น้ำท่วม ห่วงจมน้ำเสียชีวิตพุ่งสูง
ที่มา: MGR Online
แฟ้มภาพ
สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดยังอยู่ภาวะวิกฤต โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ภาคกลาง ที่อยู่ใกล้ลุ่มแม่น้ำสายหลัก ส่งผลให้ประชาชนจำนวนได้รับผลกระทบ ซึ่งทางรัฐบาลอยู่ระหว่างการเร่งติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือ
ความช่วยเหลือหลักๆ ในขณะนี้ยังคงเป็นอาหารและน้ำดื่ม ความสำคัญของการช่วยเหลือในเรื่องนี้คือ "ความสะอาด" ซึ่งหากไม่ใส่ใจในสุขอนามัย ก็อาจส่งผลให้ประชาชนที่ลำบากจากภาวะน้ำท่วมอยู่แล้ว ต้องประสบกับภัยโรคระบาดจากอาหารและน้ำดื่มอีก ดังนั้น ผู้ให้ความช่วยเหลือเองก็เอาใจใส่ในเรื่องเหล่านี้ด้วย
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย แนะนำว่า การปรุงประกอบอาหารในจุดที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ต้องให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาด ปลอดภัย การปรุงอาหารต้องถูกหลักสุขาภิบาลอาหารและได้คุณค่าทางโภชนาการ อาหารสดต้องไม่มีกลิ่นเหม็นหรือสีผิดปกติ อาหารแห้งต้องไม่มีเชื้อรา ส่วนอาหาร ต้องอยู่ในสภาพดี กระป๋องไม่บุบ บวม และไม่หมดอายุ พื้นที่หรือสถานที่จัดตั้งครัวต้องไม่ใกล้ห้องส้วม หรือที่รวบรวมขยะ ที่ระบายน้ำเสียหรือที่เก็บสารเคมี โดยหลีกเลี่ยงการเตรียมหรือปรุงอาหารกับพื้น ควรเตรียมปรุงอาหารบนโต๊ะที่สูงจากพื้น ประมาณ 60 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรก บริเวณที่ปรุงอาหารจะต้องมีถังขยะใส่เศษอาหารที่ไม่รั่วซึม มีฝาปิด ควรมีถุงพลาสติกรองอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันแมลงวัน หนู แมลงสาป และทำให้ง่ายต่อการนำไปกำจัดด้วย
ขั้นตอนในการปรุงอาหารเพื่อช่วยผู้ประสบภัยนั้น นพ.วชิระ กล่าวว่า ก่อนปรุงอาหารควรมีการล้างวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงทุกครั้ง โดยเฉพาะผักซึ่งอาจมีการปนเปื้อนคราบดินที่เกิดจากน้ำท่วมต้องล้างด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง ส่วนผักบางอย่าง เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปให้ล้างน้ำหลายๆ ครั้ง ก่อนจะนำไปปรุงประกอบอาหาร ส่วนผู้ปรุงประกอบอาหารต้องปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือก่อนปรุงอาหาร ไม่ใช้มือจับอาหารปรุงสำเร็จโดยตรง ถ้ามือมีแผลต้องปิดแผลให้มิดชิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอาหาร
"ภายหลังจากปรุงอาหารเสร็จแล้วควรบรรจุในภาชนะที่สะอาด ง่ายต่อการขนส่ง และควรแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยให้หมดภายใน 2-4 ชั่วโมง และภาชนะบรรจุควรเขียนคำเตือนและระบุวัน เวลา ที่ปรุงไว้ด้วย เพื่อเป็นการเตือนผู้ประสบภัยไม่ให้นำอาหารที่เก็บไว้นานมาบริโภค อาหารที่ปรุงแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยควรเป็นอาหารแห้งๆ ประเภททอดหรือผัดที่ไม่บูดเสียง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิ นม เป็นส่วนประกอบ หรืออาหารประเภท ลาบ ยำ พล่าต่างๆ ส่วนน้ำดื่มควรเป็นน้ำบรรจุขวดซึ่งจะสามารถแจกจ่ายได้สะดวกและป้องกันการปนเปื้อนได้ หากมีจุดสำรองน้ำไว้สำหรับผู้ประสบภัยใช้อุปโภคบริโภคควรมีการเติมคลอรีนฆ่าเชื้อโรคด้วย" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
อีกหนึ่งแผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมคือ การช่วยให้ผู้ประสบภัยมีรายได้จากการขาดการทำงาน และการฟื้นฟูบ้านเรือนหลังน้ำลด เรื่องนี้ นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ระบุว่า ทุกหน่วยงานในสังกัดได้ให้ความช่วยเหลือทุกกรณี โดยเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม เบื้องต้นกำชับให้เข้าไปแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค บรรเทาความเดือดร้อน พร้อมสำรวจความต้องการด้านอาชีพของผู้ประสบภัย เพื่อฝึกอาชีพให้ได้มีงานทำ มีรายได้ในช่วงประสบภัยเพื่อบรรเทาภาระการครองชีพ นอกจากนี้ ยังเปิดศูนย์พักพิง ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดที่เกิดน้ำท่วมให้แก่พี่น้องประชาชน โดยจะจัดที่พัก อาหาร และน้ำดื่มไว้ให้บริการฟรี
