บทเรียนครอบครัวไทยในวิกฤติน้ำท่วม
เครือข่ายครอบครัวเสวนา “บทเรียนครอบครัวไทยในวิกฤติน้ำท่วม” เผยผลสำรวจ family poll จาก 387 ครอบครัวในพื้นที่ 4 จังหวัดพบหลายครอบครัวเห็นความสำคัญเรื่องการฟื้นฟูสัมพันธภาพภายในครอบครัว โดย 66% จะคุยกันให้มากขึ้น เผยยังหวั่นน้ำจะท่วมปีหน้าซ้ำ
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ที่ลานกิจกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จัดเสวนา “บทเรียนครอบครัวไทยในวิกฤติน้ำท่วม : เตรียมกาย-ใจหัวเราะร่า รับมือปี 555” โดยนายธนากร คมกฤส ผู้อำนวยการงานพัฒนานวัตกรรม สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย นำเสนอผลการสำรวจ family poll จาก 387 ครอบครัว ในพื้นที่ 4 จังหวัด ไล่เรียงจากเขตคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เขตสายไหม และรามอินทรา กรุงเทพฯ เขตบางใหญ่ บางบัวทองและบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตตำบลอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร พบว่าส่วนใหญ่ระบุว่าครอบครัวของตนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ 67.7% ได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัยและทรัพย์สิน 14.0% สูญเสียรายได้ 5.9% ได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพ ที่ร้ายแรงที่สุดคือการสูญเสียครอบครัว อย่างไรก็ตามครอบครัวส่วนใหญ่มีการเตรียมรับมือกับน้ำท่วม เช่น ยกของขึ้นที่สูง วางกระสอบทราย และอุดทางน้ำ และยอมรับว่าน้ำท่วมทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว โดยใช้วิธีการพูดคุยเพื่อรักษาสัมพันธภาพอันดีไว้
ทั้งนี้ เมื่อถามสิ่งที่กังวลหลังจากนี้ ส่วนใหญ่ 48.6% ตอบว่ากังวลว่าน้ำจะท่วมในปีหน้า และเมื่อถามถึงสิ่งดีๆ ที่มีคุณค่าในครอบครัว ส่วนใหญ่พบว่ามีคุณค่าด้านความสัมพันธ์ ทั้งภายในครอบครัว และชุมชน เช่น การเข้าใจกัน
ด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร เลขาธิการสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากผลการสำรวจเห็นว่าการตัดสินใจของคนโดยส่วนใหญ่อยู่บนฐานที่คิดถึงครอบครัว ครอบครัวจึงเป็นหน่วยสำคัญที่ต้องได้รับการเสริมทักษะ ทั้งการรับมือน้ำท่วม การดูแลสมาชิกครอบครัว ที่สำคัญคือการมีแผนครอบครัวในการเผชิญกับสถานการณ์ หน่วยงานของรัฐและท้องถิ่นต้องมีบทบาทการจัดทำแผนภัยพิบัติที่ควรคำนึงถึงมิติครอบครัว เช่น กระบวนการช่วยเหลือ การตั้งศูนย์พักพิงที่เหมาะสม
“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดภัยพิบัติ สำหรับประเทศไทย เพราะเราเคยเจอกับสึนามิมาแล้ว แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ว่าแม้เราพยายามเรียนรู้ แต่ระบบการเรียนรู้ของเราช้า ดังนั้นครอบครัวต้องมีความเข้าใจ 3 ประเด็นหลักๆ คือ การสร้างความเข้าใจภัยพิบัติ การเตรียมการ และการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กๆ และที่สำคัญสมาชิกในครอบครัวแต่ละคน จะต้องรู้ว่ามีศักยภาพในการรับมือกับสถานการณ์อย่างไร เช่น เด็กหากพลัดหลงพ่อแม่ต้องติดต่อโทรศัพท์ที่หมายเลขใด หากติดต่อกับพ่อแม่ไม่ได้ จะมีใครที่วางใจช่วยเหลือได้บ้าง”แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าว
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวด้วยว่า สำหรับการบรรจุหลักสูตรการรับมือภัยพิบัติในหลักสูตรการศึกษานั้น ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันอยู่มาก แต่สิ่งสำคัญคือการฝึกสัญชาตญาณว่าต้องดูแลตัวเองอย่างไร ต้องมีความเข้าใจว่าพื้นที่ที่อยู่นั้นเกิดภัยพิบัติประเภทไหน และการเรียนรู้เรื่องการจัดการให้เด็กสามารถมีการเรียนรู้การจัดการเองได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้สมาคมฯ อยู่ระหว่างการจัดศึกษาจัดทำคู่มือนี้อยู่
เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร team content www.thaihealth.or.th