บาดเจ็บทางกีฬาที่พบบ่อยและแนวทางการช่วยเหลือ
ที่มา : หมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
ปัจจุบันนี้คนไทยเราตื่นตัวกันมากเกี่ยวกับการกีฬาและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เพราะทราบกันดีแล้วว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย จิตใจ สังคม และส่งเสริมคุณภาพชีวิต แต่บางครั้งนักกีฬาหรือผู้ออกกำลังกายอาจเกิดการบาดเจ็บได้จากอุบัติเหตุและขาดการเตรียมพร้อมในด้านสมรรถภาพทางกาย
ถ้าหากผู้เป็นนักกีฬา ผู้ฝึกนักกีฬา หรือผู้ออกกำลังกาย มีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกัน และช่วยเหลือเบื้องต้นเกี่ยวกับบาดเจ็บทางกีฬาที่พบบ่อย ก็จะเป็นประโยชน์มากต่อตนเองและเพื่อนนักกีฬา
บาดเจ็บทางกีฬาที่พบบ่อยๆ มีอะไรบ้าง
ผู้ที่เป็นนักกีฬาหรือผู้ออกกำลังกายหนักมักจะรู้ดี อย่างน้อยก็เคยประสบกับตนเองมาบ้างแล้ว หากปฏิบัติตัวไม่ถูก เช่น บีบนวดทันที หรือประคบน้ำร้อน ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้เป็นมากขึ้นหรือหายช้าไปอีก การบาดเจ็บดังกล่าว ได้แก่
- ช้ำหรือห้อเลือด
- เอ็นข้อยืดหรือฉีกบางส่วน ที่เราเรียกกันว่า ข้อเคล็ดหรือซ้น
- กล้ามเนื้อล้าและเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ
การบาดเจ็บเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากพิจารณาตามลักษณะกลไกของการบาดเจ็บก็จะพอแบ่งได้ 3 ลักษณะดังนี้ คือ
1. กระแทกโดยตรง เช่น หกล้มเข่ากระแทกพื้น หรือเตะฟุตบอลพลาด สันหน้าแข้งกระแทกกับเข่าอีกคนหนึ่ง ลักษณะนี้มักทำให้เนื้อเยื่อผิวหนังและชั้นใต้ผิวหนังได้รับบาดเจ็บเส้นเลือดฝอยแตกอาจมีอาการช้ำ ห้อเลือด ปวด บวม เป็นแผล หรืออาจมีกระดูกหักได้ (ถ้ารุนแรง)
2. แรงกระทำทางอ้อม เช่น วิ่งสะดุดหลุมแล้วข้อเท้าบิดเข้าด้านใน ทำให้เอ็นข้อหรือเอ็นกล้ามเนื้อถูกยืดเกินช่วงปกติหรือฉีกขาดบางส่วน จะมีอาการคล้ายกับแบบแรก แต่มักจะอยู่บริเวณใกล้ข้อ
3. แรงกระทำซ้ำๆ จนเกินความทนทานของเนื้อเยื่อ ลักษณะนี้จะพบได้บ่อยในกีฬาที่ใช้เวลานานและต่อเนื่องกันในการแข่งขัน เช่น วิ่งระยะไกล หรือกายบริหารบางท่าที่ยืดข้ออย่างแรงและซ้ำๆกันทุกวัน เป็นต้น ซึ่งปกติเนื้อเยื่อร่างกายจะมีความทนทานต่อแรงกระทำซ้ำๆ ในลักษณะยืดหรือกดขนาดหนึ่ง หากเริ่มเกินภาวะนี้แล้ว เราจะเริ่มรู้สึกปวดหรือเจ็บขัดๆ ถ้ายังฝืนต่อไปก็จะบาดเจ็บเพิ่มขึ้น มีอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน และเคลื่อนไหวไม่สะดวก หากเป็นบ่อยๆ ก็จะเรื้อรังทำให้ยากแก่การรักษา
เราจะป้องกันการบาดเจ็บดังกล่าวนี้ได้อย่างไร
การป้องกันย่อมดีกว่าแก้ไขเป็นไหนๆ จากบทเรียนที่ได้รับบาดเจ็บจากการกีฬาและประสบการณ์ทางอ้อม พอจะสรุปเป็นแนวทางในการป้องกันการบาดเจ็บได้ ดังนี้
1. นักกีฬา ผู้ฝึกนักกีฬาหรือผู้ออกกำลังกายควรศึกษาวิธีการ กติกา และฝึกให้ถูกต้อง เพราะผู้ที่ค้นคิดกีฬาหรือการออกกำลังกายต่างๆ มักจะได้ศึกษาถึงข้อดี ขณะเดียวกันก็มีข้อเสียน้อยที่สุด หากว่านักกีฬาปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้มาก
2. ควรมีการอุ่นเครื่องและเบาเครื่อง เช่น กายบริหารยืดข้อ กล้ามเนื้อ และออกกำลังกายเบาๆ ก่อนและหลังการแข่งขัน เพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้ทันทั้งระบบประสาท ระบบหายใจ ระบบหัวใจ และระบบข้อและกล้ามเนื้อ ซึ่งมีความสำคัญต่อการออกกำลังกายทุกรูปแบบ
3. มีและใช้อุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันภยันตรายตามชนิดของกีฬา เช่น สวมรองเท้าพื้นนิ่มและกระชับสำหรับนักวิ่งระยะไกล สวมหน้ากากและเสื้อนวมในการซ้อมหรือแข่งฟันดาบ เป็นต้น
4. รับการตรวจร่างกายและทดสอบสมรรถภาพทางกายก่อนฤดูกาลแข่งขันอย่างน้อย 6-8 สัปดาห์ เพื่อให้มีช่วงเวลาพอที่จะฟื้นฟูสภาพถ้าต่ำกว่าเกณฑ์ ข้อนี้จำเป็นสำหรับผู้ที่แข่งขันกีฬาที่ปะทะกันบ่อยๆ เช่น นักรักบี้ นักฟุตบอล นักมวย เป็นต้น
นอกจากนี้นักกีฬาประเภทที่ไม่ปะทะกันแต่มีปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำตัวอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันกีฬาก็อาจมาขอรับการตรวจหรือทดสอบได้ สำหรับการตรวจร่างกายทั่วไป ท่านอาจปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลจังหวัด และสำหรับการทดสอบสมรรถภาพทางกายท่านอาจขอรับบริการได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ และสาขาต่างจังหวัด หรือที่วิทยาลัยพลศึกษาทุกแห่ง
5. รักษาสุขภาพและสมรรถภาพทางกายให้พร้อมสำหรับการแข่งขัน
6. ฝึกซ้อมกีฬาให้ชำนาญ
สิ่งต่างๆ ดังกล่าวมานี้จะช่วยลดอัตราการเสี่ยงต่อบาดเจ็บจากการกีฬาได้อย่างมาก