น้ำท่วม เราจะกินอะไรดี
พอมีข่าวว่า น้ำจะท่วมกรุงเทพมหานคร ราวเดือนครึ่ง ความสูงต่ำของน้ำขึ้นกับความสูงต่ำในแต่ละเขต อาหารที่หลายคนคิดได้ ในนาทีที่จะต้องซื้ออาหารไปกักตุน เห็นจะหนีไม่พ้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และไข่ เป็นหลัก แต่ลองมาคิดดูว่า ถ้าหากเรากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กับไข่ติดต่อกันนาน 1 เดือนครึ่ง จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต
ถ้าไม่นับเรื่องโภชนาการ ก็จะบอกได้ทันทีว่า เราจะเกิดความเบื่อหน่ายชีวิตทันทีและหลังจากน้ำลด หลายคนอาจจะบอกลาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปอีกนานแสนนาน ส่วนในแง่โภชนาการ แป้งและผงชูรสในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียวนั้นทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้
วันก่อน ที่หน้าชีวิตคุณภาพ นำเสนอเมนูกล้วยตาก ที่แนะนำโดยเภสัชกรหญิง (ภญ.) สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล้วยน้ำว้า นำไปชุบน้ำเกลือ แล้วตากแดดจัดๆ แค่ 3 วัน เก็บไว้กินได้เป็นเดือน สารอาหารในกล้วยตาก ถือเป็นสุดยอดอาหารในช่วงน้ำท่วม มีครบทุกหมู่
ที่สำคัญคือ กินกล้วยแล้วช่วยให้อารมณ์ดี คลายเครียด
ภญ.สุภาภรณ์ หรือหมอต้อม บอกว่าบะหมี่สำเร็จรูปก็สามารถปรุงแบบประยุกต์เพื่อให้ครบคุณค่าทางอาหาร และสู้กับภาวะหลายอย่างที่รุมเร้าระหว่างน้ำท่วมได้ ถ้ายังพอมีเวลา หรือยังสามารถลุยน้ำออกมาซื้อของได้ อยากจะแนะนำว่าให้พยายามหาเครื่องเทศจำพวก หอมกระเทียม ขมิ้น ใบกะเพรา และพริกไทยมาเก็บไว้ในครัว กินกระเทียมทำให้จิตใจฮึกเหิม ต้านอาการซึมเศร้า ปรับสมดุลสภาพจิตใจ ขมิ้น หรือขมิ้นชัน ช่วยต้านอนุมูลอิสระขับลม พริกไทย ช่วยปรับสมดุลระบบประสาทมีเส้นใย ช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ หัวหอมทั้งหอมแดงและหอมหัวใหญ่ ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า มีชีวิตชีวา คลายเครียด ลดอาการหดหู่
“เมนูประยุกต์ที่อยากแนะนำคือต้มบะหมี่สำเร็จรูปก็ลองใส่กระเทียมลงไปด้วยรสชาติจะดีขึ้นมาก เพิ่มความหอมมันให้บะหมี่และช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหารขึ้นมากขึ้น ไข่และเนื้อสัตว์ก็ใส่ลงไป หรืออาจจะต้มบะหมี่แล้วใส่ขมิ้นชันลงไป ถ้าไม่มีขมิ้นสด ก็ใช้ขมิ้นชันแคปซูลแกะแคปซูลโรยผงขมิ้นชันลงไปกลายเป็นบะหมี่ต้มขมิ้น อร่อยดีนะ”ภญ.สุภาภรณ์บอก
คุณหมอต้อมบอกด้วยว่า อาหารที่มีรสเปรี้ยว จำพวกมะขาม มะม่วง มะนาว หรือกระทั่งน้ำส้มสายชู ถ้ามีก็ควรเติมลงไปในอาหารบางอย่างได้ เช่น ใส่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะรสเปรี้ยวช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า เพิ่มความกระชุ่มกระชวยให้ชีวิต
“การกินแต่แป้งและน้ำตาลเพียงอย่างเดียว จะทำให้ก้าวร้าวแถมจิตใจหดหู่ การเติมเครื่องเทศจะช่วยปรับสมดุลร่างกาย ช่วยเพิ่มความต้านทานโรคที่อาจจะมากับน้ำท่วมบางโรคได้ดี”ภญ.สุภาภรณ์กล่าว
ทางด้านแพทย์แผนปัจจุบัน อย่างอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ และที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้พูดถึงเรื่องอาหารการกินในช่วงต้องเผชิญกับน้ำท่วมเมืองแบบนี้ว่า ร่างกายคนเราจะไม่รับรู้หรอกว่าตอนนี้น้ำกำลังท่วม การกินอาหารต้องกินแบบจำกัดจำเขี่ย ถ้าร่างกายใครขาดสารอาหารอะไรขึ้นมา ร่างกายก็จะประท้วงโดยแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาทันที
“กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หากร่างกายขาดสารอาหาร จะแสดงออกมาทันที แต่ถ้าเป็นหนุ่มสาวร่างกายแข็งแรง น้ำท่วม 1 เดือนไปไหนมาไหนไม่ได้ กินแต่บะหมี่สำเร็จรูปอย่างเดียวติดต่อกันนานเป็นเดือน หรือสองเดือน ก็คงยังไม่เป็นอะไรในทันทีทันใดในแง่ร่างกาย แต่เรื่องของจิตใจ มันจะห่อเหี่ยว หดหู่และเบื่อหน่าย ชีวิตซังกะตายทันที ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องดีและอาจจะส่งผลต่อร่างกายตามมา”อ.สง่าบอก
อ.สง่าแบ่งกลุ่มผู้ประสบภัยน้ำท่วมออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ไปไหนมาไหนไม่ได้ รอแต่ของบริจาค หรืออาหารแจกอย่างเดียว กลุ่มนี้ถ้าได้รับอาหารกล่องสำเร็จรูปก็ต้องดูให้ดี อย่าได้ผลีผลามกินไม่คิด ข้าวกับกับข้าวแยกกันมา เช่น ข้าว ไข่ต้ม หมูทอด ไข่พะโล้ ดมแล้วไม่มีกลิ่นบูด กินได้ แต่เมื่อไรที่เป็นแกงกะทิ หรือข้าวกับ กับข้าวปนกันมาในกล่องเดียวกัน ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ว่าบูดแล้วหรือยัง ถ้าบูดแล้วต้องทิ้ง อย่าฝืนกิน เพราะผลเสียจะตามมาทันที เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย
กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่พอจะลุยน้ำออกมาซื้อของได้บ้าง ขอแนะนำให้ซื้อเนื้อหมู เนื้อ หรือไก่ มาหั่นบางๆ ทาเกลือ หรือคลุกน้ำปลา ตากแดดเอาไว้ เก็บไว้กินได้หลายวัน ส่วนอาหารยอดฮิตอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแนะนำว่าถ้าเพียงแต่แกะห่อแล้วใส่น้ำ มันจะซ้ำซากน่าเบื่อเกินไป เปลี่ยนมาเป็นบะหมี่ผัด บะหมี่ราดหน้า หรือผัดไทยบ้าง โดยประยุกต์เอาอาหารกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง มาเติม เพิ่มรสชาติและสีสัน
“ถ้าลุยน้ำไปกลับเพื่อซื้อของได้ ไข่ฟองละ 8 บาท ก็อยากให้ซื้อติดบ้านไว้เพราะไข่นั้นทำได้สารพัดเมนู และมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก นอกจากนี้ก็ควรซื้อผักประเภทหัว และมีน้ำเยอะๆ มาเก็บไว้ได้นาน เช่น หัวไชเท้า ฟัก แตงกวา แครอต กะหล่ำปลี วิธีเก็บผักให้ได้นานที่สุดคือ ล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง ห่อด้วยผ้าขาวบางหรือใบตอง แล้วห่อด้วยกระดาษอีกที ใส่ถุงพลาสติก แล้วใส่ตู้เย็นเอาไว้ จะยืดอายุผักได้นานกว่าปกติ”อ.สง่าบอก
สำหรับเรื่องน้ำ ในภาวะน้ำท่วมที่น้ำขาดแคลนนั้น ปกติร่างกายต้องการน้ำวันละ 8 แก้ว แต่ อ.สง่าบอกว่า ดื่มน้อยกว่านี้ก็ไม่เสียหายมาก แต่แนะนำว่า วิธีการดื่มน้ำ แทนที่จะดื่มแบบอึกอึกรวดเดียว ให้ใช้วิธีค่อยๆ จิบทีละนิด การจิบเมื่อน้ำสัมผัสริมผีปาก จะส่งความรู้สึกไปยังสมอง ร่างกายจะคลายความกังวลเรื่องการขาดน้ำ
ของที่ไม่แนะนำให้ดื่มกินเลยในช่วงน้ำท่วมคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ และของที่มีรสเค็มจัด เพราะทั้งหมดนี้ทำให้
ร่างกายเสียสมดุล ฉี่บ่อย และร่างกายจะขาดน้ำในที่สุด
รู้แล้วว่ากินอย่างไรสู้น้ำท่วม ผู้ประสบภัยทั้งหลายพร้อมที่จะตั้งโต๊ะกินกันแล้วหรือยัง
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน