บางแคโมเดล พร้อมรับสังคมสูงวัย

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน


บางแคโมเดล พร้อมรับสังคมสูงวัย thaihealth


แฟ้มภาพ


ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ในปี 2564 โดยที่บ้านบางแคเป็นแห่งแรก หรือบางแคโมเดล มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ


กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับการดูแลและให้บริการผู้สูงอายุ ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) นำร่องใช้ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ บ้านบางแค เป็นแห่งแรก หรือ บางแคโมเดล ก่อนขยายผลให้ครบทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ


ศ.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับสังคมสูงวัยและมีแผนงานบูรณาการ ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดย สวทช. และกรมกิจการผู้สูงอายุ ดำเนินงานร่วมกันมีความก้าวหน้าอย่าง ต่อเนื่อง เช่น โครงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่ออนาคตสังคมสูงวัย การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งการยกระดับการดูแลผู้สูงอายุด้วยนวัตกรรมบริการที่เหมาะสม และเอื้อต่อการดำรงชีวิตให้กับผู้สูงอายุ และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ


ซึ่งผลงานเหล่านี้มาจากพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี ที่พระราชทานแนวทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อคนพิการและผู้สูงอายุมาเป็นเวลานาน ทรงสนับสนุนให้เกิด ภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย (Thailand Biomedical Engineering Consortium) ที่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2558


ศ.ไพรัช กล่าวว่า สำหรับผลงานที่พัฒนาจาก สวทช. โดยทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สวทช. ประกอบด้วยระบบบริหารจัดการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เป็นการจัดการข้อมูลทางสุขภาพของผู้สูงอายุ มีการติดตามดูแล อย่างใกล้ชิด ระบบระบุตำแหน่งผู้สูงอายุ เป็นการดูแลผู้สูงอายุกลุ่ม สมองเสื่อม ระบบส่งเสริมสุขภาพและการเฝ้าระวังด้วยอุปกรณ์การบันทึกการเคลื่อนไหวแบบไร้สาย เป็นการติดตามการเคลื่อนไหวและส่งเสริมสุขภาพ สำหรับผู้สูงอายุ อุปกรณ์ชุดตรวจวัดสุขภาพแบบพกพา (Portable Health Check Up)


อุปกรณ์เครื่องตรวจวัดสุขภาพอัตโนมัติสำหรับผู้สูงอายุ (Health Check Up Kiosk for Elderly Persons) และอุปกรณ์ดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผลงานจากศูนย์วิจัย เพื่อการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ ร่วมกับภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทยจำนวน 2 รายการ ได้แก่ เครื่องฝึกเดินแบบเคลื่อนที่ได้ (Space walker) อุปกรณ์ช่วยฝึกเดินที่มี ระบบพยุงน้ำหนักบางส่วน และเครื่องออกกำลังกายและฟื้นฟู (Sit to Stand Trainer) นวัตกรรมเครื่องออกกำลังกายลุก-นั่ง ที่ผู้สูงอายุสามารถใช้ออกกำลังกายด้วยตัวเอง


"ปี 2563 ได้นำร่องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุแล้ว ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ บ้านบางแคเป็นแห่งแรก โดยหวังให้เป็น 'บางแคโมเดล' ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร อาทิ การใช้เทคโนโลยี ระบบบริหารจัดการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและระบบเครือข่ายสำหรับระบบระบุตำแหน่งผู้สูงอายุ และระบบส่งเสริมสุขภาพและการเฝ้าระวังด้วยอุปกรณ์ การบันทึกการเคลื่อนไหวแบบไร้สาย การติดตั้งและใช้งาน เครื่องฝึกเดินแบบเคลื่อนที่ได้ และเครื่องออกกำลังกายและฟื้นฟู เป็นต้น และมีเป้าหมายจะดำเนินการให้ครบทั้ง 12 แห่งภายในปี 2565" ศ.ไพรัช กล่าว


นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการ ผู้สูงอายุกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการดูแล และให้บริการผู้สูงอายุในครั้งนี้ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ภาครัฐและเอกชนต้องปรับเปลี่ยนและปรับตัวในเชิงรุก เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เนื่องจากประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุตั้งแต่ปี 2558 และคาดว่าปี 2564 สังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งจะมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปี มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด


และในปี 2575 ประเทศไทยจะเข้าสู่สถานการณ์ สังคมสูงวัยระดับสุดยอด เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นการเริ่มต้นนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ตั้งแต่วันนี้ จึงเป็นการเพิ่มโอกาสที่ดีให้กับผู้สูงอายุ ที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ดีได้ และยังช่วยขยายผลนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ จากเครือข่ายนักวิจัย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมสังคมสูงวัยจากนวัตกรรมไทยในอนาคตด้วย


"กรมกิจการผู้สูงอายุต้องขอขอบคุณ สวทช.เป็นอย่างยิ่ง ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ มาขยายผลการใช้ประโยชน์ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ทั้ง 12 แห่ง โดยในปี 2563 ได้เริ่มการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ บ้านบางแคเป็นพื้นที่แรก ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงาน เกิดการพัฒนาคุณภาพการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุ ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ให้มีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย"


ด้าน น.ส.อาภา รัตนพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคม ผู้สูงอายุบ้านบางแค กล่าวว่า บ้านบางแคเป็นหน่วยงานหลัก เพื่อให้บริการแก่ผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาถูกทอดทิ้ง ไร้ผู้อุปการะดูแล ภายใต้สังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีผู้รับบริการทั้งสิ้น 234 คน แบ่งเป็นชาย 75 คน หญิง 159 คน ดำเนินการตามนโยบายกรมกิจการผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้รับบริการ มุ่งให้ผู้สูงอายุได้รับหลักประกันด้านสิทธิความปลอดภัย การสนองตอบต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ อย่างมีศักดิ์ศรี ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสร้างโอกาสของความเท่าเทียม


ทั้งนี้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้ประโยชน์ใน ศพส. บ้านบางแค ถือว่ามีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพการดูแล และให้บริการผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมป้องกันดูแล และฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุ สามารถดำเนินไปได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Shares:
QR Code :
QR Code