บรรเลงแทงโก้ ในสวนสมรม
ปี 2505 เกิดวาตภัยในภาคใต้ พื้นที่การเกษตรรวมถึงสวนสมรมหลายแห่งในตำบลชุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ได้รับความเสียหาย ปีถัดมามีกองทุนสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเริ่มสนับสนุนให้ปลูกผลไม้ หรือต้นไม้เป็นแถวเป็นแนว ซึ่งชาวบ้านต่างเห็นพ้องต้องกัน เพราะถึงอย่างไรก็ดีกว่าการปลูกสะเปะสะปะ
ประเสริฐ บรรจบกาญจน์ เป็นเกษตรกรชาวสวน เจ้าของสวนสมรม ที่ยังคงวิถีของสวนสมรมโบราณอยู่ พื้นที่กว่า 65 ตารางกิโลเมตรในขุนทะเลเป็นสวนสมรม ไม่แปลกที่สองข้างทางจะเขียวชอุ่ม
“การปลูกสวนสมรมมีข้อดีคือ การปลูกมังคุด ลองกอง ลางสาด ทุเรียนบางครั้ง มันเป็นผลพร้อมกัน มีรายได้จากทุกทาง ยิ่งถ้าผลไม้ชนิดไหนออกนอกฤดูกาล รายได้ก็จะยิ่งงามนัก ยกตัวอย่าง มังคุด ในฤดู ราคาอาจจะอยู่ที่ 30-50 บาท แต่นอกฤดู ราคาพุ่งไปถึงร้อยกว่าๆ สวนสมรมเพิ่มรายได้ของครัวเรือน แทนที่จะได้มังคุดอย่างเดียว เราก็ได้ลางสาด ลองกอง ทุเรียนด้วย ถ้ามันเป็นผลพร้อมกันนะ” ประเสริฐเล่า
ข้อเสียอาจอยู่ที่แสงสว่าง พืชบางชนิดต้องการแสงสว่าง เมื่อพืชบางชนิดต้องการแสงมาก แต่ภายในสวนสมรมมีข้อจำกัดเพราะร่มเงา ผลที่ที่ได้จะไม่ค่อยสมบูรณ์ อาจต้องปลูกเป็นระยะ เพื่อให้มีแสงมีอากาศพอเพียง เป็นการหาช่องว่างของธรรมชาติด้วยความเข้าใจ
ประเสริฐ บอกอีกว่า สวนสมรมเป็นรายได้หลักไม่ได้ วิถีการปลูกแบบสวนสมรมเหมาะแก่การบริโภคเอง เหมือนแนวคิด ‘ตู้เย็นนอกบ้าน’ ของสมบูรณ์ เกษตรกร 100 เปอร์เซ็นต์
“ถ้าทำสวนสมรมอย่างเดียวอาจอยู่ลำบาก ต้องมีรายได้หลัก สวนสมรมเป็นกำไรที่ไม่ได้คาดหวัง” ประเสริฐสรุป
นอกจากการเป็นเกษตรกร ประเสริฐยังเล่นดนตรี โดยเขาเล่าว่า เมื่อก่อนมีจังหวะให้เล่นเยอะ ทั้งแทงโก้ สวิงอะไรต่างๆ เดี๋ยวนี้ คนฟังอยู่ไม่กี่จังหวะ แต่ด้วยความรักในเสียงดนตรีที่ยังต่อไฟในตัวให้ไปเล่นดนตรีอย่างสม่ำเสมอ
เพราะสำหรับประเสริฐ การเล่นดนตรีก็เหมือนการทำสวนสมรม ทำไปด้วยใจรัก
ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