บาระกู่-บุหรี่ผลไม้ ภัยใหม่วัยโจ๋!!

ชี้!! มีนิโคติน-สารก่อมะเร็งไม่แพ้ยาสูบ

 

 

          มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่แสดงความเป็นห่วงกลุ่มวัยรุ่นไทย ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการสูบหรี่เถื่อน ที่ให้ผลร้ายแรงกว่าบุหรี่ธรรมดา แนะรัฐกวดขัน

 

          องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 31 พ.ค. ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยปีนี้กำหนดคำขวัญว่า tobacco health warnings เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลของทุกประเทศ ให้คำเตือนบนซองบุหรี่อย่างมีประสิทธิภาพสื่อถึงพิษภัย และอันตรายที่แท้จริงจากการใช้ยาสูบ ทั้งต่อผู้ที่สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง

 

          ในแต่ละปี มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสูบบุหรี่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับปีนี้ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลจาก รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกสูบบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หรือ สายด่วน 1600 สายเลิกบุหรี่ ระบุว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้บริการของผู้เลิกบุหรี่ ตั้งแต่เดือน ม.ค. – เม.ย. มีผู้ใช้บริการ 2,383 คน เป็นเพศชาย 1,942 คน หรือ 81.5% เพศหญิง 439 คน หรือ 18.4% โดยรับบริการอายุมากที่สุด คือ 82 ปี ที่น่าตกใจคือ อายุน้อยที่สุด เป็นเด็กอายุ 9 ขวบ ที่เลียนแบบเพื่อนในโรงเรียน และคนใกล้ชิด

 

          ขณะที่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า แนวโน้มในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา อัตราการสูบบุหรี่ของกลุ่มวัยรุ่นนั้นยังคงที่ และยังไม่มีทีท่าจะลดลง อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นผู้หญิง หากแยกเป็นกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด การสูบบุหรี่ของกลุ่มวัยรุ่นในต่างจังหวัด ยังไม่มีแนวโน้มลดลงเท่ากับกลุ่มวัยรุ่นในกรุงเทพฯ

 

          ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการควบคุมยาสูบยังเข้าไปไม่ถึง เช่น การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ อีกทั้งยังนิยมสูบบุหรี่ที่มวนเอง ซึ่งไม่บรรจุซองที่เหมือนบุหรี่ยี่ห้อทั่วๆ ไป ดังนั้น จึงไม่มีการติดภาพคำเตือน นอกจากนั้น บุหรี่ประเภทนี้ยังมีราคาถูก เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความรู้อย่างเพียงพอ เกี่ยวกับโรคร้ายต่างๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ตัวเลขการสูบบุหรี่ของกลุ่มวัยรุ่นชาย ในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ 23 – 24% แต่ตัวเลขของกลุ่มวัยรุ่นชายในพื้นที่ต่างจังหวัดอยู่ที่ 40%

 

          อีกปัญหาที่กำลังจับตาอย่างใกล้ชิด คือ การระบาดของบุหรี่เถื่อน เช่น บาระกู่ บุหรี่ชูรส บุหรี่ผลไม้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ไม่มีการปราบปรามอย่างจริงจัง ในกรุงเทพฯ ผู้ค้าสามารถวางขายอุปกรณ์สูบบาระกู่ได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย ขณะที่ยาเส้นที่ใช้ในการสูบถูกห้ามนำเข้า เกิดความไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากผู้เสพยังสามารถหาซื้ออุปกรณ์สูบได้ และการลักลอบหาซื้อยาเส้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก” เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กล่าว

 

          ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อไปว่า ความไม่รู้ของผู้เสพในเรื่องบาระกู่ ยังทำให้เกิดการเสพติดได้ง่าย เนื่องจากผู้เสพคิดว่าไม่มีอันตราย เพราะบาระกู่ผสมกากผลไม้ และมีกลิ่นหอม อีกทั้งกระบวนการสูบต้องผ่านน้ำก่อน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สมุนไพรหรือผลไม้ที่ถูกเผา จะเกิดสารก่อมะเร็งขึ้น รวมทั้งระดับนิโคติน และก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ในยาเส้นเหล่านี้ ไม่ได้น้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปและอาจมีมากกว่า

 

          สำหรับสิ่งที่ร้ายกว่าบาระกู่ คือ พวกบุหรี่ชูรส และบุหรี่สมุนไพรนั้น ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า บุหรี่เหล่านี้คือยาเส้นที่ผสมกลิ่นผลไม้ ทำให้กลุ่มวัยรุ่นเข้าใจผิดว่าไม่มีอันตราย เนื่องจากมีรสชาติหวาน หอม ขณะที่ซองบุหรี่ กลิ่น และสี ถูกปรุงแต่งให้เหมือนผลไม้เมื่อสูบแล้วจึงติดได้ง่าย แต่บุหรี่เหล่านี้คือสิ่งผิดกฎหมาย หาซื้อยาก เมื่อเสพติดแล้ว แต่ไม่สามารถหาซื้อได้ ผู้เสพจึงเปลี่ยนมาสูบบุหรี่ธรรมดา ที่วางขายอย่างถูกกฎหมายแทน ทำให้เกิดการติดบุหรี่อย่างหนักไปโดยปริยาย กลุ่มนักวิจัยและนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ จึงเปรียบบุหรี่ชูรส และบุหรี่สมุนไพร เป็นเสมือน starter ที่นำไปสู่การติดบุหรี่ธรรมดา ในเวลาต่อมา

 

