตับแข็ง ยี่สิบปี อาจเป็นมะเร็งตับ ปัญหานี้เหมือนเป็นระเบิดเวลาในอนาคตที่เราต้องจัดการ ต่อไป"
เดิมโรงพยาบาลแม่ระมาดใช้วิธีบำบัดรักษาผู้ติดฝิ่นที่เรียกว่า Detoxification คือใช้ถอนฤทธิ์ยา หลักการใช้ยาทดแทน คือให้ยา 3 วันแรก และลดยาลงไปเรื่อยๆ โดยไม่ให้ผู้ป่วยทราบ รวมระยะเวลา 21 วัน แต่วิธีการนี้ต้องจำกัดพื้นที่ผู้ป่วยดูแลให้ยาต่อเนื่อง พบว่าร้อยละ 99 ผู้ป่วยเมื่อกลับสู่ชุมชนก็กลับไปเสพเช่นเดิม
"โครงการหลวงและสถาบันธัญลักษณ์ ร่วมด้วยมูลนิธิโอโซนเข้ามาแนะนำว่าวิธีที่เราทำมันล้าสมัย เพราะปัจจุบันมีวิธีการใหม่คือ การให้เมทาโดนระยะยาว โดยไม่มีการลดจำนวน เมื่อเราดูปัจจัยในพื้นที่ ผู้ที่ติดส่วนใหญ่ใช้วิธีฉีดซึ่งรุนแรงกว่าและทำให้โอกาสเลิกได้น้อย จึงมองว่าวิธีการนี้เป็นทางเลือกที่ดี และเริ่มใช้การบำบัดแบบใหม่นี้ตั้งแต่ปี2556" คุณหมอจิรพงศ์ กล่าวถึงการบำบัดโดยการให้เมทาโดนระยะยาว ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับว่า ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบัน สิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมการบำบัดยาเสพติดด้วยยาเมทาโดนระยะยาวในปี 2551 ก็ได้ขยายให้สิทธิประโยชน์การบำบัด ยาเมทาโดนระยะยาวครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยนอกในกลุ่มผู้ป่วยติดสารเสพติด ในกลุ่มฝิ่น (โอปิออยด์) และอนุพันธ์ของฝิ่นโดยสมัครใจ
ทั้งนี้ ยาเมทาโดน จัดเป็นยาเสพติด ประเภท 2 ต้องมีการควบคุมพิเศษ เนื่องจาก เสพติดได้และเป็นอันตรายแก่ผู้รับบริการถึงชีวิต ผู้ให้บริการจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจวิธีรักษาตามหลักการทางการแพทย์ ที่ถูกต้อง ขณะที่หน่วยบริการที่จะมีสิทธิ์ เบิกจ่ายยาเมทาโดนได้ ต้องผ่านการ ขออนุญาตขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาล พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2552
พร้อมกันนี้ ยังได้มีการทำงานเชิงรุก โดยลงพื้นที่ไปเปิดคลินิกที่ รพ.สต.แม่ตื่น ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเป็นคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ ความเป็นพี่น้องเชื้อสายชนเผ่าเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายหรือจะไปจับกุมเขา ทำให้สามารถติดตามสถานการณ์และพูดคุยปรึกษากันได้ตลอด
ในกระบวนคิดเชิงรุก ทำให้แต่ละเดือน คณะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของที่นี่จะต้องวางแผนเส้นทางไปตามจุดบริการรับ เมทาโดนทั่วพื้นที่ เฉลี่ยทุก 1-2 สัปดาห์
"เมื่อวันพุธเราไปห้วยน้ำเย็น เมื่อวานไปคำหวัน และมาที่นี่วันนี้ (แม่ตื่น) แล้วค่อยลงไปแม่ระมาดอีกที และวนขึ้นมาเป็นวงกลมแบบนี้ไปตลอด แต่ถ้าฝนตกแบบนี้ย้อนกลับไปไม่ได้" หนึ่งในเจ้าหน้าที่เล่าถึงกิจวัตรของทีมงานระหว่างนั่งรถโฟร์ลีล ไปยังปลายทาง
ณ จุดบริการ บ้านแม่ตื่น..
