น้ำท่วมนานคนเป็นโรคจิต เหตุเครียด
แนะโทรสายด่วน 1323
ประชาชนที่ต้องประสบกับน้ำท่วมทุกหลังคาเรือนต้องพบกับความทุกข์ระทมอย่างแสนสาหัส ทุกข์เฉพาะหน้า คือ ขาดแคลนเรื่องอยู่เรื่องกินต้องรอคอยความช่วยเหลือที่หยิบยื่นให้ โชคดีเหลือเกินที่คนไทยเรามีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระราชทานความช่วยเหลือทันทีทันใดแล้วยังพระราชทานพระราชทรัพย์10 ล้านบาทแล้วพระราชทานเพิ่มอีก 10 ล้านบาท ตลอดจนพี่น้องไทยไม่ทิ้งกันเมื่อยามทุกข์ร้อนยื่นมือช่วยอย่างทันท่วงที
ทุกข์ที่ตามมาคือทรัพย์สินเงินทองข้าวของในบ้านจมอยู่ใต้น้ำ เรือกสวนไร่นาที่ลงทุนหว่านดำอีกเพียงไม่กี่อึดใจก็จะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว พลันถูกน้ำท่วมตายไปต่อหน้าต่อตา
ยังไม่หมดทุกข์เพียงเท่านั้น ยังมีทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจที่ภาษาหมอเขาว่า”สุขภาพจิต”คือเกิดความวิตกกังวล เกิดความซึมเศร้าเกิดความหวาดผวา ประสาทหลอน เป็นต้นก็คือความเครียดนั่นเองที่เริ่มก่อตัวตั้งแต่แรกผจญน้ำท่วมแล้วน่าจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งน้ำท่วมนานยิ่งรุนแรงและน่าจะติดตัวไปแม้หลังน้ำลดแล้วก็ตาม
ทุกเรื่องทุกราวต้องได้รับการเยียวยาต้องได้รับการช่วยเหลือ ด้านทรัพย์สินสิ่งของวัตถุเยียวยาแล้วก็น่าจะจบแม้จะไม่อาจช่วยได้ถึงขนาดให้กลับมามีสภาพเดิม แต่ให้สามารถเริ่มต้นใหม่เพื่อก้าวเดินต่อไป
เยียวยาสุขภาพจิตไม่ง่าย และน่าจะจบยาก รัฐบาลต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังในเรื่องนี้ จึงอยากให้ลองมาฟังความหมอสุขภาพจิตดูหน่อย
ได้เห็นข้อมมูลจากเว็บไซต์ สสส.ที่นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุลนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)บอกว่า เหตุการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงและเป็นบริเวณกว้างนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต เสียทรัพย์สิน ไร่นาเสียหาย สูญเสียแหล่งรายได้ ขาดแหล่งอาหาร เจ็บป่วยและเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ ถนนหนทางการเดินทางและการติดต่อสื่อสารต่างๆ ขัดข้อง ซึ่งความเสียหายเหล่านี้จะยังคงอยู่ และอาจปรากฎผลชัดเจนขึ้น แม้เมื่อน้ำลดลงแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่กระทบต่อจิตใจก่อให้เกิดความเครียดได้มาก โดยแต่ละคนจะมีวิธีจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน และปัญหาจิตใจของแต่ละคนก็อาจแตกต่างกัน ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาจิตใจได้มาก ได้แก่ ผู้ที่สูญเสียมาก เช่น ญาติเสียชีวิต สูญเสียไร่นา แหล่งรายได้ มีแหล่งช่วยเหลือน้อย เช่น เครือญาติและชุมชนรอบข้างที่พร้อมให้ความช่วยเหลือมีจำกัด
“ผู้ที่เครียดมากๆ แล้วขาดแหล่งช่วยเหลืออาจเก็บตัว ไม่พูดคุย ท่าทางเคร่งเครียด ท้อแท้เศร้าหมอง และในบางราย อาจรู้สึกสิ้นหวังจนถึงกับคิดฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้าที่เป็นมากจนความสามารถในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติเสียไป เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่มีพลังในการทำกิจวัตรประจำวัน และเป็นนานต่อเนื่องเกินกว่าสองสัปดาห์ขึ้นไป อาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่งที่สามารถรักษาให้หายได้ หากพบว่า ตนมีความเครียดหรืออารมณ์เศร้าต่อเนื่อง และรบกวนการดำเนินชีวิต ก็ควรได้รับการดูแลทางสุขภาพจิตจากสถานบริการใกล้บ้าน” นายแพทย์ประเวชกล่าว
คุณหมอประเวช ยังได้แนะนำเรื่องของการฟื้นฟูสภาพจิตใจที่สำคัญ คือ การใช้พลังชุมชน ช่วยเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบไม่รู้สึกว่าตนเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ แต่ให้เขาได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกันในชุมชน ซึ่งจะช่วยให้เขารู้สึกว่า ชีวิตเขา เขาจัดการแก้ไขได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกับคนในละแวกบ้านเดียวกัน ในชุมชนเดียวกัน
ส่วนการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจตนเองและคนใกล้ตัว ก็สามารถใช้หลักพื้นฐานของการสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เลี่ยงสารเสพติด นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายด้วยวิธีง่ายๆ เท่าที่สภาพสิ่งแวดล้อมจะเอื้อ พูดคุยกับคนใกล้ตัวไม่เก็บปัญหาไว้กับตนเอง ปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนาของตน เช่น สวดมนต์ไหว้พระ ทำสมาธิ มองโลกในแง่ดี
ส่วนคนที่ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาทางไหนดี คุณหมอประเวชแนะนำว่าให้ปรึกษาได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกแห่ง หรือใช้ระบบโทรศัพท์ในการปรึกษาปัญหา ก็สามารถใช้โทรสายด่วนสุขภาพจิตหมายเลข 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีการเปิดสายด่วนเพิ่มอีก 10 คู่สาย ที่หมายเลข 0-2590-1994 เพื่อรับประสานความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอด 24 ชั่วโมงหรือสายด่วน 1300 ศูนย์ประชาบดี นอกเหนือจากสายด่วน 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน
สำหรับพื้นที่ประสบภัยที่อำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมา ปรึกษาที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ อำเภอปักธงชัยจังหวัดนครราชสีมา อยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์และโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนที่จังหวัดลพบุรี ขณะนี้โรงพยาบาลศรีธัญญา ลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลือแล้ว ซึ่งหากมีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงแต่ละหน่วยจะแจ้งรายละเอียดมายังศูนย์ปฏิบัติการ หรือวอร์รูมที่กรมสุขภาพจิตเพื่อปรับแผนให้ความช่วยเหลือโดยด่วน
อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญการเยียวยาเรื่องสุขภาพจิตไม่ว่าจะเป็นโรคเครียดโรคซึมเศร้าอย่างจริงจังและรวดเร็วที่สุดควบคู่ไปกับการเยียวยาด้านวัตถุ
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
Update:04-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่