“บักตื้อ” หนังตะลุงอีสาน
สะท้อนวัฒนธรรมพื้นถิ่นอย่างมีเอกลักษณ์
เมื่อพูดถึง “หนังตะลุง” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการแสดงของภาคใต้แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่าภาคอีสานก็มีหนังตะลุงและมีการละเล่นแบบนี้มานานหลายปีแล้วเช่นกัน หนังตะลุงอีสาน หรือที่ชาวบ้านเรียก “หนังประโมทัย”หรือ “หนังบักตื้อ” ในอดีตมีการเล่นในหลายจังหวัด ทั้งอุบลราชธานี อุดรธานีขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ และมหาสารคาม แต่ปัจจุบันเหลือคณะที่เล่นน้อยมาก
แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมสร้างสรรค์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับกลุ่มละครคนหน้าดำ ทำโครงการ “สื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชน” นำเด็กเยาวชนจากโรงเรียนดงบังพิสัยนวการณ์นุสรณ์ บ้านดงบัง ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จ.มหาสารคามมาฝึกหัดการเล่นหนังตะลุง ฝึกฝนจนเกิดความเชี่ยวชาญ ผสมผสานเสียงดนตรีทั้งกีตาร์ กลอง คีย์บอร์ด และแคน บรรเลงเพลงประกอบการแสดง สร้างความเพลิดเพลินให้เกิดขึ้นได้อย่างลงตัว
ในมหกรรมสื่อพื้นบ้านภาคอีสาน ภายใต้ชื่องานมหกรรม “ตุ้มโฮม โรมแนมฮูปแต้มศิลป์ ถิ่นอีสาน” ณ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ที่ผ่านมา ได้นำหนังบักตื้อฝีมือการแสดงจากเยาวชนลูกหลานอีสานแท้ๆ ทุกลีลา ทุกทวงท่าสามารถดึงดูดให้เด็กเล็กๆ ไปจนถึงผู้เฒ่า ผู้แก่ให้หยุดดูจนไม่ลุกเดินหนีตั้งแต่วินาทีแรกจนจบเรื่อง…
เรื่องราวที่นำมาแสดงจะเป็นเรื่องสังข์ศิลป์ชัย หรือสินไซ ภาพบนจิตรกรรมฝาผนังฮูปแต้มที่ปรากฏอยู่ในโบสถ์ หรือ “สิม” วัดโพธาราม ต.ดงบัง อ.นาดูนจ.มหาสารคาม ศิลปกรรมฝาผนังที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองมาประยุกต์ใช้ ประกอบกับการศึกษาเรื่องราวและข้อมูลของตัวละครจากพ่อครู แม่ครูเพิ่มเติมจนออกมาเป็น สินไซ ในปัจจุบันมาวันนี้การบอกต่อปากต่อปากทำให้ “หนังบักตื้อ” เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ที่สำคัญทำให้เยาวชนมีสำนึกอนุรักษ์หนังตะลุงอีสานเอาไว้ช่วยให้การละเล่นแขนงนี้ไม่เลือนหายไปจากชาวอีสานได้เลย…
ที่มา : จุลสาร ร หัน แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกฯ สสส.
update:29-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่