“น้ำบาดาล” ในวิกฤตภัยแล้ง เพิ่มทางเลือก เพื่อทางรอด
ภัยแล้ง คือ ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เนื่องด้วยปริมาณน้ำฝนมีน้อยกว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วง มักเกิดขึ้นครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้าง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เพราะเป็นบริเวณที่อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เข้าไปไม่ถึง ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการทำเกษตร
เมื่อพืชผลในไร่สวนขาดน้ำทำให้ไม่เจริญเติบโตตามปกติ บางรายต้องเก็บเกี่ยวก่อนเวลา ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ เกิดความเสียหาย สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ยามเมื่อประชาชนในพื้นที่ห่างไกลต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง
นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวถึง สภาพปัญหาภัยธรรมชาติในประเทศไทยว่า ทุกๆ ปีประเทศไทยจะประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติใหญ่ๆ 2 กรณี คือ อุทกภัย และภัยแล้ง ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานทั้งภาคราชการและภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ได้ประสานความร่วมมือเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าว มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่เดิมซึ่งเคยประสบปัญหาในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภัยแล้ง ที่นอกจากจะทำให้ประชาชนขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภคแล้ว ยังส่งผลถึงพื้นที่การเกษตรต้องเสียหาย อย่างกว้างขวาง
กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ศึกษาและสำรวจพบว่า ในแต่ละปีประเทศไทยมีปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนโดยเฉลี่ย มากกว่า 730,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนหนึ่งไหลไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง ลำคลอง แม่น้ำ และทะเล กลายเป็นน้ำผิวดิน 210,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่สามารถกักเก็บได้เพียง 77,000 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกส่วนหนึ่งระเหยคืนสู่ชั้นบรรยากาศ 420,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และส่วนที่เหลือจะไหลซึมลงสู่ใต้ดินไปเก็บกักเป็นน้ำบาดาลกว่า 100,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยคุณสมบัติของน้ำบาดาล ที่นำขึ้นมาใช้แล้วสามารถไหลไปทดแทนได้ มีการสะสมกักเก็บตามธรรมชาติอยู่ในทุกพื้นที่ ทำให้น้ำบาดาลที่กักเก็บอยู่ใต้ดินมีปริมาณถึง 1.1 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร หรือมากกว่าแหล่งน้ำผิวดินถึง 24 เท่า
อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ภัยแล้งในระยะเผชิญเหตุด้วยศักยภาพของอุปกรณ์และเครื่องจักรเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้แก่ประชาชน ประกอบด้วย ชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 88 ชุด ชุดเป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาล จำนวน 79 ชุด ชุดซ่อมระบบประปา-เครื่องสูบ จำนวน 64 ชุด เครื่องสูบน้ำบาดาลสำรอง 612 ชุด ชุดสำรวจธรณีฟิสิกส์ จำนวน 18 ชุด ชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ จำนวน 18 ชุด รถบรรทุกน้ำ จำนวน 129 คัน และยังได้เตรียมบ่อน้ำบาดาลที่สามารถใช้บรรเทาปัญหาภัยแล้ง จำนวน 116,930 บ่อ ระบบประปาบาดาลทั่วประเทศ จำนวน 68,117 ระบบ จุดจ่ายน้ำถาวร จำนวน 100 แห่ง ระบบน้ำดื่มสะอาดในโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 2,090 ระบบ ซึ่งพร้อมเป็นจุดจ่ายน้ำสะอาดให้ความช่วยเหลือทันทีเมื่อเกิดพิบัติภัย
นายสุพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัญหาภัยแล้ง เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ทุกหน่วยงานต้องมีการทำงานร่วมกัน โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคราชการและภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีภาคเอกชนหลายหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือประชาชน และให้การสนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนที่ดำเนินการอยู่แล้วให้สามารถบังเกิดผลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ที่มา : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์