บริษัทบุหรี่ท้าทายกฎหมายโลก สังคมต้องรู้ให้ทันกลยุทธ์


ถ้าเป็นนักต่อสู้ หรือ นักกีฬา เขาบอกว่า “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” แต่ในหมู่ของคนที่ไม่ยึดถือกติกาของสังคม เขาจะบอกว่า “กฎหมายมีไว้ละเมิด”


เมื่อเดือนที่ผ่านมา ในวันงดสูบบุหรี่โลก (20 พ.ค.) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ที่สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “บริษัทบุหรี่ท้าทายกฎหมายโลก” ซึ่งมีนักวิชาการและนักรณรงค์ร่วมแสดงความเห็นถึงความไร้จรรยาบรรณของพ่อค้าบุหรี่ที่ไม่เคารพกฎหมาย และร่วมกันเปิดโปงการทำตลาดบุหรี่ทุกวิถีทางของพ่อค้าบุหรี่กันอย่าง ถึงพริกถึงขิง ทำให้ได้รับรู้ว่า บริษัทค้าบุหรี่ทั่วโลก ทำทุกอย่าง เพื่อให้ได้เหยื่อเสพติดบุหรี่หน้าใหม่ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น หรือผู้หญิง ด้วยเหตุผลประการเดียว คือ กำไรมหาศาล โดยไม่คำนึงถึงความตาย ความทุกข์ทรมานด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ที่จะเกิดกับผู้ไม่ทันเล่ห์กลการตลาดของพ่อค้าบุหรี่


นพ.ชัย กฤติยาภิชาติกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า อนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ (FCTC)ประเทศไทย ได้กำหนดคำขวัญว่า “พิทักษ์สิทธิตามกฎหมาย มุ่งสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของกฎหมายโลกด้านการควบคุมยาสูบ ซึ่ง FCTC นี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยชีวิตคนจากการป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ โดยมีข้อมูลระบุว่าบุหรี่คร่าชีวิตคนในโลกมาแล้ว 5.4ล้านคน หากประเทศต่างๆ มีการต่อต้าน จะสามารถลดการตายของผู้สูบบุหรี่ 8ล้านคนในอีก 20ปีข้างหน้า อีกทั้งยังช่วยป้องกันนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของอุตสาหกรรมยาสูบที่มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นด้วย


ผศ.ดร.กิตติ กันภัย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า บริษัทบุหรี่กำลังท้าทายกฎหมายโลก เพราะใช้การตลาดทุกรูปแบบทั้งการโฆษณา การส่งเสริมการตลาด และการให้ด้วยเงินและสิ่งของหรือความช่วยเหลือกิจกรรมด้านสังคม ซึ่งเป็นการทำตลาดที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ เช่น การบริจาค การให้ทุนการศึกษา การใช้ความช่วยเหลือกับหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น


คุณศิริชัย พรรณธนะ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการฝ่าฝืนกฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ในมาตรา 6ของ พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535ที่ระบุว่า ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยแจกแถมให้หรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น หรือการให้บริการอย่างอื่นประกอบ ตัวอย่างกรณีของโรงงานยาสูบ ที่แจกสินค้า เช่น จานชาม ที่ตั้งโต๊ะ ป้ายโฆษณาที่เชื่อมโยงกับยี่ห้อบุหรี่ของโรงงานยาสูบ อยู่ในบริเวณร้านอาหาร โดยหลีกเลี่ยงกฎหมายด้วยการอ้างว่า ทำไปเพื่อเป็นการเชิญชวนให้คนสนใจในรสชาติอาหาร


ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทั่วโลกมีการใช้พริตตี้ส่งเสริมการขายบุหรี่มานานแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการขายสินค้า และสร้างภาพลักษณ์ให้กับบริษัทบุหรี่ ในประเทศไทยมีการใช้พริตตี้ใน 4ลักษณะ ได้แก่ บูธแนะนำและขายบุหรี่ที่ผับบาร์ บูธขายบุหรี่ในงานต่างๆ คอนเสิร์ต กีฬา งานประเพณี จึงขอเสนอให้รัฐร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เฝ้าระวังและยุติการส่งเสริมการขายบุหรี่ด้วยพริตตี้ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง


ผศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การทำตลาดบุหรี่ทางอินเตอร์เน็ตเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันการใช้อินเตอร์เน็ตมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสื่อนี้ก็เติบโตในอัตราที่สูงหลายเท่าตัวสั่งซื้อได้ง่าย และยังมีราคาถูก มีโปรโมชั่นของแจกของแถมมากมายที่เชิญชวนให้มาเป็นลูกค้า มีสินค้าบุหรี่หลายตัวที่เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้หญิง เป็นที่สร้างภาพลักษณ์ผ่านกิจกรรมทางสังคม ตนจึงอยากเรียกร้องให้เกิดกฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ทางอินเตอร์เน็ตด้วย


อาจารย์สุวิมล จันทร์เปรมปรุง เครือข่ายครูนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า มีโรงเรียนเป็นจำนวนมากที่รับเงินจากบริษัทบุหรี่ ในนามของเครือข่ายครูนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และฐานะคุณครูที่อยู่ในโรงเรียนมีหน้าที่ดูแลเยาวชน เห็นว่าการที่ธุรกิจยาสูบเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมและมอบสิ่งต่างๆ ให้กับโรงเรียน เป็นผลระยะยาวที่โรงเรียนต่างๆ ไม่รู้เท่าทัน ผลก็คือแรงต้านของนโยบายที่ส่งผลต่อการควบคุมยาสูบจะลดน้อยลง และในที่สุดก็จะส่งผลให้เด็กๆ เยาวชนของชาติสูบบุหรี่มากขึ้น จึงอยากให้คุณครูทุกท่านอย่าให้โรงเรียนเป็นสะพานเชื่อมโยงบริษัทบุหรี่กับเยาวชน จึงขอเชิญชวนโรงเรียนต่างๆ ร่วมสร้างโรงเรียนปลอดบุหรี่และปลอดจากการรับเงินและการสนับสนุนใดๆ จากบริษัทบุหรี่


คนที่ไม่ต้องการสูบบุหรี่ จัดว่าเป็น “คนที่วิ่งหนี” ส่วนคนที่ต้องการยัดเยียดให้มีการสูบบุหรี่ จัดว่า “เป็นคนวิ่งไล่” ถ้าวันใดคนที่เป็นฝ่ายหนีหมดแรง คนที่เป็นฝ่ายไล่ก็คงวิ่งตามมาทัน แล้ววันนั้นก็คงเป็นวัน “ฝันร้าย”ของคนที่วิ่งหนีนั่นเอง


 


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการ โดย ปานมณี

Shares:
QR Code :
QR Code