บางกอกนี้…ดีจัง สู่ปีที่4 ‘พลิกพื้นที่เสี่ยงเป็นบวก’
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไซต์ไทยโพสต์
ด้วยความต้องการอยากเห็นชุมชนต่างๆ มีการจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กดีขึ้น ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง เพิ่มปัจจัยบวก ส่งเสริมพื้นที่สร้างสรรค์มาทดแทน จึงก่อเกิดเป็นโครงการบางกอกนี้…ดีจัง โดยมีเด็กเยาวชน ชุมชน โรงเรียนในพื้นที่ และมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนาเป็นแม่แรงสำคัญ มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน
ล่าสุด โครงการบางกอกนี้…ดีจัง ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ได้จัดเทศกาลสื่อสารนวัตกรรม "Show Share Change" มุมงาม วิถีถิ่น 3 ดี และดีจัง ที่ชุมชนวัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เพื่อเปิดพื้นที่สร้าง สรรค์ นำนวัตกรรมกระบวนการเครือข่ายเด็ก เยาวชน มาสื่อสาร เผยแพร่ แบ่งปัน สร้างการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนเสี่ยงให้เป็นบวก โดยมีชุมชนที่อยู่ในเครือข่ายมากกว่า 20 ชุมชน และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน
นางสาวปรัชทิพา หวังร่วมกลาง หรือพี่ต้อย ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา เล่าที่มาว่า กิจกรรมในครั้งนี้เราอยากเห็นการแลกเปลี่ยนกระบวนการบทเรียนของเยาวชนที่เข้ามามีส่วนร่วมการเรียนรู้ เกิดการค้นหาศักยภาพ เห็นคุณค่าในตนเอง เห็นคุณค่าชุมชน และนำไปสู่ความภาคภูมิใจ และร่วมสร้างสรรค์ สืบสาน ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน แนวคิดบางกอกนี้ดีจัง
ตลอดกว่า 4 ปีที่ผ่านมา เรามีพื้นที่ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกว่า 20 ชุมชน ทั้งในกรุงเทพฯ โคราช และอีกหลายจังหวัด ทำให้เห็นถึงแนวคิดและการเปลี่ยนแปลงของเด็กและเยาวชนที่ลุกขึ้นมาสร้างการเรียนรู้กับมิติของชุมชน มองลึกลงไปเห็นจุดเด่น-จุดด้อย ปัจจัยเสี่ยงรอบตัว ได้เรียนรู้ตั้งแต่การลงพื้นที่สำรวจชุมชน มองเห็นสถานการณ์ปัญหา รอบตัวเด็ก เยาวชนเต็มไปด้วยอบายมุข ติดเกม จับกลุ่มมั่วสุม พ่อแม่ไม่มีเวลา พื้นที่รกร้างกลายเป็นจุดบอด จุดเสี่ยง ดูแล้วไม่ปลอดภัย ฯลฯ
จากนั้นก็นำแนวคิดหาทางให้เกิดกิจกรรมที่สร้างสรรค์เป็นเรื่องเป็นราว เปิดเวทีสื่อสารกับชุมชนในสิ่งที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดปรากฏการณ์และพัฒนาให้ดีขึ้น และเมื่อเด็กได้ลงมือทำ ลุกขึ้นมาร่วมแก้ปัญหา ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง เขาก็จะภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง
"แนวคิด Show Share Change หมายถึงการหยิบสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมายต่อคนส่วนรวม นำมาโชว์ เผยแพร่ เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น การเชิดสิงโตเด็ก ดนตรีเด็ก ห้องเรียนการเรียนรู้ตามเส้นทางต่างๆ ในชุมชน วิถีคลอง พื้นที่สีเขียว กำแพงศิลปะเล่าเรื่องชุมชน ฯลฯ มีการแบ่งปัน บอกต่อ แชร์ประสบการณ์กระบวนการบทเรียน ข้อค้นพบ และให้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก เยาวชน ครอบครัว ชุมชน เกิดพื้นที่และสื่อสร้างสรรค์มีพลังบวก เขย่าชุมชนให้ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมสร้างมุมงาม หน้าบ้าน ตามซอย ลานชุมชน เน้นสะอาด สะดวก มีสีสัน และสร้างสรรค์"
"ซึ่งเด็กทุกคนมีพลัง จึงอยากให้ทุกภาคส่วนมองเรื่องของเด็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งในระดับบ้าน ระดับชุมชน ระดับชาติ สร้างคุณค่า ให้ความสำคัญ เปิดโอกาสให้เขาได้ร่วมคิด ร่วมทำ มีพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีสภาพแวดล้อมดีๆ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้และเติบโต" นางสาวปรัชทิพาระบุ
นายสุขวิชัย อิทธิสุคนธิ์ หรือน้องม้อบ อาสาสมัครเยาวชนบางกอกนี้ดีจัง พูดถึงความรู้สึกว่า จะเห็นได้ว่าเด็ก เยาวชนสนุกสนานและสนใจกับกิจกรรมในวันนี้อย่างมากและทุกคนอยากมาอีก ซึ่งการเปิดพื้นที่วันนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเครือข่ายจากจังหวัดต่างๆ สร้างการมีส่วนร่วมให้กับคนในครอบครัว ชุมชน ทุกคนได้ทำกระบวนการร่วมกัน และนำไปต่อ ยอด เห็นวิถีคุณค่าในชุมชน เกิดเป็นไอเดียมากมาย เช่น การมีพื้นที่สะอาด สะดวก มีสีสัน สร้างสรรค์ รวมถึงสื่อสารให้เกิดมุมดีๆ มุมงามๆ ในชุมชน เริ่มตั้งแต่ต้นซอย กลางซอย ปลายซอย มีการละเล่นตามวิถีชุมชน การแสดงที่หาดูได้ยาก กิจกรรมทำมือ
"บางกอกมีของดีมากมาย จึงเป็นที่มาของบางกอกนี้ดีจัง ที่ทำมาได้ 4 ปีแล้ว จุดแข็งคือเยาวชนเกิดการตื่นตัว ตระหนัก และเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น หนุนเสริมซึ่งกันและกัน หาสื่อดี ภูมิดี พื้นที่ดี ชุมชนเราก็จะเข้มแข็ง ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด พนัน"
"อยากฝากถึงผู้ใหญ่ เวลาที่เด็กทำกิจกรรมลักษณะนี้ต้องสนับสนุนเขา คอยให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา เพราะถ้าไปปิดกั้นตลอด เด็กที่มีความสามารถก็จะขาดโอกาสแสดงออกในทางที่ดี แล้วกลับไปอยู่ในวังวนที่ไม่ดี ดังนั้นอยากให้มองเยาวชนใหม่ อย่ามองไปในทางลบ ควรเปิดพื้นที่ให้เด็กได้มีส่วนร่วมเพื่อพัฒนา เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้าได้" น้องม้อบกล่าวทิ้งท้าย
เด็กชายวิทวัส กรสวัสดิ์ หรือน้องหมอก นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดสะพาน คลองเตย เครือข่ายพื้นที่นี้ดีจัง สะท้อนความรู้สึกว่า ผมดีใจมากที่ได้มาร้องเพลงให้เพื่อนๆ พี่ๆ ลุงป้าน้าอาฟังในวันนี้ ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ มีกิจกรรมในงานหลากหลายน่าสนใจ มีขนม มีการแบ่งปัน ผมได้เปิดโลกใหม่ๆ ไม่ต้องไปหมกมุ่นกับร้านเกม ซึ่งบ่อยครั้งที่เห็นเพื่อนในโรงเรียนเข้าร้านเกม บางคนไม่ยอมกินข้าว เก็บเงินที่พ่อแม่ให้มาเพื่อจะนำไปเล่นเกม
"ผมมองว่าเราควรเอาเวลาว่างไปทำสิ่งที่มีประโยชน์ เช่น เล่นกีฬา ช่วยงานพ่อแม่ อย่างตัวเองมีโรคประจำตัวคือหอบหืด ก็จะดูแลตัวเอง และการร้องเพลงหรือทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมแบบนี้ ก็ทำให้อาการหอบหืดดีขึ้น เหมือนมันได้กำลังใจ ได้รับเสียงปรบมือ ชื่นชม และจากนี้จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ไปบอกต่อกับเพื่อนๆ ในชุมชนคลองเตยอย่างแน่นอน" น้องหมอกกล่าว
เด็กหญิงธราธิป สนธิ์น้อย น้องวิว นักเรียนโรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย ระบุว่า วันนี้ได้นำการแสดงฟ้อนรำมาโชว์ ซึ่งหนูและเพื่อนๆ ได้ตั้งใจฝึกซ้อมมาอย่างดี ส่วนตัวก็เป็นคนที่ชื่นชอบการรำอยู่แล้ว จึงนำสิ่งที่ชอบไปพัฒนาตัวเองด้วยการเข้าร่วมฝึกกับ "กลุ่มบ้านนี้ดีจัง ร้องรำทำเพลง" ซึ่งเป็นกลุ่มของเด็ก เยาวชนที่อยู่ในชุมชนวัดหงส์รัตนาราม ในการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์หลังเลิกเรียนและช่วงปิดเทอม โดยพี่เตยซึ่งเป็นคนที่ฝึกฝนน้องๆ ก็ได้สอนหลายอย่าง เช่น การรำไทยประยุกต์ กิจกรรมศิลปะ งานประดิษฐ์ งานฝีมือ งานเศษผ้าสร้างรายได้ กิจกรรมอาสา
"หนูหวังว่าศิลปะการแสดงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ยิ้มได้ มีการช่วยเหลือกัน มีกิจกรรมร่วมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงรอบตัว และสิ่งที่หนูปลื้มใจ ประทับใจที่สุดในชีวิต คือการได้แสดงรำต่อหน้าพระพักตร์ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี หนูไม่คิดว่าเด็กตัวเล็กๆ จากเมื่อก่อนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก และการรำสามารถพัฒนาบุคลิกภาพของหนูไปในทางที่ดีขึ้น กล้าคิด กล้าทำมากขึ้น หนูได้ประสบการณ์จากการรำอย่างมาก และสามารถนำไปถ่ายทอดบอกต่อเพื่อนๆ ในโรงเรียนได้" น้องวิวกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับกิจกรรมพื้นที่ดีๆ แบบนี้ ก็เชื่อว่าหลายชุมชนจะนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อให้เด็ก เยาวชนห่างไกลจากปัจจัยด้านลบต่างๆ ด้วยการพลิกพื้นที่เสี่ยงให้เป็นบวก พร้อมส่งเสริมวิถีถิ่น สร้างชุมชนให้น่าอยู่ต่อไป