“น้ำเมา ทำไมต้อง ห้ามขาย ห้ามดื่ม”

สิ่งเสพติดที่ถูกกฎหมาย แต่ทำลายสุขภาพมากกว่าที่ผิดกฎหมาย

 

“น้ำเมา ทำไมต้อง ห้ามขาย ห้ามดื่ม” 

          มักมีคำถามแบบนี้เสมอจากผู้ที่ รู้ความจริงเพียงบางส่วนว่า น้ำเมา หรือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทำให้เป็นโรคตับ ทั้งๆ ที่องค์การอนามัยโลกบอกว่า มันเป็นสาเหตุของกว่า 60 โรค เป็นสิ่งเสพติดที่ถูกกฎหมาย แต่ทำลายสุขภาพมากกว่าสิ่งเสพติดที่ผิดกฎหมาย

 

          ไม่เพียงทำลายสุขภาพเท่านั้น น้ำเมายังทำลายแทบทุกมิติของสังคมไทย เช่นมูลนิธิเพื่อนหญิง และรพ.รามาธิบดี พบว่าน้ำเมาเพิ่มความรุนแรงในครอบครัวที่มีคนดื่มประมาณ 4 เท่า ของครอบครัวที่ไม่มีคนดื่ม น้ำเมาเป็นต้นเหตุของอาชญากรรมในสังคมแทบทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่การข่มขืนลูกในไส้ของตนเอง

 

          บางคนเข้าใจผิดว่าน้ำเมาช่วยทำให้เศรษฐกิจของชาติดี เพราะเก็บภาษีน้ำเมาได้มากถึงปีละกว่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะคนไทยต้องจ่ายค่าน้ำเมาปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคนมีรายได้น้อย ทำให้คนไม่กี่ตระกูลรวยขึ้น จนบางตระกูลรวยติดอันดับโลกผิดหลักเศรษฐศาสตร์ ที่ทำให้คนไทย “รวยกระจุก แต่จนกระจาย” ไม่เพียงค่าน้ำเมาเท่านั้น สังคมไทยยังต้องจ่ายค่าความสูญเสียอันเกิดจากน้ำเมา เช่น ค่ารักษาพยาบาลคนป่วยอุบัติเหตุ แรงงานด้อยประสิทธิภาพ การตายก่อนวัยอันควรเป็นต้น หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ประเมินความสูญเสียเพียงเท่าที่พอหาตัวเลขได้ ก็มีมูลค่าอีกเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่สังคมไทยต้องรับผิดชอบร่วมกันไม่คุ้มค่ากับภาษีที่เก็บได้เลย

 

          ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่ง พบว่าเยาวชน ซึ่งจะเป็นอนาคตของประเทศกำลังกลายเป็นเหยื่อของน้ำเมามากขึ้นๆอย่างรวดเร็ว และเริ่มเป็นนักดื่มหน้าใหม่อายุน้อยลงๆ ตามลำดับ ส่งผลให้มีเยาวชนต้องเสียชีวิต หรือเสียอนาคตเพราะท้องก่อนวัยอันควร ทำแท้ง ติดคุก (งานวิจัยของสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก) ติดเอดส์ (พระอาจารย์อลงกต วัดพระบาทน้ำพุ ระบุว่า 70-80% ของผู้ติดเชื้อ HIV. มีน้ำเมาเป็นเหตุ) ทั้งหมดนี้ล้วนมีน้ำเมาเป็นเหตุ รวมแล้วปีละนับแสนคน

 

          เหตุผลเพียงเท่านี้น่าจะเพียงพอแล้วมิใช่หรือที่ควรจะควบคุมน้ำเมาไม่ให้ทำร้ายสังคมไทยไปมากกว่านี้ จึงเป็นเหตุให้คนไทยมากกว่า 13 ล้านคน ลงนามสนับสนุน พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ปีนี้ ซึ่งโดยหลักการสำคัญของ พรบ.ฉบับนี้ก็คือ การจำกัดวิธีการ และพื้นที่จำหน่าย จำกัดพื้นที่การดื่ม และจำกัดการโฆษณา ผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษซึ่งมีทั้งโทษจำ และโทษปรับ โดยมีคณะกรรมการระดับชาติ และระดับจังหวัดเป็นกลไกในการควบคุม

 

          พื้นที่ซึ่งโดยสามัญสำนึกก็ไม่ควรเป็นที่จำหน่ายหรือที่ดื่มอยู่แล้ว เช่น วัดหรือศาสนสถาน โรงเรียนหรือสถานศึกษา สถานที่ราชการ สถานที่บริการ (ปั๊ม) น้ำมัน และสวนสาธารณะ เป็นต้น หากใครไม่ทราบหรือฝ่าฝืน จำหน่ายหรือดื่มน้ำเมาในสถานที่ดังกล่าวย่อมมีความผิดตามกฎหมายจึงควรช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลนี้ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบเพื่อจะไม่ต้องถูกลงโทษด้วยความไม่รู้

 

          ขณะเดียวกัน ในฐานะพลเมืองดี และเพื่อรักษาพื้นที่ดีๆ ปลอดจากน้ำเมาไว้ให้ลูกหลานของเรา หากใครเห็นผู้ที่ตั้งใจฝ่าฝืนกฎหมายก็อาจช่วยแจ้งตำรวจ หรือโทรแจ้งไปที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่เบอร์โทร. 02-590-3342

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update:30-07-51

Shares:
QR Code :
QR Code