บริษัทบุหรี่บิดเบือนอันตรายควันบุหรี่
ชี้มีสารพิษ-สารก่อมะเร็งมากกว่าควันบุหรี่ที่ผู้สูบสูบเข้าไป 2-6 เท่า
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยรายงานของ แอน แลนด์แมน จากศูนย์สื่อเพื่อประชาธิปไตย วิสคอนซิน ที่เผยแพร่ในพีอาร์ วอท์ช วันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ถึงการวิจัยเอกสารลับของบริษัท ฟิลิป มอริส เจ้าของบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร พบว่าบริษัทได้วิจัยและรู้ถึงอันตรายของควันบุหรี่มือสองตั้งแต่ พ.ศ. 2514 แต่ได้ปกปิดเป็นความลับ พร้อมทั้งบิดเบือนข้อมูลเพื่อขัดขวางการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ
โดยระหว่าง พ.ศ.2524 ถึง 2529 ได้ทำการวิจัยอย่างน้อย 115 การทดลองที่เปรียบเทียบสารพิษของควันบุหรี่ที่ผู้สูบบุหรี่สูบเข้าไป กับควันที่ลอยจากปลายมวนบุหรี่หรือควันบุหรี่มือสอง ฟิลิป มอริสพบว่าควันบุหรี่มือสองมีสารพิษและสารก่อมะเร็งมากกว่าควันบุหรี่ที่ผู้สูบสูบเข้าไป 2-6 เท่า แต่ ฟิลิป มอริสไม่เคยเปิดเผยผลการวิจัยเหล่านี้และเก็บไว้เป็นความลับสูงสุด ในขณะเดียวกันบริษัทได้ทำสิ่งที่เลวร้ายกว่าการปกปิดข้อมูลอันตรายของควันบุหรี่มือสอง โดยเมื่อสถาบันพิทักษ์สิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกา ประกาศอย่างเป็นทางการว่าควันบุหรี่มือสองเป็นสารก่อมะเร็งต่อมนุษย์ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนอเมริกา 53,000 คนต่อปีในปี พ.ศ.2536 ฟิลิป มอริสได้วางแผนการสร้างความสับสนถึงอันตรายของควันบุหรี่มือสอง และสกัดกั้นการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะทั่วโลก เอกสารภายในของบริษัทชิ้นหนึ่งปี พ.ศ.2536 แสดงถึงแผนการสร้างกระแสความสับสนเกี่ยวกับควันบุหรี่มือสอง และการขัดขวางการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ โดยพยายามเปรียบเปรยอันตรายของควันบุหรี่มือสองว่าเหมือนกับการกินน้ำที่ผสมคลอลีน หรือการใช้โทรศัพท์มือถือ เบี่ยงเบนจุดสนใจอันตรายของควันบุหรี่มือสองในที่ทำงานจากเรื่องอันตรายต่อสุขภาพเป็นเรื่องของการก่อความรำคาญ เบี่ยงเบนการห้ามสูบบุหรี่ในภัตตาคารให้เป็นเรื่องของการยอมโอนอ่อนให้อยู่ร่วมกันและสูบบุหรี่ได้ ตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ระดับโลกในการขัดขวางการห้ามสูบบุหรี่ โดยให้เน้นการปรับปรุงระบบระบายอากาศภายในอาคารแทนการห้ามสูบบุหรี่ เบี่ยงเบนประเด็นอันตรายของควันบุหรี่มือสองไปที่เรื่องคุณภาพอากาศภายในอาคารจากสารที่อาจเป็นพิษอื่น สร้างเครือข่ายระดับโลกเพื่อผลิตผลงานวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความสับสนถึงอันตรายของควันบุหรี่มือสอง
ขณะเดียวกัน ฟิลิป มอริสได้ทำโครงการ โปรเจค บราสสซึ่งเป็นโครงการลับที่ทำโดยบริษัทลีโอ เบอร์เนทท์ เพื่อสร้างความสับสนถึงอันตรายของควันบุหรี่มือสอง เพื่อป้องกันการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เปลี่ยนความเชื่อของสังคม และสร้างบรรยากาศที่ยอมรับผู้สูบบุหรี่ในประชาชนทั่วไป โปรเจคบราสสเปรียบเสมือนก้อนน้ำแข็งที่อยู่เหนือน้ำ ยังมีโครงการอื่นอีกมากมายเพื่อสร้างกระแสบิดเบือนความเข้าใจของสังคมต่อควันบุหรี่มือสอง และหน่วงเหนี่ยวการออกกฎหมายในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก จนถึงโครงการที่ป้องกันไม่ให้มีการกำหนดรหัสโรคที่เกิดจากการได้รับควันบุหรี่มือสองขององค์การอนามัยโลก
ข้อมูลที่กล่าวแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แอน แลนด์แมน ค้นพบในการวิจัยเอกสารลับของบริษัทบุหรี่ที่ถูกเปิดเผยโดยการบังคับของศาล โครงการต่าง ๆ ของบริษัท ฟิลิป มอริสจงใจที่จะสร้างความเข้าใจผิดต่อชาวโลกจำนวนมากถึงอันตรายของควันบุหรี่มือสอง ทำให้เกิดความล่าช้าในการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และได้คร่าชีวิตนับหมื่นนับแสนทั้งคนที่ไม่สูบบุหรี่และผู้สูบบุหรี่
ข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลกพบว่า มีเพียงร้อยละ 5 ของประชากรโลกที่ได้รับการคุ้มครองจากควันบุหรี่มือสองโดยกฎหมายที่ห้ามสูบบุหรี่ 100% ในที่สาธารณะ มูลนิธิบลูมเบริกได้ให้ทุน 7 แสนดอลลาร์เพื่อให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขไทย ยกเครื่องกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ของไทยให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ให้ได้ 100% ภายในเวลาสองปีเริ่มตั้งแต่ปีนี้
ที่มา : : ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โทร. 02-278-1828 / 081-8229799
update 19-02-52