แม้วันนี้ฝนจะตกปรอยๆ แต่ชาวบ้านหลายคน เริ่มทยอยเดินลงมาจากตัวหมู่บ้านด้านบน โดยพวกเขามีเป้าหมายเดียวกัน คือมาตามที่นัดรับการตรวจและรับขวดยา เมทาโดนกับเจ้าหน้าที่
"อันดับแรกจะเป็นการตรวจความดันทั่วไปและตรวจปัสสาวะหาดูว่ามีสารฝิ่นในร่างกายหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าเขากลับไปใช้ โดยคนไข้จะมีสมุดประจำตัวจากเราเล่มหนึ่ง เป็นหลักฐานยืนยันว่าเขามีสิทธิ์ครอบครองเมทาโดนที่เราจ่ายให้ จะมีรูปติดป้องกันแอบอ้าง" นพ.จิรพงศ์ เริ่มอธิบายทีละขั้นตอน
"พอเขาถือผลไปลงทะเบียนข้างบนจะมีห้องตรวจแพทย์และถามประวัติผู้ป่วยเพื่อประเมินปริมาณการให้ยาเมทาโดน โดยดูว่ายาที่ให้ไปเพียงพอหรือไม่ หากปวดกล้ามเนื้อ แปลว่าไม่พอ ถ้าง่วงซึมแปลว่ามากไป แต่ส่วนใหญ่เป็นคนไข้เก่าไม่ต้องปรับมาก"
กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาเริ่ม 9 โมงถึงเที่ยง ก่อนพบแพทย์จ่ายยา จะมีการประชุมผู้รับการบำบัด ให้ความรู้เรื่องการบำบัด ส่วนบางรายที่มาไม่ได้ก็จะมีการเยี่ยมบ้าน เพื่อมอบตัวยาน้ำสีเขียวใสที่ถูกปรับปรุงรสชาติและปริมาณให้เหมาะกับ การกิน สำหรับอยู่ได้ 1 วันแทนการที่ต้องฉีดฝิ่นวันละ 3-4 ครั้ง ซึ่งเมทาโดนต้นทุนถูกกว่าค่าใช้จ่าย 10 บาทต่อคนต่อวัน ขณะที่ฉีดฝิ่น 300 บาทต่อคนต่อวัน
"เมทาโดน" ที่ทีมแพทย์จะใช้เทคนิคผลิตสีให้แตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันคนแอบเอาไปลักลอบขายต่อ
วันนี้ทีมงานทุกคนทำงานขะมักเขม้นเช่นเคย ตั้งหน้าตั้งตาซักถามและบันทึกข้อมูล ลงไปในสมุดประจำตัวเล่มน้อยที่ถือในมือ แม้ในใจลึกๆ จะรับรู้กันดีว่า ให้ชาวบ้าน เลิกฝิ่นเด็ดขาดมันอาจเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่ ทุกคนมีความหวังคือการช่วยให้เขาลดการใช้ฝิ่นลง เพราะผลที่ตามมาคือร่างกายและสติปัญญาก็จะสดใสขึ้น และหากว่า เลิกได้นอกจากผลดีที่เกิดกับตัวเองแล้ว ยังจะสามารถช่วยชีวิตอีกหลายคนในครอบครัว เพราะคนติดฝิ่น รายจ่ายต่อวันที่ต้องใช้สำหรับซื้อมาเสพไม่ต่ำกว่าวันละ 200-300 บาท
นอกจากมารับยา เจ้าหน้าที่ยังจะมี กฎกติกาให้ผู้รับการบำบัดทุกคนจะต้องมีบัดดี้หนึ่งคน อาจเป็นคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง หากไม่มีก็จะมี อสม.มาเป็นบัดดี้ให้ เพื่อช่วยดูแลควบคุมผู้ป่วยที่ติดฝิ่นว่า เขากลับไปใช้ไหม และคอยเป็นพลังเสริมเพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพราะท้ายสุดแล้ว ผู้ป่วยจะเลิกได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับแรงใจของครอบครัวมากที่สุด
"มีครอบครัวหนึ่ง พ่อติดฝิ่น เมื่อก่อนลูกคิดว่าตัวเองคงไม่มีโอกาสได้เรียนแล้ว พอเขาเลิกได้ ก็สามารถส่งลูกไปเรียนต่อที่อื่น เด็กดีใจมากที่ชีวิตกลับมามีหวังอีกครั้ง"
ระหว่างการบำบัดแต่ละครั้งจะมีผู้นำชุมชนทั้งภาคท้องถิ่นและท้องที่เข้ามาให้กำลังใจ พูดคุยทำความเข้าใจ ผลที่ตามมาคือผู้รับการบำบัดเข้าสู่ระบบการรักษาจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ประมาณการเข้ามารับการรักษา และ ยังมีการกระจายจาก รพ.สต ไปศูนย์ย่อย
