บั๊ดดี้โฮมแคร์ดูแลผู้สูงอายุ สร้างรายได้ให้เยาวชน
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
ภาพประกอบ จาก สสส.
สสส.ผุด“บั๊ดดี้โฮมแคร์” ต้นแบบดูแลผู้สูงอายุยากไร้ สร้างงานสร้างรายได้ให้เยาวชนขาดโอกาส หวังรัฐผลักดันเป็นโครงการถาวร ช่วยผู้สูงอายุมีความสุขกับลูกหลานที่บ้าน
นายพิทยา จินาวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกำกับทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ, คณะกรรมการกำกับทิศทางการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ และคณะกรรมการกำกับทิศทางการจัดสภาพแวดล้อมและพัฒนาบริการสาธารณะตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน, ลงพื้นที่ ณ ชุมชนหนองหอย เทศบาลตำบลหนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาเรียนรู้สุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ “การสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ คนพิการ และการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน”
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลในปี 2561 พบว่า จ.เชียงใหม่ มีผู้สูงอายุประมาณ 316,847 คน คิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรทั้งจังหวัด และคาดว่ามีผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและติดเตียงมากกว่า 50,000 คน ที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด เกือบครึ่งหนึ่งมีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว ดังนั้น สสส. จึงร่วมกับมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ (มพส.) ดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบกิจการเพื่อสังคมบั๊ดดี้โฮมแคร์ ในการดูแลผู้สูงอายุ (Buddy HomeCare) แบบมีค่าใช้จ่ายโดยมีการคัดเลือกเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เข้ารับการฝึกอบรมเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุตามหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง ซึ่งจะมีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีผู้ผ่านการอบรมแล้ว 30 คน ขณะนี้มีการดำเนินโครงการบัดดี้โฮมแคร์ 35 ชุมชน ส่วนรายได้นำมาตอบแทนสังคม โดยใช้เพื่อการดูแลผู้สูงอายุยากไร้ในชุมชนร่วมกับโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ ซึ่งผลคือผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีสุขภาพดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ลดภาระพึ่งพิงจากครอบครัวได้บางส่วน หรือออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย การลงทุนในโครงการฯนี้ ถือว่ามีความคุ้มค่าอย่างมาก
ด้านนางอุบล หลิมสกุล กรรมการบริหารแผนคณะ 2 สสส. กล่าวว่า จากการประเมินโครงการบัดดี้โฮมแคร์ พบว่า ในการลงทุน 5 ล้านบาท จะได้ผลตอบแทนกลับมาถึง 29 ล้านบาทนั่นหมายถึงลงทุน 1 บาทผลตอบแทนกลับมา 5 บาท และหมายถึงการที่ผู้สูงอายุทั้งที่มีกำลังจ่าย และผู้สูงอายุยากไร้ได้รับการดูแล โดยไม่ต้องรอเพียงแค่การดูแลจากรัฐบาล นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเยาวชน ซึ่งเดิมหากเขาไม่ได้มาทำงานนี้ก็ต้องไปทำงานก่อสร้าง หรือทำงานที่มีผลกระทบกับสุขภาพ บางส่วนจะหลุดวงจรของแรงงานไป เพราะฉะนั้นถือว่าโครงการทดลองนี้มีความคุ้มค่า ดังนั้นจึงอยากมีการส่งต่อไปยังหน่วยงานหลักทำอย่างไรที่จะให้โครงการนี้ไปอยู่ในโครงการของรัฐอย่างยั่งยืน
"เราพบคำตอบมีคำตอบว่าผู้สูงอายุไม่ได้ต้องการอยู่ในสถานสงเคราะห์ ความสุขที่สุดของผู้สูงอายุคือการอยู่ที่บ้านร่วมกับลูกหลาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคาดหวังว่างานนี้จะสามารถขับเคลื่อนต่อได้ภายใต้การทำงานของหน่วยงานและประสานความร่วมมือกับเอกชนซึ่งวันนี้มีผู้สนใจเกี่ยวกับสังคมผู้สูงวัยจำนวนมาก" นางอุบล กล่าว.