บทบาทพ่อที่หายไป เกิดอะไรขึ้นกับเด็กไทย

ชวนสร้างทักษะชีวิตเพื่อลูกน้อยมีพัฒนาการที่สมบูรณ์

 

 บทบาทพ่อที่หายไป เกิดอะไรขึ้นกับเด็กไทย

          การเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรวดเร็วตามสภาพเศรษฐกิจและระบบทุนนิยม ประกอบกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่รุดหน้า ทำให้ครอบครัวไทยเปลี่ยนจากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวขนาดเล็ก คิดเป็น 10-15 ของครอบครัวทั้งหมด และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมือง

 

          ส่วนสภาพครอบครัวขยายเองก็พิกลพิการมากขึ้น ปู่ย่า ตายาย ต้องรับภาระในการดูแลหลานมากขึ้น เนื่องจากพ่อแม่อพยพเข้าเมืองเพื่อหางานทำ อัตราการหย่าร้างที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จากร้อยละ 10.5 ในปี พ.ศ.2537 เพิ่มเป็นร้อยละ 25.1 ในปี 2549

 

          แม้แต่ครอบครัวขนาดเล็กซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก แต่สัมพันธภาพและการช่วยเหลือเกื้อกูลกันลดน้อยลง โดยต่างคนต่างทำหน้าที่เฉพาะของตน กล่าวคือ พ่อทำหน้าที่เป็นเสาหลักในการหารายได้ แต่บทบาทในการช่วยเลี้ยงลูกและงานบ้านน้อยลงอย่างมาก

 

          ในขณะที่แม่ซึ่งมีหน้าที่หลักในการเลี้ยงลูก ดูแลงานบ้าน อาหารการกิน กลับต้องเพิ่มบทบาทในการหารายได้เพิ่มเติมเพื่อจุนเจือรายจ่ายในครอบครัว ลูกมีหน้าที่เรียนหนังสือ เรียนพิเศษ เที่ยวเล่นทำกิจกรรม แต่โอกาสที่ลูกจะได้ช่วยงานบ้านก็ลดลง

 

          ครอบครัวจึงกำลังกลายเป็นเพียงที่พักอยู่รวมกันของพ่อแม่ลูก ที่ต่างคนต่างอยู่ภาระหนักตกอยู่ที่แม่มากขึ้นเรื่อยๆ บทบาทของพ่อกำลังจะหายไป สภาพสังคมครอบครัวไทยทำให้พ่อขาดทักษะในการเลี้ยงดูลูก การช่วยงานบ้าน และการสอนทักษะต่างๆ ในการดำรงชีพให้กับสมาชิกในครอบครัวลดน้อยลงทุกที

 

          ฉะนั้น สภาพที่ครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด ในสังคมเกิดปัญหา จนนำไปสู่ปัญหาสังคมในวงกว่างจนยากแก่การเยียวยา โดยเฉพาะการขาดบริบทของพ่อทั้งครอบครัวที่มีพ่อแต่ขาดความสนใจและครอบครัวที่ไม่มีพ่อ (ด้วยทุกๆ กรณี เช่น แยกกันอยู่ เสียชีวิต ทำงานต่างถิ่น ฯลฯ)

 

          ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านบุคลิกภาพแก่ลูกเกิดเพศที่สามมากขึ้นเรื่อยๆ ทักษะในการแก้ปัญหาอ่อนแอ จนนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วย ความรุนแรง อีกทั้งต้นทุนชีวิตจากบุคลิกภาพของพ่อที่ขาดหายไป

 

          จึงน่าที่จะเชิญชวนคุณพ่อทุกท่านสนใจและทุ่มเทช่วยแม่ในการเลี้ยงลูก สร้างทักษะชีวิตต่างๆ เพื่อให้ลูกสามารถพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและสติปัญญา พร้อมๆ กับการเปิดโอกาสและกำลังใจจากแม่สู่พ่อที่จะสร้างความมั่นใจในการแสดงออกกับลูกได้เหมาะสม เติมเต็มต้นทุนชีวิต

 

          ดังคำกล่าวที่ว่า “ลูกเป็นสิ่งที่พ่อและแม่ต้องทุ่มเทสร้างมากกว่าทุ่มทุนสร้าง” ซึ่งบุคลิกภาพของพ่อที่ดีจะทำให้เด็กเจริญเติบโตด้วยความมั่นคง อดทน เรียนรู้ทักษะในการคิดวิเคราะห์ วางแผนได้มากขึ้น

 

          คำว่า “พ่อ” จึงมีความหมาย อย่างมหาศาลบ่งบอกถึงความเข้มแข็ง อดทน เพียรพยายาม ความเป็นผู้นำ ผู้กล้า มีความรับผิดชอบ

 

          บทบาทพ่อ

 

          1. ความอบอุ่นและปลอดภัยในบ้าน

 

          2. การเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งในบทบาทของลูก พ่อ และสามี

 

          3. เวลาที่มีให้กับครอบครัว

 

          4. การให้คำแนะนำ ทักษะ

 

          5. กิจกรรมยามว่างกับสมาชิกในบ้าน

 

          6. การเปิดโอกาส, เป็นผู้รับฟังที่ดี

 

          7. สร้างโอกาสการเรียนรู้นอกหลักสูตร

 

          8. ช่วยงานบ้านด้วยกัน

 

          9. เคารพกติกาและการตัดสินใจ

 

          10. วินัยในบ้าน single standard

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update 22-12-51

Shares:
QR Code :
QR Code