"สเต็ปต่อไปเราอยากเริ่มขยายต่อยอด การให้งบประมาณแก่ชุมชนแทนการให้รีวอร์ดรายคนไปต่อยอดทุนชุมชน อีกส่วนคือเราอยากทดลองว่าในชุมชนที่เข้มแข็ง และมีอาสาสมัครในชุมชนเขาจะสามารถจ่ายยาแทนเราได้หรือไม่ โดยเราไปแนะนำ สอนและเริ่มกระบวนการให้ จากนั้นให้เขาเป็นผู้จ่ายยา เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเอายาไปขายหรือฉีด โดยการให้ผู้รับการบำบัดให้กินต่อหน้า"
ด้าน ตัวแทนหน่วยงานด้านส่งเสริมสุขภาวะ ภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ที่กล่าวหลังจากลงพื้นที่รับฟังสถานการณ์จริง ว่า "วันนี้เรายังได้เห็นกระบวนการบริการสาธารณสุขเชิงรุก ได้วิธีการบำบัดรักษาแบบใหม่เหมาะสมกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดฝิ่นในพื้นที่แนวชายแดน ภายใต้การดำเนินงาน ของบุคลากรจากโรงพยาบาลแม่ระมาด และวิธีการสร้างความร่วมมือของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ สสส.จึงเข้ามาดูว่าจะช่วยเติม สิ่งไหนที่เป็นด้านวิชาการเพื่อส่งเสริมยกระดับ การทำงานให้กับทีมเจ้าหน้าที่ได้บ้าง อีกสิ่งที่เราต้องการคือการเสริมให้เขาเข้มแข็ง มีความรู้สึกในการเป็นเจ้าของปัญหาร่วมกัน แน่นอน เรามองว่าไม่ใช่หน้าที่โรงพยาบาล เพราะนี่คือปลายทาง เป็นการมารักษาแล้ว แต่ สสส.มองว่า เรายังมีงานอื่นๆ ในมิติการป้องกันที่อาจ ขับเคลื่อนได้ ก่อนที่จะเลยมาถึงกระบวนการ รักษาเป็นสิ่งที่ควรต้องทำควบคู่กันไป เพื่อลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดในกลุ่มชาติพันธุ์ และนี่คือการสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพ ให้กลุ่มคน แม้เขาจะด้อยโอกาสในการ เข้าถึงสิทธิ์ก็ตาม"
นับตั้งแต่มีคาราวานจุดบริการเมทาโดน นายก อบต. แม่ตื่นบอกว่า ปีนี้เริ่มเห็น ผู้ติดน้อยลง ที่ผ่านมา ท้องถิ่นจะทำงาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตลอดตัวเขาเองเป็นหนึ่งใน จิตอาสาที่ชักชวนพรรคพวกให้เข้ามารับการบำบัดร่วมโครงการนี้
"เรื่องหนึ่งที่เราจะชักจูงใจเขา จะบอกถ้าอายุมากขึ้นแล้วไม่มีแรงหาเงินไปซื้อยาจะทำอย่างไร ให้สมัครใจมารับยากับเราเถอะแม้ไม่ต้องรับจ้างก็อยู่ได้ใช้เมทาโดนแทน เพราะไม่ต้องไม่เสียเงิน ไม่มีปัญหาครอบครัวอีก ซ้ำไม่ต้องกลัวเจ้าหน้าที่ ถามว่าเขาจะเลือกทางไหน แต่ถ้าไม่สนิทเราบางทีก็จะไม่กล้าชวนนะ มีเหมือนกันสมาชิกที่เข้ามาก็ทนไม่ไหวกลับไปเสพ เราจะให้ทางเจ้าหน้าที่ตัดออกจากระบบเลย รอจนเขาทบทวนตัวเองว่าอยากเลิกจริง พร้อมเมื่อไหร่ ค่อยกลับมา เพราะไม่งั้นจะสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เดี๋ยวหาย เดี๋ยวกลับไปเสพ"
"คนที่ติดอยู่แล้วเลิกได้มีมากขึ้น แต่เราต้องให้เวลาเขา แม้จะตรวจซ้ำไม่พบสามสี่ครั้งเราก็ไม่วางใจ ยังคงดูแลเขาต่อเนื่อง เมื่อใดที่ใครพร้อมจริง เราจะประกาศว่าคนนี้ เป็นคนรับเมทาโดน ไม่เสพฝิ่น แต่จะให้เลิกเด็ดขาดไปเลย คงยากที่จะเลิกได้นะ ดังนั้นถ้า 100 คนมีเลิกได้สัก 2 คนก็สุดยอดแล้ว สำหรับเรา" วีระพล กล่าว
ในมุมมองของเขา เห็นว่า หากจะแก้ปัญหาฝิ่นอย่างยั่งยืน อีกสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันคือต้องส่งเสริมให้มีความเจริญ เข้ามาในแม่ตื่นมากขึ้น "ถ้าถนนดีขึ้น เจ้าหน้าที่ก็มาได้บ่อย เด็กมีโอกาสด้านการศึกษา เรื่องยาเสพติด ก็จะน้อยลงตาม" นายกฯ อบต. แม่ตื่น ตบท้ายถึงความหวังหากวันใดที่ความเจริญ เข้ามา