น้ำใจดับไฟป่า
นอกจากสภาพการทำงานที่เลวร้าย บางครั้งพวกเขาก็หิวโหย อาหารไม่ตกถึงท้อง เพราะเพื่อนไม่สามารถฝ่าอันตรายไปส่งให้ได้ เรื่องราวของภาพชีวิตและงานเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าภูกระดึง
อากาศร้อน ความแห้งแล้ง ที่คนในเมืองบ่นระอา ถามหาน้ำเย็นและห้องแอร์ ขอให้เชื่อเถอะว่า ทุกข์นั้นเล็กน้อยนัก เทียบกับคนมีหน้าที่ผจญเพลิง ดับไฟป่า ที่รุมล้อมรอบตัว ไม่มีน้ำให้ฉีด เสี่ยงกับสัตว์ป่าเครียด ที่หนีไฟอยู่ใกล้ ๆ
นอกจากสภาพการทำงานที่เลวร้าย บางครั้งพวกเขาก็หิวโหย อาหารไม่ตกถึงท้อง เพราะเพื่อนไม่สามารถฝ่าอันตรายไปส่งให้ได้
เรื่องราวของภาพชีวิตและงานเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าภูกระดึง ที่ถ่ายทอดผ่านเฟซบุ๊กfacebook.com/tipmongkol.kaemongkolsuk ของ ทิพย์มงคล แคมงคลสุข เป็นระยะต่อเนื่องกันมา 2-3 ปี รวมถึงถ้อยคำที่เล่าด้วยเสียงเครือเป็นครั้งคราว ฟังแล้วแทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่
ทิพย์มงคล คือชายฉกรรจ์ที่เปิดร้านขายกาแฟและขนมบราวนี่ ที่มีบริการไอทีเป็นเจ้าแรกและรายเดียว กลางป่า ผาหล่มสัก ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวไป 9 กม. ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องภูกระดึงจากทั่วประเทศ แต่วันหนึ่งมีกลุ่มชายวัยทำงานเกือบ 20 คน มาถามว่ามีเงิน 200 บาท ซื้อกาแฟได้กี่แก้ว จึงทำให้เขาสนใจ ถามไถ่ได้ความว่า เป็นเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า และเมื่อคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ก็ทราบว่าพวกเขาทั้งกลุ่ม ทำงานบนภูคราวละ 7 วัน มีเงินลงขันไว้ใช้กันแค่ 400 บาท
โดยไม่ต้องเล่ารายละเอียด ทิพย์มงคล เคยเป็นทหาร ชีวิตคุ้นกับคนทำงานป่า หาจังหวะร่วมวงอาหารและติดตามไปดูการทำงาน จึงได้เห็นมื้อเที่ยง ของพวกเขาคือ ข้าวเหนียว มะขาม แจ่วบอง และผักป่า เมื่อถ่ายภาพเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก ก็มีผู้ส่งเงินมาสนับสนุนค่าอาหาร จนจัดสรรให้ได้ อาทิตย์ละ 1,500 บาท และจัดหาข้าวห่อจากร้านค้าส่งให้เงินอีกส่วนซื้อเครื่องปั่นไฟฟ้าขนาดเล็ก ไว้ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ วิทยุสื่อสาร แทนการหอบหิ้วทีละเป็นสิบเครื่องไปเติมพลังกับหน่วยทหารในพื้นที่ปีต่อมาด้วยเงินที่มีผู้ส่งมา รวบรวมส่วนที่เหลือจากค่าอาหาร ซื้อเลื่อยโซ่ และเครื่องสูบน้ำ เงินช่วยค่าอาหารเพิ่มให้แทบทุกปี จนปัจจุบันปันให้ได้สัปดาห์ละ 3,500 บาท ที่เหลือสะสม สมทบกับที่กลุ่มเพื่อนหรือลูกค้าบราวนี่ ทราบความต้องการก็สมทบ ซื้อจักรยานยนต์มือสองไว้ใช้งานอีก 1 คัน ผู้ทราบข่าวบางท่านเห็นไม่มีชุดทำงานภาคสนาม เลยจัดเครื่องแบบ แต่งเท่สมเป็นทีมงานคุณภาพ
ภูกระดึง มีภูมิประเทศที่แตกต่าง เพียงหนึ่งเดียว ที่เขายอดตัดเป็นที่ราบ เรียก “หลังแป” พื้นเป็นดินทราย มีสภาพเป็นทุ่งหญ้าป่าสนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ที่มีอยู่ 35,000 ไร่ เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าและจะลุกลามอย่างเร็ว ควบคุมยาก เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบทั้งเชิงเขาและยอดเขา ไม่มีทางรถยนต์เข้าถึง ทุกจุดต้องเดินเท้า การทำงานจึงลำบากกว่า การมีมอเตอร์ไซค์ จึงช่วยให้เดินทางเข้าพิสูจน์ทราบจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว และแม้จะมีอยู่แล้ว แต่สภาพก็ไม่เอื้อ นอกจากนี้ยังใช้ส่งอาหารให้เพื่อนที่ตะลุยสู้เพลิงที่กระหน่ำอย่างไม่ปรานีปราศรัย บางครั้งก็ยังอดอยู่ดี เช่น มีไฟที่กำลังกระพือ พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่กันสุดชีวิต แต่อีกด้าน ก็มีช้างป่า 5-6 ตัว ล้อมอยู่ ต้องห้ามเพื่อนที่ไปส่งอาหารไม่ให้เข้า จนมืดค่ำโดยไม่ได้กินอะไร ที่ต้องซื้อเลื่อยโซ่ เพื่อตัดต้นที่ไฟกำลังลุกเรือนยอดไม้ สกัดไม่ให้ลามไปที่อื่น เครื่องสูบน้ำที่มีอยู่กำลังอ่อน ก็ต้องหาเครื่องที่แรงดีกว่า เพื่อฉีดดับอย่างมีประสิทธิภาพ ตอนนี้เริ่มคิดถึงอาหารกระป๋องสำรองติดตัวเผื่อตกอยู่ในวงล้อมไฟหรือสัตว์ป่า
การที่ทิพย์มงคล นำข้อมูลความต้องการระดับพื้นที่มาเผยแพร่และได้รับการสนับสนุนจากคนรัก นักท่องภูกระดึงซึ่งคุ้นเคยกับเขาผ่านทาง โซเชียลมีเดีย คือความร่วมมือของภาคประชาชนที่ช่วยเหลือทางราชการ ที่ทราบกันดีว่า มีข้อจำกัดสารพัดเรื่อง น่าจะเป็นรูปแบบที่จะส่งเสริมให้เกิดในชุมชนที่สุ่มเสี่ยงกับไฟป่าทั่วไป ไม่ต้องห่วงว่าจะมีการตุกติก ใครจะทำก็แสดงความโปร่งใส ถ้าไม่ไว้ใจ ก็อย่าให้ จะช่วยที่ไหน ก็ให้สอบถามความต้องการกันก่อน ไม่ซื้อตามใจคนให้ เราทราบกันดีว่า ป่าทุกแปลง แหล่งธรรมชาติทุกที่ นับวันจะร่อยหรอ รอการฮุบทำลาย หนทางใดจะช่วยได้ ต้องลงมือ ลงแรง หรือลงเงินร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องมีทะเบียนบ้านย่านเดียวกับป่า จะสนับสนุนที่ไหนได้ทั้งนั้น ป่าเป็นสมบัติของทุกคน
บทความโดย วีระพันธ์ โตมีบุญ
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต