‘บวชป่า’ อนุรักษ์พื้นที่ บ้านห้วยตึงเฒ่า
ที่มา : หนังสือวิถีชุมชนสร้างเศรษฐกิจฐานราก ป่าชุมชน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
อนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านห้วยตึงเฒ่า ชุมชนร่วมจัดการทรัพยากรต้นไม้ป่าไม้อย่างยั่งยืน
ในพื้นที่บ้านห้วยตึงเฒ่า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ก่อนปี 2523 มีราษฎรจำนวนหนึ่งเข้าไปใช้พื้นที่บริเวณหลังกองพันสัตว์ต่าง กรมการสัตว์ทหารบก เป็นที่ทำกิน โดยแบ่งออกเป็น 3 หย่อมบ้าน จำนวน 64 ครอบครัว ต่อมาพระบาทสมเด็กพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมศูนย์เกษตรกรรมทหารบก จ.เชียงใหม่ และทรงทราบว่าเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ใช้ในศูนย์เกษตรกรรมทหาร และการแบ่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรกับราษฎรบริเวณฯใกล้เคียง จึงมีพระราชดำริให้ทำการสำรวจแหล่งน้ำบริเวณหลังกองพันสัตว์ต่าง กรมการทหารบก เพื่อจัดสร้างแหล่งน้ำไว้แก้ปัญหาดังกล่าว
และเพื่อรักษาแหล่งน้ำและพื้นที่ป่าเอาไว้ ชาวบ้านจึงร่วมกันหากลวิธีในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยชุมชนเป็นฐาน มีการนำระบบสิทธิหน้าหมู่ หรือระบบทรัพยากรร่วมของชุมชนเข้ามาใช้ โดยถือว่าป่าชุมชนเป็นกิจกรรมของคนชนบท ในการจัดการทรัพยากรต้นไม้ป่าไม้ เพื่อผลประโยชน์ของครอบครัวและชุมชน ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการปลูก จัดการ ป้องกันและเก็บหาผลประโยชน์จากป่าไม้ภายใต้ระบบการจัดการที่ยั่งยืนที่รวมถึงป่า ทั้งที่เป็นป่าบก ป่าชายเลน รวมถึงป่าพรุและบุ่งทาม ประกอบด้วยต้นไม้ ทุ่งหญ้า พันธุ์พืช สัตว์ป่า แหล่งน้ำ และสรรพสิ่งในธรรมชาติที่เป็นระบบนิเวศทั้งหมดของป่าชุมชน อาจตั้งอยู่รอบหมู่บ้าน รอบแหล่งชุมชน หรืออาจอยู่ใกล้เคียงกับชุมชน ชุมชนนั้นอาจจะเป็นชุมชนที่เป็นทางการ เช่น หมู่บ้าน อบต. หรือชุมชนตามประเพณีก็ได้ และอาจเป็นหนึ่งชุมชน หรือหลายชุมชนที่มาจัดการป่าชุมชนร่วมกันก็ได้
ปัจจุบันที่นี่ มีพิธีบวชป่า เป็นการทำพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อให้คนในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ผืนป่าชุมชน ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารและยาสมุนไพร เปรียบเสมือนสวัสดิการของคนในชุมชน ที่เกิดจากคนในชุมชนร่วมมือกันอนุรักษ์ สรร์สร้างขึ้นมา และเป็นประโยชน์ต่อตนเองและลูกหลาน อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งป่าชุมชนห้วยฒึงเฒ่า จะมีการนำจีวรมามัดบริเวณลำต้นของต้นไม้ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนรักป่า ดูแลป่า ไม่ตัดไม้ทำลายป่า