          อย่างไรก็ตาม วิธีควบคุมและนำไปสู่การลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ ที่ได้ผลมากอีกหนึ่งวิธี คือ การปรับขึ้นภาษีบุหรี่ ซึ่ง ศ.นพ.ประกิตสนับสนุนแนวทางนี้ โดยเห็นว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมยาสูบ และลดจำนวนผู้สูบบุหรี่มากกว่าการรณรงค์ห้ามสูบ การติดภาพคำเตือน และการห้ามสูบในที่สาธารณะ อีกทั้งยังเป็นมาตรการที่ธนาคารโลกแนะนำ และผ่านการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง

 

          ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการวิจัยที่พบว่า ในจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง 4 ล้านคน มาจากการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ ที่ส่งผลต่อการขึ้นราคาบุหรี่ 60% ขณะที่เป็นผลจากการห้ามโฆษณา 20% และมาจากการรณรงค์เพียง 7% ดังนั้น ผลการวิจัยนี้ ก็สอดคล้องกับการดำเนินการของทั่วโลกที่ระบุว่าการปรับขึ้นภาษีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 

          ด้านการควบคุมการระบาดของบุหรี่เถื่อนนั้น นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีข้อสรุปว่า เดือน มิ.ย. จะเสนอการควบคุมการบริโภคบุหรี่ ทั้งบุหรี่เถื่อน และบุหรี่ถูกกฎหมายทั่วไปให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการ สสส. จะตั้งคณะทำงาน 2 ชุด เพื่อแก้ไขปัญหานี้

 

          นพ.พฤฒิชัย กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการชุดแรกจะเป็นคณะกรรมการอำนวยการทำหน้าที่กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหา ขณะที่คณะกรรมการอีกชุดจะเป็นคณะทำงานระดับปฏิบัติการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ทั้งการปราบปรามลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนตามแนวชายแดน หรือกองทัพมด การรณรงค์ให้ประชาชนเห็นโทษของบุหรี่ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม

 

          ขณะเดียวกัน รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเลิกสูบบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หรือ สายด่วน 1600 สายเลิกบุหรี่ ได้รวบรวมข้อมูลไว้ว่า ในประเทศไทยมีจำนวนบุหรี่ที่สูบเฉลี่ย 15.38 มวนต่อวัน มากที่สุดสูบ 90 มวนต่อวัน และน้อยที่สุด 2 มวนต่อวัน โดยผู้สูบบุหรี่ที่มารับบริการเลิก ให้เหตุผลว่า ต้องการเลิกเพื่อครอบครัว 48.6 % เพื่อสุขภาพ 45.9 % และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย 35.1 % โดยคนกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ 684,249 คน เฉลี่ยสูบ 10.21 มวนต่อคนต่อวัน คิดเป็นจำนวนบุหรี่ 6,986,386 มวน หรือ 348,977 ซองต่อวัน และมีคนไทยต้องเสียชีวิตชั่วโมงละ 4.7 คน ขณะที่ภาครัฐเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้สูบบุหรี่ มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท

 

          ปัจจุบัน ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่มีทางเลือกหลายทาง นอกจากวิธีเดิมๆ ที่เคยใช้กันมา โดย ผศ.กรองจิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษามูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พบว่า มีสารในวิตามินซี ที่ช่วยลดความอยากของนิโคตินได้ และช่วยฟื้นฟูร่างกายที่ทรุดโทรม ให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า จึงมีการนำมาใช้ช่วยเลิกบุหรี่ โดยเทคนิคการรับประทานผลไม้รสเปรี้ยวที่มีวิตามินซีสูง โดยเฉพาะมะนาวเมื่อนำไปใช้แล้วมีประสิทธิภาพได้ผลดีมาก เนื่องจากมะนาวมีผลต่อการทำงานของต่อมรับรสขม ทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป

 

          ส่วนวิธีกินมะนาวช่วยเลิกบุหรี่นั้น ผศ.กรองจิต กล่าวว่า ต้องหั่นมะนาวเป็นชิ้นเล็กๆ ให้มีเปลือกติดมาด้วย ขนาดเท่าหัวแม่มือ เมื่อมีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ ให้กินมะนาวแทน โดยอมแล้วค่อยดูดความเปรี้ยว จากนั้นเคี้ยวเปลือกช้าๆ นาน 3 – 5 นาที จะมีผลทำให้ลิ้นขม เฝื่อน จากนั้นดื่มน้ำ 1 ใน 4 แก้วนอกจากช่วยลดความอยากนิโคตินแล้ว เมื่อสูบบุหรี่จะทำให้รสชาติบุหรี่เปลี่ยนไป มีรสขมจนไม่อยากสูบ นอกจากนี้ ยังสามารถกินมะนาว หรือผลไม้ชนิดอื่น ที่มีความเปรี้ยวมากๆ ได้ทุกครั้ง ที่เกิดความอยากบุหรี่ แต่เมื่อเทียบกันแล้ว มะนาวจะได้ผลดีที่สุด

 

          ผศ.กรองจิต กล่าวต่อว่า การเลิกบุหรี่ ด้วยการกินมะนาว ส่วนใหญ่จะสามารถเลิกบุหรี่ได้ ภายใน 2 สัปดาห์ และไม่อยากสูบอีก ถือว่าชนะนิโคตินได้ มีการนำไปทดลองกับนักเรียนหลายคน จะรู้สึกว่าสูบบุหรี่แล้วไม่อร่อย รสชาติไม่เหมือนเดิม ทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่อีก อย่างไรก็ตาม แม้อาการทางกาย คือ ความอยากจะหมดไป แต่อาการทางใจบางครั้งจะยังมีอยู่ เช่น เศร้า หงุดหงิดเหมือนคนอกหัก คนรอบข้างต้องให้กำลังใจ และตั้งใจเลิกอย่างเด็ดขาด จะสามารถเลิกได้อย่างแน่นอน

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

 

update 01-06-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