บารากุอันตราย ย้ำเป็นต้นตอติดยาเสพติด
กทม.ยันบุหรี่ไฟฟ้า บารากุอันตรายย้ำเป็นต้นตอติดยาเสพติด รณรงค์เลิกสูบ
แพทย์หญิงป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบำบัดผู้ติดยาเสพติด สำนักอนามัย กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้ประกาศเจตนารมณ์และรณรงค์ให้หน่วยงานของกรุงเทพมหานครทั้งโรงเรียน สถานพยาบาลในสังกัดเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ และเป็นต้นแบบ ให้แก่โรงเรียนและสถานบริการสาธารณสุขอื่นๆ โดยต้องทำงาน ในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการสูบบุหรี่มีการพัฒนารูปแบบหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นทางเลือกที่ผิดและสร้างความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องแก่ประชาชน
จากข้อมูลสถานการณ์การสูบบุหรี่ในปัจจุบันในภาพรวม ระดับประเทศ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ลดลง มีการลดสูบบุหรี่ มากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องจับตาคืออายุของผู้ที่เริ่มสูบบุหรี่เป็น เยาวชนอายุเฉลี่ย 15-18 ปี และส่วนหนึ่งที่มีปัญหาการใช้ สารเสพติดทั้งหมดมีประวัติการสูบบุหรี่ก่อนทั้งนั้น เฉลี่ย เยาวชนเริ่มหัดสูบบุหรี่อายุต่ำกว่า 15 ปี ส่วนหนึ่งมาจากสังคม สถานที่อยู่อาศัยเอื้อต่อการลองสูบบุหรี่ มีผู้สูบบุหรี่ในบ้าน ในชุมชนเป็นแบบอย่าง
ที่ผ่านมามีการพัฒนารูปแบบการสูบที่หลากหลาย อาทิ การสูบบุหรี่ไฟฟ้า บารากุ โดยมีการกล่าวอ้างว่าสูบแล้วไม่เป็นพิษเป็นภัย ไม่มีสารก่อมะเร็ง ดีกว่าสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างที่ผิด ยืนยันว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ ซึ่งควรที่จะต้องมีการควบคุมหรือออกกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้
"บุหรี่เป็นต้นเหตุและทำลายสุขภาพอย่างร้ายแรง และ เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องเอาจริงเอาจังในการรณรงค์ให้ความรู้ตั้งแต่วัยเด็ก เพราะผลสำรวจพบว่า เด็กที่ขอร้องพ่อ-แม่ที่สูบบุหรี่ หรือแสดงออกชัดเจนว่าไม่ชอบเป็นเรื่องผิด เช่น บอกเหม็น ขอให้เลิกสูบ จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วย ให้พ่อ-แม่ลดปริมาณการสูบลง หรือเลิกสูบในที่สุด การรณรงค์ปลอดบุหรี่จึงเป็นการป้องกันและลดผู้ติดสารเสพติดอื่นๆ ได้" พญ.ป่านฤดี กล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยกำหนดให้มีพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 และมีกฎหมายการติดตั้งสติ๊กเกอร์หรือป้ายห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ 100% เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่จากควันบุหรี่มือสองเป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้ผู้ต้องการเลิกสูบบุหรี่ทำได้ง่ายขึ้น จากข้อมูลเฉลี่ยคนไทยที่เลิกบุหรี่ได้จะ ติดบุหรี่นานถึง 23 ปี มีเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ ที่เหลือจะติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต ซึ่งประเทศไทยพบ 2 ใน 3 ของคนที่ติดบุหรี่จะเริ่มติด ก่อนอายุ 18 ปี ที่เหลือติดก่อนอายุ 25 ปี
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต