บทบาทของ‘สื่อ’ กับความปลอดภัยในท้องถนน

บทบาทของ‘สื่อ’ กับความปลอดภัยในท้องถนน thaihealth


แฟ้มภาพ


ผ่านพ้นไปแล้วกับการจับตาดู และเฝ้าระมัดระวังอันตรายจากการใช้รถใช้ถนนในช่วง 7 วันอันตราย ซึ่งดูเหมือนว่าผลสัมฤทธิ์ยังไม่เป็นที่พอใจเท่าไรนัก ทำให้ย้อนนึกไปถึงรายงานความปลอดภัยทางถนนของโลก ปี 2556 ที่มีรายงานอัตราการเสียชีวิตของคนไทย จากอุบัติเหตุจราจรสูงถึง 38.1 ราย ต่อประชากร 1 แสนราย ซึ่งตัวเลขนี้ทำให้ไทยมีอัตราการเสียชีวิตพุ่งสูงติดอันดับ 3 ของโลก ทำให้เห็นว่าอุบัติเหตุทางถนนได้สร้างความสูญเสียชีวิต เศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ จำเป็นที่จะต้องมีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า“สื่อมวลชน” เป็นภาคส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการและแก้ไขปัญหา


ในงานสัมมนาระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “ครึ่งทศวรรษ…กับการจัดการที่เข้มแข็ง”ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนในระบบการจัดการปลอดภัยทางถนนว่า สื่อมวลชน หรือที่เรียกกันว่าเป็นฐานันดรที่ 4 มีหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ให้ความรู้ เผยแพร่เหตุการณ์ต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ ภายใต้กรอบแห่งจรรยาบรรณและจริยธรรมของสื่อมวลชน เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ดังนั้นสื่อมวลชนจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนรณรงค์ให้ความสูญเสียอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยลดลงได้ แต่ปัจจุบันนี้เป็นที่สังเกตว่า สื่อมวลชนได้มีการทำข่าวประเภท “Investigative Journalism หรือ การทำข่าวเชิงสืบสวนน้อยลง” ซึ่งเป็นการทำข่าวแบบเจาะลึก หาต้นเหตุที่แท้จริง ขุดคุ้ยเพื่อให้ประชาชนได้เกิดการรับรู้มากขึ้น


ศ.นพ.อุดมศิลป์ ยืนยันว่า ที่ผ่านมาสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวเหตุการณ์อุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ยังขาดไป คือ การนำเสนอข่าวเชิงสืบสวน เจาะลึกหาต้นเหตุผู้รับผิดชอบ นำเสนอวิธีป้องกัน ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ประชาชนเกิดความสนใจ เกิดการเรียนรู้ ทำให้กระตุ้นหน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถตามไปแก้ที่ต้นเหตุและพัฒนาต่อไปได้อย่างถูกต้อง สื่อจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยให้แก่คนในชาติ เพราะเราประมาทเรื่องนี้กันมามาก


นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา ได้แสดงความคิดเห็นถึงมุมมองสังคมไทยในเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ ในฐานะสื่อมวลชน ว่ากฎหมายพื้นฐานด้านความปลอดภัยทางถนนนั้นยังไม่เคร่งครัด ยกตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งบนท้องถนนจะเห็นพ่อ-แม่สวมหมวกนิรภัย แต่กลับไม่ได้ให้ลูกสวมหมวกนิรภัยนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ขับผ่านหน้าตำรวจจราจรโดยไม่เกิดอะไรขึ้น รวมถึงอาชีพคนขับรถโดยสารประจำทางอย่าง รถเมล์ เป็นอาชีพถูกกดรายได้ ไม่ได้มองว่าเป็นอาชีพที่มีความสำคัญที่ต้องมีกระบวนการคัดสรรอย่างดี เมื่อรายได้ต่ำก็มีการขับรถเพื่อแย่งผู้โดยสารเช่นเดียวกับคนขับรถตู้ ทั้งนี้ จะเห็นว่าความเสี่ยงนั้นเห็นอยู่ในสายตาทุกวันแต่จัดการไม่ได้ สิ่งแรกที่จะต้องทำคือต้องเปลี่ยนมุมมองและวางรากฐานเรื่องความปลอดภัยให้ความสำคัญอย่างจริงจัง สื่อมวลชนไม่สามารถจัดการสำเร็จได้เองทั้งหมด และควรมีองค์กรหรือหน่วยงานมาให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการปลอดภัยทางถนนให้กับสื่อมวลชน ซึ่งจะช่วยให้นักข่าวสามารถพัฒนาความเข้าใจโครงสร้างต่างๆ เจาะลึกถึงปัญหา เรื่องการจัดสรรงบประมาณ เรื่องการกำกับดูแลรถตู้ เรื่องมาตรฐานของรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น เพราะในบางครั้งสื่อมวลชนนำเสนอเรื่องอุบัติเหตุเป็นไปแนวทางอาถรรพ์


ในการรณรงค์ถึงเรื่องนี้ สถาบันอิศรา ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีการจัดประกวดสารคดีเชิงข่าวสืบสวนอุบัติเหตุโดยพบว่า สื่อโทรทัศน์ได้ให้ความสนใจในการประกวดมากขึ้นแสดงให้เห็นว่ากองบรรณาธิการสำนักข่าวต่างๆ ได้มองเห็นถึงความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยทางถนนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันสื่อสิ่งพิมพ์กลับมีจำนวนลดน้อยลง เพราะการนำเสนอข่าวนั้นอาจทำให้มีสีสันได้ยากกว่ารวมถึงยุคกระแสของสื่อทีวีดิจิตอลที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาทำงานในแวดวงสื่อโทรทัศน์กันมากขึ้น


 “การอบรมนักข่าว การประกวดข่าว ควรจะมีการสนับสนุนให้ทำต่อไป ให้มีการขยายการอบรมมากขึ้น และกระตุ้นให้ทางเจ้าของสถานีโทรทัศน์ที่มีบทบาทในสังคมได้ตระหนักเห็นความสำคัญกันมากขึ้น ขณะเดียวกันที่ขาดไม่ได้คือ สื่อสังคมออนไลน์ซึ่งมีบทบาทสูงมาก เราจะสามารถผลิตสื่อแบบไหนที่ให้รัฐกับคนรุ่นใหม่เข้าใจกัน สามารถกระตุ้นเตือนให้เห็นและเปลี่ยนมุมมองในเรื่องความปลอดภัยสาธารณะได้” นายประสงค์ กล่าวทิ้งท้าย


หากมองให้ลึกลงไปถึงแก่นแท้แล้ว เราคงจะได้เห็นว่า การจะทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุของไทยลดน้อยลงได้นั้น “สื่อมวลชน” เป็นเพียงภาคส่วนหนึ่งที่สำคัญและมีอิทธิพลกับประชาชน ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกบ้าน แต่การที่จะสำเร็จได้ 100% นั้น ความสำคัญอยู่ที่ทุกคนต้องร่วมกันมีจิตสำนึกคำนึงถึงความปลอดภัย และปฏิบัติตามกฎระเบียบบนท้องถนนอย่างจริงจัง


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code