น้ำ….สิ่งสำคัญ แต่คนมักมองข้าม
น้ำ” เป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของคนเราทุกคน ถึงแม้โลกจะประกอบไปด้วยน้ำมากถึง 7 ส่วน แต่ส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็มจากทะเลและมหาสมุทร ส่วนน้ำจืดซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชากรโลกกว่า 6,000 ล้านคน มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น และเมื่อความต้องการน้ำของประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากการขยายตัวของประชากรโลก ซึ่งส่งผลให้น้ำจืดของโลกเริ่มที่จะ ขาดแคลน
สมัชชาสหประชาชาติ จึงได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันน้ำของโลก” หรือ “World Water Day” โดยเริ่มในปี 2536 เป็นปีแรก และชักชวนให้ประเทศต่างๆ ในโลกระลึกถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก แนวคิดในการอนุรักษ์น้ำจึงเกิดขึ้น ทำอย่างไรจึงจะจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
สำหรับสถานการณ์การใช้น้ำของคนไทย หากพิจารณาจาก 2 ส่วนคือ น้ำดื่มและน้ำใช้ จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2552 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยมีน้ำดื่มและน้ำใช้ มาจากน้ำ 4 ประเภท คือ น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำฝน น้ำประปา และน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น น้ำบ่อ-บาดาล น้ำจากแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น ประเภทน้ำดื่มที่ครัวเรือนไทยใช้ดื่มมากที่สุดคือ น้ำฝน ร้อยละ 34.6 รองลงมาคือ น้ำดื่มบรรจุขวด และน้ำประปา ร้อยละ 31.6 และ 23.9 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาการใช้น้ำประปาสำหรับดื่มในแต่ละภาคพบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของครัวเรือนในทุกภาคใช้น้ำประปาสำหรับดื่ม ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้การดื่มน้ำประปาจะรวมน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งผลิตมาจากน้ำประปาเช่นเดียวกัน
เมื่อพิจารณาปริมาณการใช้น้ำประปาของกทม.และ 3 จังหวัดใกล้เคียง และในส่วนภูมิภาค พบว่า กทม.และ 3 จังหวัดใกล้เคียง มีปริมาณการใช้น้ำประปาเฉลี่ยต่อคนต่อวัน มากกว่า 2 เท่าของคนในส่วนภูมิภาค กล่าวคือ คนใน กทม.และ 3 จังหวัดใกล้เคียงในปี 2552 มีการใช้น้ำประปาเฉลี่ยต่อคนต่อวันอยู่ที่ 1.81 ลบ.ม. ในขณะที่คนในส่วนภูมิภาค ใช้เพียง 0.85 ลบ.ม. ต่อคนต่อวัน (ดังแผนภูมิ 3) จะเห็นได้ว่า พื้นที่กทม.และ 3 จังหวัดใกล้เคียง มีปริมาณการใช้น้ำประปา สำหรับดื่มและใช้มากกว่าคนในจังหวัดอื่น ซึ่งเป็นไปได้ว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการขยายตัวของชุมชนและอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก จึงมีความต้องการใช้น้ำ มากกว่าจังหวัดอื่น ๆ
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