บันทึกยาที่ใช้…ปลอดภัยต่อเนื่อง
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
ในปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีประมาณการณ์ว่าสัดส่วนผู้สูงอายุของประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นถึง 17% ในปี 2563 แต่เมื่อสูงวัยขึ้นมักจะมีโรคต่างๆ ที่ตามมาโดยเฉพาะพวกโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ และเบาหวาน โดยมีผู้ป่วยเพียงบางส่วนที่รู้ตัวและได้รับการรักษา และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแต่ควบคุมไม่ได้ก็มีจำนวนไม่น้อย ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ยารักษาเป็นประจำและต่อเนื่อง
ข้อมูลจากภญ.จันทิมา โยธาพิทักษ์ผู้ช่วยนายกสภาเภสัชกรรม ฝ่ายวิชาการ แนะนำว่า ผู้ที่ต้องใช้ยาเป็นประจำควรมี “สมุดบันทึกยา” พกไว้ติดตัว ซึ่ง“สมุดบันทึกยา”คือ สมุดที่บันทึกรายการยาที่ผู้ป่วยต้องใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นยาที่ได้จาก โรงพยาบาล ร้านยา คลินิก ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ สถานพยาบาลอื่นๆ ในสมุดบันทึกยานอกจากจะมีรายการยาทั้งหมดที่ผู้ป่วยได้รับแล้ว ยังมีการบันทึกรายละเอียดที่สำคัญของผู้ป่วยไว้ เช่น อายุ น้ำหนักตัว ส่วนสูง รวมทั้งประวัติการแพ้ยา อาการข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้แพทย์หรือเภสัชกร สามารถส่งต่อข้อมูลเรื่องยา และเลือกจ่ายยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโดยไม่มีปัญหากับยาที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำอยู่แล้ว ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการได้รับยาซ้ำซ้อน ยาตีกันหรือแพ้ยาซ้ำ รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้ยาให้แก่ผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ในภาวะฉุกเฉิน หรือเมื่อเกิดวิกฤติภัย สมุดบันทึกยาที่พกติดตัวไว้ ยังสามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่ไม่มีโอกาสไปรับการรักษาในสถานพยาบาลเดิม สามารถรับยาจากหน่วยบริการอื่นได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้หากมีการไปพบแพทย์หลายๆ โรงพยาบาลหรือคลินิก อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับยาชนิดเดียวกันจนเกิดการรับประทานยาซ้ำซ้อน หรือเกิด “การตีกัน” ของยา ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงแก่ผู้ป่วยได้ การไปพบแพทย์หรือเภสัชกรจึงควรมีรายการยา หรือนำยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิดไปด้วยทุกครั้ง เพื่อให้เภสัชกรพิจารณาว่ามียาที่รับประทานซ้ำซ้อนกันหรือไม่ หรือมียาชนิดใดที่ตีกันหรือไม่จะได้หาทางแก้ไขและป้องกัน เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการใช้ยา
ข้อควรปฏิบัติเพื่อลดปัญหาจากการใช้ยา
– ต้องรู้จักชื่อยาและความแรงของยาที่ใช้
– มีประวัติแพ้ยาต้องแจ้งแพทย์ เภสัชกรทุกครั้งเมื่อมารับการรักษา
– ถ้ามียา สมุนไพร อาหารเสริมที่ต้องใช้เป็นประจำควรบันทึกไว้ในสมุดบันทึกยา และให้แพทย์ หรือเภสัชกรดูทุกครั้งเมื่อมารับการรักษา
– ก่อนใช้ยา ควรอ่านฉลากยาอย่างละเอียด และไม่ควรกินยาของคนอื่น การไม่อ่านฉลากยา และใช้ยาผิด อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากมีข้อสงสัย ให้ปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง
– ใช้ยาตามคำแนะนำในฉลากยา
– ผู้ป่วยที่มีภาวะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรแจ้งเภสัชกรทุกครั้งที่รับยา เพื่อให้เภสัชกรพิจารณาความเหมาะสมของยา และผลของยาที่อาจมีต่อบุตรในครรภ์หรือบุตรที่ได้รับนมแม่
– ภายหลังที่ใช้ยาที่ไม่เคยรู้จัก หรือใช้เป็นครั้งแรกให้หมั่นสังเกตตัวเอง ถ้าพบความผิดปกติสงสัยแพ้ยาให้รีบกลับมาพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรใกล้บ้าน
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ป่วยและประชาชนผู้ใช้ยาควรดูแลบันทึกการใช้ยาของตนเองเพื่อความปลอดภัย รวมถึงการบันทึกรายการยา สมุนไพร อาหารเสริม ที่ประชาชนหาซื้อมาใช้เองเพิ่มเติม เพื่อให้มีบันทึกยาที่สมบูรณ์พอที่จะเป็นเครื่องมือในการป้องกันอันตรายจากยาและช่วยให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยาอย่างแท้จริงหากมีปัญหาเรื่องการใช้ยาหรือสมุนไพรให้ปรึกษา…เภสัชกร