“บางระกำ” สร้างความเข้มแข็งชุมชนด้วยระบบสร้างสุข

“บางระกำ” สร้างความเข้มแข็งชุมชนด้วยระบบสร้างสุข 

 

            การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน นอกจากผู้นำจะต้องมีความรู้และวิสัยทัศน์ที่ดีแล้ว ระบบการจัดการและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนถือว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้

 

“บางระกำ” สร้างความเข้มแข็งชุมชนด้วยระบบสร้างสุข

 

            องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางระกำ อ.บางเลน จ.นครปฐม ที่มี นายณัฐวัฒน์ ชั้นอินทร์งาม ดำรงตำแหน่งนายก อบต. ถือเป็นแบบอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ สามารถสร้างความเข้มแข้งให้กับชุมชน ผ่านโครงการต่างๆ โดยมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

 

นายก อบต.บางระกำ บอกว่า ทาง อบต.บางระกำ ได้นำเอาโครงการระบบสร้างสุข มาเป็นกรอบในการสร้างความเข็มแข็งให้กับชุมชน ซึ่งโครงการระบบสร้างสุขนั้นประกอบด้วย การดำเนินการที่มุ่งเน้นเอาบุคคลที่มีจิตอาสาเข้ามาทำงานในแต่ละเรื่อง โดยเน้นหนักในเรื่องการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ให้มีความสุขได้อย่างไร โดยแบ่งการทำงานออกเป็นระบบ ระบบแรกคือ ระบบจิตอาสา เป็นการหาคนที่มีจิตอาสาเข้ามาทำงานในด้านต่างๆ เมื่อมีคนอาสาเข้ามาทำงานแล้ว ก็จะมีการยกย่องเชิดชูเกียรติให้กับคนเหล่านี้ โดยทุกปีจะมีการมอบรางวัลคนดีศรีบางระกำ เป็นรางวัลสำหรับคนที่มีจิตอาสาเข้ามาทำงานโดยเฉพาะ

 

“บางระกำ” สร้างความเข้มแข็งชุมชนด้วยระบบสร้างสุข

 

            ต่อมาคือ ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม เนื่องจากตำบลบางระกำ เป็นตำบลที่มีคูคลองจำนวนมาก จึงได้มีโครงการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการจัดการแก้ปัญหาคูคลองกัน โดยท้องถิ่นมีหน้าที่ในการสนับสนุนงบประมาณให้ประชาชนนำไปแก้ปัญหากันเอง ซึ่งงบประมาณที่สนับสนุนลงไป ชุมชนจะนำไปจัดการอย่างไรก็ได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดการให้คูคลองอยู่ในความสะอาด สภาพสิ่งแวดล้อมดูดี การส่งเสริมทำการเกษตรปลอดภัย เป็นอีกหนึ่งระบบที่มุ่งหวังให้ชุมชนได้ลดละเลิกการใช้สารเคมี โดยเน้นความเชื่อมโยงเรื่องการจัดการเรื่องน้ำในคูคลอง เพราะถ้าประชาชนยังใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ก็จะส่งผลให้น้ำในคูคลองเน่าเสียไปด้วย จึงต้องรณรงค์ให้ประชาชนเลิกใช้สารเคมี และหันมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์ชีวภาพแทน

 

“บางระกำ” สร้างความเข้มแข็งชุมชนด้วยระบบสร้างสุข

 

ระบบต่อมาคือ ระบบสุขภาพ โดยเน้นให้คนหันมาดูแลสุขภาพ แทนที่จะเป็นการรักษาสุขภาพ โดยมุ่งเน้นในเรื่องการไปหาหมอ เป็นการทำงานในเชิงรุก โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำเรื่องการวางแผนสุขภาพในชุมชน โดยจะให้แต่ละหมู่บ้าน มีศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) ของหมู่บ้านเอง โดยศูนย์ดังกล่าว มีหน้าที่ในการสำรวจผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยในชุมชน และวางแผนในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ โดยหมู่บ้านจะมีแผนในการจัดการเรื่องสุขภาพเป็นของตัวเอง

 

นายณัฐวัฒน์ บอกต่อว่า ระบบเศรษฐกิจและสวัสดิการชุมชน ถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ระบบนี้จะเน้นในเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนมีระบบการออมทรัพย์ โดยในตำบลบางระกำทุกหมู่บ้าน จะมีกลุ่มออมทรัพย์ในหมู่บ้านของตัวเอง ส่วนกลุ่มใหญ่ในระดับตำบลก็จะมีธนาคาร หรือสถาบันการเงินชุมชน ซึ่งสถาบันการเงินชุมชนก็จะมีการดำเนินการเหมือนธนาคาร มีการเปิดให้บริการทุกวัน โดยมีเป้าหมายให้คนในตำบล มีระบบจัดการออมทรัพย์กันเองในตำบล และช่วยเหลือคนในชุมชน ที่ไม่สามารถดำเนินการในการกู้เงินได้ ถือเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการกู้เงินนอกระบบไปในตัว นอกจากนี้ ก็ยังเป็นการส่งเสริมเรื่องสวัสดิการ ทำให้คนในชุมชนได้มีระบบสวัสดิการร่วมกัน เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีสวัสดิการให้ฟรี เด็กเกิดมาเราก็จะมีเงินให้ 1,000 บาท หากเจ็บป่วยไปนอนโรงพยาบาล ก็จะมีเงินให้คืนละ100 บาท หากมีการเสียชีวิตก็จะมีเงินให้ตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท แล้วแต่ระยะเวลาที่เข้ามาร่วมในโครงการกองทุนสวัสดิการของชุมชน

