บริษัทยาแห่ขอเพิ่มคำเตือน หลัง ก.ม. ความรับผิดบังคับใช้
หวั่น!! กระทบแบ่งขาย เข้าข่ายการผลิต
“เลขาฯ อย.” เผยมีบริษัทยาขอใส่คำเตือนการใช้ยาเพิ่ม หลังกฎหมายความรับผิดต่อสินค้าไม่ปลอดภัยบังคับใช้ ชี้อนาคตธุรกิจขายยาลักษณะแบ่งขายจะลดลง ขณะที่การใช้ใบกำกับยาจะเพิ่มขึ้น
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยถึง พ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ว่าเป็นเรื่องนโยบาย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาออกประกาศ เพื่อยกเว้นการใช้ยาในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือไม่ เพราะเกรงว่าอาจกระทบต่องานบริการผู้ป่วยและประชาชนได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการแบ่งยา ผสมยา ซึ่งการตีความกฎหมายอาจเข้าข่ายถึงการผลิตอาจจะกระทบได้
อย่างไรก็ตาม เห็นว่า พ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ผลิตยา ต้องมีการใส่รายละเอียดข้อมูลในเอกสารกำกับยามากขึ้น โดยเฉพาะคำเตือน ข้อควรใช้ ข้อระวัง ตลอดจนวิธีการใช้ที่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่ามีหลายบริษัทยามายื่นเรื่องเพื่อเพิ่มเติมรายละเอียดการใช้ยาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดจากกฎหมายนี้ เพราะเริ่มไม่แน่ใจว่ารายละเอียดที่อยู่ในเอกสารกำกับยาก่อนหน้านั้นเพียงพอหรือไม่
นพ.พิพัฒน์ เชื่อว่าจากผลการบังคับใช้ของกฎหมายนี้ จะทำให้การจำหน่ายยาในลักษณะแบ่งขายจากบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่จะลดลง หรือหายไปในที่สุด เพราะเกรงว่าจะเข้าข่ายในกฎหมายดังกล่าว และจะมีการทำรายละเอียดเอกสารคำเตือนแนบไปให้กับผู้ซื้อทุกครั้งที่ต้องมีการแบ่งขาย อีกทั้งพบว่ายาที่มีการบรรจุลักษณะเป็นแผง จะต้องมีการใส่รายละเอียดการใช้ยาในบรรจุภัณฑ์เช่นกัน
“ยาที่ผลิตต่อไปการแบ่งขายจะลดลง ผู้ผลิตจะต้องผลิตแบบแยกบรรจุเม็ดเป็นแผงยา และมีการใช้ใบกำกับยาเพิ่มขึ้น ซึ่งมองภาพรวมก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่เป็นผู้ใช้ยา” เลขาธิการ อย. กล่าว
นพ.พิพัฒน์ ยังกล่าวถึง ภาพรวมการใช้ยาของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยมูลค่าการผลิตยาและนำเข้ายาในปี 2548 มีมูลค่า 74,000 ล้านบาท ปี 2549 มูลค่า 83,000 ล้านบาท และในปี 2550 สูงถึง 107,000 ล้านบาท สาเหตุเกิดจาก
1. วิวัฒนาการเทคโนโลยีในการผลิตยาใหม่ๆ ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้การวิจัยและผลิตยารวดเร็ว มียาใหม่ๆ ออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น
2. การเข้าถึงยาของประชาชนง่ายขึ้น ซึ่งมาจากโครงการรัฐสวัสดิการ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ทุกโรค การเข้าถึงยาจึงง่ายขึ้นกว่าเมื่อช่วง 7 – 8 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเข้าถึงยารักษาโรคที่มีภาวะรุนแรง แต่เมื่อมีระบบรักษาพยาบาลทำให้ประชาชนเข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องห่วงค่าใช้จ่าย จึงมีการใช้ยามากขึ้น
3. ซึ่งเป็นสาเหตุที่ควรได้รับการแก้ไขมากที่สุด คือ การใช้ยาที่เป็นค่านิยมไม่ถูกต้อง ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ยาของประชาชนและแพทย์ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะที่มีการใช้อย่างฟุ่มเฟือย ทั้งที่บางโรคไม่จำเป็นต้องใช้ อาทิเช่น โรคอุจจาระร่วง โรคหวัด ที่สามารถหายจากอาการป่วยเองได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
update 03-03-52