"ยกตัวอย่างสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานขอนแก่น ในระยะเร่งด่วนได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในการขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ให้อยู่ในที่ปลอดภัย การตัดระบบกระแสไฟฟ้า พร้อมจัดหาสิ่งของเครื่องใช้อุปโภคบริโภคแจกจ่ายให้กับประชาชนด้วย ต่อมาเมื่อสถานการณ์ปัจจุบันน้ำเริ่มลดลง จึงจัดเตรียมให้การช่วยเหลือประชาชนหลังน้ำลดในโครงการฝึกอาชีพหลังน้ำลด เพื่อให้ประชาชนสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ อาทิ การฝึกอาชีพในสาขาช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในอาคาร และที่ผ่านมาหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานพื้นที่ภาคกลาง เช่น อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ก็ได้ระดมสรรพกำลังอย่างเต็มที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ส่วนจังหวัดที่คาดว่าจะมีมวลน้ำไหลผ่านทั้งเขตภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงช่วงฤดูมรสุมทางภาคใต้ ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมช่วยเหลืออย่างแข็งขันและทันท่วงที" นายสุทธิ กล่าว
แม้หลายหน่วยงานจะระดมกำลังเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม แต่บางเรื่องประชาชนต้องช่วยเหลือและระมัดระวังตนเองด้วย โดยเฉพาะอุบัติเหตุการจมน้ำ ซึ่ง นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พื้นที่ประสบอุทกภัยมีรายงานเด็กจมน้ำเสียชีวิตแล้ว 19 ราย และผู้สูงอายุ ในเขตสุขภาพที่ 7 (ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม เเละกาฬสินธุ์) จำนวน 2 ราย สาเหตุมาจากการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเเล้วหมดเเรง เเละการเล่นน้ำในพื้นที่เสี่ยง
"ปัจจุบันการจมน้ำยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยปี 2559 พบเด็กไทยจมน้ำเสียชีวิตกว่า 713 ราย คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากในหลายพื้นที่ของประเทศยังมีน้ำท่วมขัง ทำให้กลุ่มผู้ใหญ่มักออกไปหาปลา เก็บผัก ส่วนกลุ่มเด็กมักชวนกันออกไปเล่นน้ำ และเสี่ยงพลัดตกหรือจมน้ำค่อนข้างสูง เพราะระดับน้ำและความแรงของแหล่งน้ำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอยู่มาก ดังนั้น เพื่อป้องกันการเสียชีวิตในเด็ก ผู้ปกครองควรสอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำที่เสี่ยงและอันตรายที่ไม่ควรลงเล่นน้ำ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำให้เด็กสวมเสื้อชูชีพ หรือเสื้อช่วยพยุงตัวทุกครั้ง" นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นพ.สุวรรณชัย แนะนำอีกว่า หากระหว่างที่เด็กอยู่ในน้ำ ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่ผู้ใหญ่ออกไปหาปลาหรือประกอบอาชีพให้พกถังแกลลอนพลาสติกเปล่าและสะพายแล่งติดตัวไปด้วยเสมอ เพื่อใช้พยุงตัวกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งให้หลีกเลี่ยงการลงไปในบริเวณแหล่งน้ำเชี่ยวหรืออันตราย เพราะเสี่ยงต่อการหมดเเรงได้ง่าย เเละยังคาดเดากระแสน้ำได้ยาก เเละไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ประการสำคัญคือชุมชนควรติดป้ายแจ้งเตือน อีกมาตรการสำคัญที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คือ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ 1.ตะโกน คือ การเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อให้คนตกน้ำจับ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าหรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และ 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า เพื่อให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ
แม้จะประสบภาวะวิกฤตน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการคลี่คลายสถานการณ์ แต่การให้ความช่วยเหลือที่ดีและมีคุณภาพ ย่อมส่งผลดีต่อผู้ประสบภัย ขณะเดียวกันผู้ประสบภัยเองก็ต้องไม่ย่อท้อ ต้องเตรียมตัวเตรียมใจช่วยเหลือตัวเองด้วย จึงจะฝ่าสถานการณ์อุทกภัยไปได้