บางค้างคาว ‘ชุมชน-ศาสนา’ เสริมสุขภาวะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า
เหลืออีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ "เทศกาลสงกรานต์" กันแล้ว ซึ่งนอกจากการเล่นสาดน้ำ อย่างสนุกสุดเหวี่ยงเพื่อผ่อนคลายจากอากาศอบอ้าว ในฤดูร้อน เทศกาลสงกรานต์ยังมีความหมาย ในแง่ "วันรวมญาติ" เพราะเป็นวันที่พ่อแม่พี่น้อง ลูกหลานที่แยกย้ายไปเรียนไปทำงานในต่างจังหวัดหรือแม้แต่ในต่างประเทศกลับมารวมตัวกัน โดย รัฐบาลไทยก็ได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายน ตรงกับ "วันผู้สูงอายุ" และวันที่ 14 เมษายน ตรงกับ "วันครอบครัว" เพื่อย้ำถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัวกับสังคมไทย
ซึ่งด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ผลักดันให้คนหนุ่มสาวจากชนบทออกจากบ้านไปทำงานในเมืองใหญ่เพราะมีค่าตอบแทนทั้งปัจจุบันและอนาคตที่คุ้มค่า ก่อผลกระทบข้างเคียงคือปัญหา "ช่องว่างระหว่างวัย" เพราะเมื่อคนหนุ่มสาวมีบุตรก็มักจะส่งกลับภูมิลำเนาไป "ฝาก" ให้พ่อแม่ที่แก่ชราดูแลพร้อมกับส่งเงินไปให้เป็นระยะๆ ทว่าเมื่อเด็กน้อย เมื่อโตขึ้นมาด้วยอายุที่ห่างจากผู้เลี้ยงดูค่อนข้างมาก "การสื่อสารระหว่างกันจึงไม่ค่อยราบรื่นนัก" ส่งผลให้ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย "เลือกไปอยู่ตาม ลำพัง" ดีกว่าจะอยู่กับหลานหรือแม้แต่กับลูก
"บางค้างคาว" เป็นหมู่บ้านชุมชนชายทะเลฝั่งอันดามัน ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.สิเกา จ.ตรัง มีสภาพเป็นป่าชายเลนสลับกับสวนยางสวนปาล์ม เป็นชุมชนใช้ชีวิตเรียบง่ายตามหลักศาสนาอิสลาม แต่ที่นี่มีปัญหาคือเมื่อคนวัยแรงงานออกไปทำงานนอกพื้นที่ "ผู้สูงอายุในหมู่บ้านบางส่วนเลือกปลีกตัวแยกออกไปใช้ชีวิตตามลำพัง" ไม่ยอมอยู่ร่วมกับลูกหลาน และแม้ว่ามีผู้สูงอายุที่อยู่กับครอบครัว แต่กำลังหลักของบ้านก็ต้องออกไปทำงานไม่ค่อยมีเวลาดูแลอยู่ดี ทำให้ปัญหาสุขภาพของผู้สูงวัยทวีความรุนแรงขึ้นเพราะขาดคนดูแล
เสถียร ทิพย์ทอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบางค้างคาว เล่าว่า จากการทำเวทีประชาคมหมู่บ้าน ข้อค้นพบคือ "เรื่องผู้สูงอายุไม่ได้รับการดูแลเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง" จึงคิดทำโครงการดูแลผู้สูงอายุขึ้นมาโดยเริ่มจากการใช้ "สภาผู้นำ" เป็นตัวขับเคลื่อน ในระยะแรกโดยมีเป้าหมายที่จะให้มีการ "จับคู่ ระหว่างผู้สูงอายุและผู้ดูแลประจำตัวผู้สูงอายุ" ที่แน่นอนอย่างน้อย 1 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน
แต่ก่อนจะถึงขั้นนั้น..สภาผู้นำต้อง "เข้มแข็ง" เสียก่อน จึงได้ตั้ง "โครงการอนุรักษ์ป่าชายเลน" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม สภาผู้นำของชุมชนจึงเข้มแข็งไปโดยปริยาย และคนในชุมชนมีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี จึงขยับขยายสู่การทำงานด้านผู้สูงอายุในเวลาต่อมา
"เราใช้สมาชิกสภาผู้นำที่มีอยู่แต่เดิม 20 คนเป็นตัวขับเคลื่อน และหลังจากการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหาครอบครัว เราก็ได้แกนนำเพิ่มอีก 10 คน ซึ่งมีความรู้เฉพาะด้านสุขภาพผู้สูงอายุ มาถ่ายทอดความรู้การดูแลเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย และทั้ง 10 คนจะออกดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านและติดเตียงด้วย" เสถียร ระบุอีกภาคส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการดูแลผู้สูงอายุของบางค้างคาวสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านแหลมมะขาม โดยช่วยเหลือด้านองค์ความรู้ต่างๆ
ซึ่ง วิภาดา กั่วพานิช พยายาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.บ้านแหลมมะขาม กล่าวว่า นอกจากกิจกรรมให้ความรู้และร่วมกันออกกำลังกายร่วมกันทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลที่จัดเป็นประจำทุกเดือนแล้ว ยังมีกิจกรรมการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยซึ่งเป็นร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นการเน้นย้ำความรู้ทางสุขภาวะของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลอีกด้วย
วิภาดา กล่าวถึง "จุดเด่น" ของชุมชนบางค้างคาว ว่าที่นี่มี "อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน" (อสม.) ซึ่งมีสถานะเป็น "ผู้นำศาสนา" ด้วย ทำให้มีการประสานความเชื่อทางศาสนาเข้ากับหลักของการดูแลรักษาสุขภาพได้อย่างลงตัว
ซึ่ง มะริหย้อ ศรีชาย ครูสอนศาสนาที่ทำงาน อสม. อธิบายว่า การดูแลสุขภาพสอดคล้องกับศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมต้องรักษาความสะอาดทั้งในบ้าน นอกบ้านและตัวเอง "ถ้าไม่รักษาความสะอาดจะไม่เป็นที่รักของอัลเลาะห์" (พระผู้เป็นเจ้าของศาสนาอิสลาม) และจะเป็นโรคด้วยความเชี่ยวชาญในหลักศาสนา มะริหย้อ จึงใช้หลักศาสนาจูงใจให้ผู้สูงอายุสนใจดูแลตนเอง ยอมกินยา ยอมไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ และรับการตรวจรักษามากกว่าจะปล่อยตนเองไปตามยถากรรม โดยกล่าวอ้างถึงหลักศาสนาในการดูและตนเอง รักษาชีวิตและสุขภาพที่พระผู้เป็นเจ้ามอบให้อย่างดี และนอกจากนั้นยังส่งเสริมให้ครอบครัวละหมาดพร้อมกันอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง เพื่อเสริมสร้างความอบอุ่นในครอบครัว
ย้อนกลับมาที่ เสถียร ในฐานะผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เขาย้ำว่า "คนที่นี่ เชื่อในหลักศาสนาอิสลามมากกว่าหลักกฎหมาย" ดังนั้นหากจัดกิจกรรมหรือคำแนะนำด้านสุขภาพด้านใดๆ โดยสามารถอธิบายให้เชื่อมโยงกับศาสนาได้ คนก็จะปฏิบัติตามเข้าร่วมได้ง่าย เพราะสอดคล้องกับหลักที่เขาต้องปฏิบัติ อยู่แล้ว ซึ่งนี่คือ "ต้นทุนทางวัฒนธรรม" สามารถขยายผลไปสู่การสร้างเสริม สุขภาวะให้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุได้อย่างลงตัว