บทพิสูจน์สงกรานต์ปลอดเหล้า

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ข่าวสด


บทพิสูจน์สงกรานต์ปลอดเหล้า thaihealth


บทพิสูจน์สงกรานต์ปลอดเหล้า สสส. สร้างพื้นที่ปลอดภัยยั่งยืน


ผ่านมากว่า 10 ปี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันสร้างพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย เพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และในปี 2560 เป็นครั้งแรกที่มอบรางวัล STOPDRINK AWARD 2017 "สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า" โดยมีพื้นที่จัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้าเข้ารับรางวัล 30 พื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 24 แห่ง ส่วนราชการจำนวน 3 แห่ง และพื้นที่เอกชนจำนวน 4 แห่ง เข้ารับรางวัล และร่วมแบ่งปันประสบการณ์และปัจจัยความสำเร็จของแต่ละพื้นที่ สสส.ตั้งเป้า สร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ยั่งยืน


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ความสำเร็จของพื้นที่ปลอดภัยทั้ง 30 พื้นที่ทั่วประเทศเป็น การตอกย้ำค่านิยมที่ถูกต้องของการจัดประเพณีสงกรานต์ปลอดเหล้าที่ สสส.ดำเนินการมาตลอด 10 ปีจากผลการสำรวจความเห็นของประชาชน ผู้จัดงาน และผู้จำหน่ายสินค้าในช่วงเทศกาล ปี 2560 โดย สคล. ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) และ สสส. จากกลุ่มตัวอย่าง 2,069 คน จากพื้นที่ จัดงานสงกรานต์10 พื้นที่ทั่วประเทศทั้งที่จัดงานแบบปลอดเหล้า และไม่ปลอดเหล้าพบว่ามากกว่าร้อยละ 80 เห็นด้วยกับการจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้าโดยประชาชน ร้อยละ 91.1 เชื่อว่า ช่วยลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ,ร้อยละ 91.2 เชื่อว่าช่วยลด การสูญเสียชีวิตลงได้


บทพิสูจน์สงกรานต์ปลอดเหล้า thaihealth


"ผลการสำรวจดังกล่าวยืนยันได้ว่าประชาชนเห็นประโยชน์และสนับสนุนให้มีพื้นที่ปลอดภัยขณะที่ระดับนโยบายก็มีการผลักดันโครงการระดับจังหวัดส่งผลให้ปัจจุบัน มีพื้นที่เข้าร่วมมากกว่า 150 พื้นที่เป็นถนนตระกูลข้าว 50 แห่งกับอีก 102 พื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยในถนนต่างๆ พื้นที่นำร่องอย่างถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น เป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีผู้ร่วมงาน 135,217 คน โดยไม่มีคนเมา ไม่มีการทะเลาะวิวาท ซึ่งสสส.ในฐานะเป็นหนึ่งในภาคีที่สนับสนุนโครงการเราตั้งเป้าการขยายพื้นที่สงกรานต์ปลอดเหล้าให้มากขึ้น ขณะที่พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จแล้วคาดหวังว่าให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยยั่งยืน ซึ่งเป้าหมายภาพรวมคือการเปลี่ยนสังคมวัฒนธรรมของการดื่ม เปลี่ยนแปลงค่านิยมทางสังคมปลอดเหล้า" ดร.สุปรีดา กล่าว


หนึ่งในตัวอย่างภาคเอกชนรายแรกๆ ที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมลุกขึ้นมาสร้างค่านิยมใหม่ "สงกรานต์ ไม่มีเหล้า ก็สนุกได้" จัดงานสงกรานต์ปลอดแอลกอฮอล์แห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต โดยศูนย์การค้าไลม์ไลท์อเวนิวภูเก็ต ริเริ่มตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งสงกรานต์ปีนี้ นับเป็นปีที่ 5 ของการจัดงาน "สงกรานต์โนแอล" นางพาณี โกยสมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าไลม์ไลท์ อเวนิวจ.ภูเก็ต กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของงานสงกรานต์โนแอลฯ เกิดจากความตระหนักถึงความปลอดภัยในการเล่นน้ำสงกรานต์ของลูกหลาน โดยมาตรการจัดงาน 300 นาที มีเจ้าหน้าที่คัดกรองด้านหน้าเข้างานภายในพื้นที่ต้องไม่มีการขายหรือดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ห้ามคนเมา ฯลฯ ตั้งแต่เวลา 5 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม


บทพิสูจน์สงกรานต์ปลอดเหล้า thaihealth


"5 ปีที่ผ่านมา จึงมีนักท่องเที่ยวที่มาเล่นสงกรานต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นภาพสะท้อนว่าคนเห็นความสำคัญของสงกรานต์ที่ปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนตัวมองว่ากิจกรรมของ สสส.ที่ผ่านมาดีมากๆ ถ้าหากสามารถขยายพื้นที่ไปทั่วประเทศไทยก็ทำให้ทุกคนมองเห็นว่าการเล่นสงกรานต์ไม่จำเป็นต้องมีแอลกอฮอล์ก็เล่นสนุก และปลอดภัยได้" นางพาณี กล่าว


นายสุรพล กำพลานนท์วัฒน์ นายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยว จ.สงขลา หนึ่งในผู้เข้ารับรางวัล STOP DRINK AWARD 2017 กล่าวว่า "ผมเห็นด้วยกับแนวคิดของ สสส. เพราะเราก็เห็นการทำงานอย่างเข้มข้น ที่ผ่านมาเราทำงานหนักเรื่องการสื่อสารความเข้าใจเรื่องการจัดโซนนิ่ง ผมมีข้อเสนอแนะของผมคือในช่วง 7 วัน ก่อนเทศกาลขอความร่วมมือห้ามขาย เราขอความร่วมมือกับร้านค้าบริเวณโดยรอบจัดงาน ไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งประสบผลสำเร็จเพราะสถิติทั้งอุบัติเหตุ และเหตุวิวาทในพื้นที่ของเราน้อยเป้าหมายของเราคือสร้างมาตรฐานที่ดีและจัดอย่างต่อเนื่อง"


กลับมาที่ภาคกลาง นายไสว เพชรรุณ ประธานมูลนิธิไทยทรงดำประเทศไทย จ.นครปฐม กล่าวว่าในปี 2552 มูลนิธิไทยทรงดำฯ จัดทำโครงการงานบุญประเพณี ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขึ้นไม่จิบเหล้าเข้างาน ก็ฟ้อนแคน สนุก ได้โดยไร้แอลกอฮอล์


"ตอนแรกที่เราทำโครงการเราก็กลัวเขาจะต่อต้าน แต่ลองทำใน 5 พื้นที่ ในปีแรกแล้วได้ผลแทนที่เราจะจิบเหล้าก็ปรับมา จิบน้ำสมุนไพร และขอความร่วมมือไม่ให้นำเหล้าเข้ามาดื่มภายในงานซึ่งปรากฏว่าได้ผลที่น่าพอใจชาวบ้านให้ความร่วมมือดีการทะเลาะวิวาทและอุบัติเหตุลดลงปลอดภัยและสนุกกับงานรื่นเริงได้โดยไม่เมา ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดงาน ปัจจุบันมีการขยายโครงการไปถึง 22 หมู่บ้าน และมีเป้าหมายว่าจะขยายให้ถึง 40 หมู่บ้าน และในอนาคตจะนำโครงการงานบุญประเพณีลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปใช้ในงานศพ งานบวช และงานบุญต่างๆ ด้วย" นายไสว กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code