 

นายก อบต.บางระกำ บอกต่อว่า อีกระบบคือ เรื่องเด็กและเยาวชน โดยจะเอาเรื่องต่างๆ ที่ดำเนินการในชุมชน นำไปจัดทำหลักสูตรให้เด็กและเยาวชนในตำบลได้เรียนรู้กัน ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ตำบล เรื่องการจัดการชุมชนตำบล และเรื่องระบบจิตอาสาของคนในตำบล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชน มีสำนึกรักบ้านเกิด โดยใช้ชื่อในการดำเนินการว่า “โครงการสำนึกรักบ้านเกิด” โดยในแต่ละปีจะนำเอาเด็กในโรงเรียนมาเข้าค่ายร่วมกัน เพื่อนำเอาโครงการสำนึกรักบ้านเกิดให้เด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนของตำบล

 

            สุดท้าย คือ ระบบการบริหารจัดการที่ดีของท้องถิ่นโดยให้ท้องถิ่นได้มีระบบการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใสตรวจสอบได้ โดยให้คนในชุมชนได้เข้ามาร่วมทำงานในชุดคณะกรรมการต่างๆ ซึ่งในตำบลบางระกำมีคณะทำงานต่างๆ มากมาย ซึ่งการที่มีคณะกรรมการชุดต่างๆ มากมายนั้น เพื่อให้คนในชุมชนได้เข้ามารู้ว่า ได้มีการดำเนินการเรื่องใดบ้าง ทำอะไรไปบ้าง เขาจะได้เข้ามาร่วมตรวจสอบ ซึ่งเป้าหมายใหญ่จริงๆ คืออยากให้คนในชุมชนเข้ามาร่วมทำงาน ทำให้เขามีความรู้สึกว่า เขามีส่วนเป็นเจ้าของและสามารถเข้ามาร่วมทำงานกับท้องถิ่นได้

“บางระกำ” สร้างความเข้มแข็งชุมชนด้วยระบบสร้างสุข

 

นายก อบต.บางระกำ กล่าวต่ออีกว่า โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน อบต.บางระกำนั้น จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้เป็นวิถีชีวิตของชาวตำบลบางระกำที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่เคยนำมาจัดให้เกิดระบบ เช่น เรื่องกลุ่มออมทรัพย์ได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2537 แผนการจัดการสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 การเกษตรปลอดสารพิษเกิดตั้งแต่ปี 2543 แต่เมื่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มาลงพื้นที่ให้คำแนะนำ และได้นำสิ่งที่ชุมชนมีอยู่มาเรียบเรียงให้เป็นระบบ ทำให้การดำเนินการต่างๆ ได้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดย สสส.ได้เข้ามาสนับสนุนให้ อบต.บางระกำ เป็นแหล่งเรียนรู้ของเครือข่ายตำบลต่างๆ ในภาคกลาง ที่สำคัญคือ เข้ามาช่วยให้ อบต.บางระกำให้พัฒนา มีการนำไปศึกษาเรียนรู้จากชุมชนอื่นเพื่อนำมาปรับใช้ นอกจากนี้ ก็มีตำบลอื่นๆ มาเรียนรู้ที่ตำบลบางระกำแล้วนำไปปรับใช้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

“หลังจากที่ได้มีการจัดระบบต่างๆ แล้ว ทำให้ท้องถิ่นเห็นการพัฒนาที่ชัดเจน จากแต่เดิมการพัฒนาไม่เป็นระบบ นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ มองไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจนแต่พอ สสส.เข้ามาให้คำแนะนำ ทำให้เห็นว่าท้องถิ่นเราแทนที่จะมีการพัฒนาแบบตามใจผู้บริหารอยากทำอะไรก็ทำ ก็กลายมาเป็นระบบระเบียบมากขึ้น คนในชุมชนก็ได้ให้ความสำคัญ และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตัวเองมากขึ้น” นายก อบต.บางระกำ กล่าว

 

จากผลสำเร็จของ อบต.บางระกำ นอกจากวิสัยทัศน์ของผู้นำและการมีส่วนร่วมของชุมชนแล้ว การเข้าไปให้คำแนะนำและจัดระบบงานของ สสส. ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้วันนี้ อบต.บางระกำ สามารถเป็นชุมชนต้นแบบในการพัฒนาในหลายๆ ด้าน เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศได้ศึกษาดูงาน เพื่อนำไปปรับใช้กับชุมชนของตนเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

update : 15-12-53

อัพเดทเนื้อหาโดย :  ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