บันไดสามขั้นของการพัฒนาชีวิต เริ่มตั้งแต่วัยแรกเกิด

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


บันไดสามขั้นของการพัฒนาชีวิต เริ่มตั้งแต่วัยแรกเกิด thaihealth


การส่งเสริม การพัฒนาการชีวิตให้กับเด็กตั้งแต่ในวัยแรกเริ่ม ย่อมส่งผลให้เด็กเหล่านั้นคือผู้ใหญ่ที่มีรากฐานของพัฒนาการชีวิต ที่พร้อมจะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและแข็งแรง


ในงาน “SOOK FESTIVAL ตอน ความสุขของคนทุกช่วงวัย” ที่จัดโดย ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวที “พ่อแม่ยุคใหม่สไตล์ EF” ทำให้เราได้ค้นพบว่า การวางรากฐานของพัฒนาการชีวิตตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพอย่างมั่นคง เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการอย่างชัดเจน ทั้งการคลาน ฝึกตั้งไข่ เริ่มออกเสียง และหากเด็กเล็กได้รับการฝึกฝนพัฒนาการอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอจะมีส่วนสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต


ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย สสส. พูดถึงตัวอย่างของผู้มาร่วมงานในวันนั้น ของโอปอล์-ปาณิสรา และหมอโอ๊ค-สมิทธิ์ อารยะสกุล คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกแฝดมาร่วมเล่าประสบการณ์เลี้ยงลูกในสไตล์ครอบครัวตนเอง ที่ส่งผลให้เกิดเป็นส่วนช่วยพัฒนาทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ หรือ EF (Executive Function) ขึ้นอย่างไม่รู้ตัว ว่า EF เป็นกระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้าของทุกคนที่ใช้กำกับความคิด ความรู้สึกและการกระทำ อีกทั้งยังเป็นทักษะที่สำคัญต่อความสำเร็จในการเรียน การงาน การอยู่ร่วมกับเพื่อน การคิดสร้างสรรค์ และการจัดการทุกด้านตลอดชีวิต เรียกได้ว่า EF เป็นการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาความฉลาดทางเชาว์ปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ที่ยิ่งเริ่มกระตุ้นได้เร็วเท่าไรยิ่งได้เปรียบ เนื่องจากเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมศักยภาพที่จะพัฒนากับการฝึกฝนผ่านประสบการณ์ ตั้งแต่วัยทารกจวบจนวัยทำงาน 25 ปี แต่ทั้งนี้ช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการพัฒนาคือช่วง 3-6 ปีแรกของชีวิต


บันไดสามขั้นของการพัฒนาชีวิต เริ่มตั้งแต่วัยแรกเกิด thaihealth


ดร.วรนาท อธิบายต่อว่า ในช่วง 3 ปีแรก สิ่งที่พ่อแม่ควรฝึกฝนกับเด็กๆ คือ พัฒนาทักษะพื้นฐาน ได้แก่ 1) Working Memory จำเพื่อใช้งาน เช่น เล่านิทาน อ่านหนังสือคำคล้องจอง หรือพูดคุยกับลูกบ่อยๆ เป็นการเพิ่มคำศัพท์ให้เด็กได้ซึมซับ 2) Inhibitory Control ยั้งคิดไตร่ตรองรู้จักอดทนอดกลั้น สามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่เด็กๆ และพ่อแม่ควรสอนวิธียับยั้งชั่งใจ เช่น พ่อแม่ควรสอนให้ลูกแบ่งของเล่นให้กันและรู้จักรอคอยเวลา และ 3) Shifting/ Cognitive Flexibility ยืดหยุ่นความคิด รู้จักเปลี่ยนแผน เช่น คนน้องอยากเล่นของเล่นที่คนพี่กำลังเล่นอยู่ พ่อแม่ควรบอกเหตุผล พร้อมหากิจกรรมอื่นหรือของเล่นชิ้นอื่นให้เล่นทดแทนก่อน


“ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย” ดร.วรนาท รักสกุลไทย พูดถึงผลร้ายของการปล่อยให้ลูกเล็กติดอยู่กับหน้าจอว่า “การให้ลูกอยู่กับเทคโนโลยีหรือเลี้ยงลูกให้ติดจอมากเกินไป มีส่วนทำให้การพัฒนา EF ต่ำ โดยสมาคมกุมารแพทย์ระบุไว้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรเล่นผ่านจอ เพราะการติดจอเป็นการรับข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว แต่หากพ่อแม่เล่นหรือพูดคุยกับลูกจะทำให้ลูกได้ภาษาที่ใช้สื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ที่โต้ตอบกันไปมา อีกทั้งยังได้การสัมผัส กอด หอม ดังนั้นพ่อแม่ยุคใหม่จึงควรมีเวลาคุณภาพเพื่อใช้ร่วมกันกับลูกด้วยความใส่ใจ


บันไดสามขั้นของการพัฒนาชีวิต เริ่มตั้งแต่วัยแรกเกิด thaihealth


หมอโอ๊ค-สมิทธิ์ อารยะสกุล และโอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล พ่อแม่ของลูกแฝด บอกให้ทราบว่า น้องอลิน-อลัน เป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนดเกือบ 3 เดือน แน่นอนว่าพัฒนาการจะช้ากว่าเด็กปกติ เราสองคนใช้วิธีเลี้ยงให้เหมือนเขาเป็นผู้ใหญ่ พยายามพูดคุย จ้องตา สบตา และถามทุกครั้งเวลาเขาร้องไห้ว่าเขาร้องทำไม เพราะหิวอยากอ่านนิทาน หรืออยากได้อะไร ซึ่งวิธีนี้เด็กๆ เข้าใจ ตอบโต้กลับและพัฒนาตามวัยด้วย แม้สมัยนี้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ มีออกมามาก แต่เราทั้งคู่จะเลือกกลั่นกรองจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ และนำมาปรับใช้กับบริบทนิสัยและพฤติกรรมของลูกแต่ละคน ผมและโอปอล์ไม่ใช่พ่อแม่ที่ดีที่สุด แต่เราเป็นพ่อและแม่ที่เลี้ยงลูกที่ดีในแบบของเรา จะไม่เอาบ้านอื่นหรือครอบครัวอื่นในสังคมมากดดันความสุขในครอบครัว โดยเป้าหมายหลักของเราคือ การสร้างเสริมให้ลูกๆ มีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่เข้มแข็งและมีสติที่รู้จักผิดชอบ ซึ่งการรู้จักยับยั้งใจเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการยับยั้งใจจากปัญหายาเสพติดหรือท้องในวัยเรียน เพราะเราไม่สามารถกันสิ่งร้ายๆ ให้ลูกได้ตลอด ในอนาคตเขาต้องผิดหวัง มีอุปสรรค อกหัก มีปัญหาการงาน ถ้าเขามีภูมิคุ้มกันที่ดีตั้งแต่เริ่มต้นเขาจะผ่านสิ่งเหล่านั้นไปได้


บันไดสามขั้นของการพัฒนาชีวิต เริ่มตั้งแต่วัยแรกเกิด thaihealth


“สำหรับความคิดเห็นจากผู้ร่วมกิจกรรม” นางสาวชไมพร ชิตบัณฑิตย์ อายุ 39 ปี คุณแม่ที่มีลูกสาวน่ารักในวัย 2 ขวบ 6 เดือน แสดงความคิดเห็นว่า ก่อนหน้านี้เคยเข้าร่วมกิจกรรมกับ สสส. และทราบแนวทางการเลี้ยงลูกที่มีส่วนพัฒนา EF เป็นพื้นฐานมาแล้ว วันนี้ตั้งใจว่าจะนำความรู้เรื่องการสอนให้ลูกรู้จักยับยั้งชั่งใจไปปรับใช้ เพราะตนมองว่าการเลี้ยงลูกแบบ EF ไม่ได้ต่างไปจากการเลี้ยงแบบทั่วไปลูกยังคงมีความสุขตามวิถีชีวิตเหมือนเดิม เพียงแต่นำแนวทางเรื่อง EF เข้ามาผสมผสานควบคู่กันไป จึงอยากเชิญชวนให้ครอบครัวที่มีเด็กเล็กหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของเด็ก เพื่อที่จะได้เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพในอนาคต ที่มีความสุขและพร้อมเรียนรู้สิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา


สำหรับกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ สสส.พร้อมจะส่งความสุขอย่างต่อเนื่องโดยติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ www.thaihealth.or.th/sook หรือ www.facebook.com/SOOK สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line ID: @SOOK หรือโทร.081-7318270 หรือ 02-3431500 กด 2

Shares:
QR Code :
QR Code