น้ำท่วมกิน “กล้วย” ช่วยคลายเครียด-ต้านโรค
น้ำท่วมทำชาวปราจีนฯ เครียด สธ.จัดส่งเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพจิตแล้ว พร้อมแนะกินกล้วยน้ำว้าสุก ชี้ช่วยต้านโรคภัย คลายเครียด ป้องกันโรคกระเพาะ ท้องเสีย ท้องผูก ระบุควรกินวันละ 1-2 ผล ด้านกรมอนามัยเผย 5 ทางรอดปลอดโรคจากน้ำท่วม
วันที่ 27 ก.ย. นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยมมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ว่า ส่วนใหญ่ประชาชนมีความเครียดเกือบทุกบ้าน แต่อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม. ประเมินและคัดกรองผู้มีความเครียด เพื่อให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ป้องกันปัญหาทำร้ายตนเองแล้ว อย่างไรก็ตาม หากประชาชนมีความเครียด วิตกกังวล ขอให้แจ้งอสม. เพื่อรับการดูแลจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 และ 1667 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
“ได้ให้ทุกพื้นที่แจกกล้วยน้ำว้าให้ผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นผลไม้ใกล้ตัว หาได้ง่ายในหมู่บ้าน เนื่องจากมีสรรพคุณต้านโรคได้หลายโรค เช่น โรคกระเพาะอาหาร ท้องเสีย ท้องผูก อีกทั้งมีผลการวิจัยพบว่า กล้วยน้ำว้าสุกมีสารซีโรโทนิน (serotonin) ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์สดชื่น นอนหลับ โดยไม่ต้องพึ่งยานอนหลับ และมีวิตามินเอสูง บี และซี ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ควรรับประทานวันละ 1-2 ผล” รมช.สาธารณสุข กล่าว
นายสรวงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับด้านการป้องกันควบคุมโรคที่มักมากับน้ำท่วม เช่น อุจจาระร่วง ฉี่หนู ตาแดง น้ำกัดเท้า ไข้เลือดออก ได้ให้กรมอนามัย ดูแลด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม อาหาร และน้ำดื่มน้ำใช้ ซึ่งที่จังหวัดปราจีนบุรี ได้ระดมพลังอสม. ทหาร ท้องถิ่น มูลนิธิต่างๆ ร่วมกันจัดระบบกำจัดขยะ และสิ่งปฏิกูลต่างๆ เพื่อป้องกันโรคดังกล่าว และให้ตรวจคลอรีนตกค้างในน้ำประปาเทศบาล และประปาหมู่บ้านให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค โดยมีค่าคลอรีนตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคือมากกว่า 0.02 พีพีเอ็ม และแจกหยดทิพย์ ซึ่งเป็นคลอรีนสำเร็จรูปใส่ฆ่าเชื้อโรคในน้ำที่ใช้ในบ้านเรือน อัตรา 1 หยดต่อ 1 ลิตรเพื่อปรับสภาพน้ำให้สะอาด สามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัย
ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดูแลสุขภาพและป้องกันอันตรายต่างๆ ในช่วงน้ำท่วม ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามข้อแนะนำ 5 ทางรอดปลอดโรค คือ 1.อย่าทิ้งขยะ อุจจาระ เศษอาหารลงในน้ำ ให้ใส่ถุงดำ มัดปากถุงให้แน่น 2. อย่าเล่นน้ำเน่าขัง เชื้อโรคอาจเข้าตา ปาก จมูก และบาดแผล อันตรายถึงตาย หากสัมผัสน้ำเน่าเสียต้องล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาด 3.กินอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด 4.หลังน้ำลด ล้างบ้านเรือน ห้องสุขา ภาชนะอุปกรณ์ต่าง ๆ และ 5.ช่วยกันล้างตลาด ประปาชุมชนและสถานที่สาธารณะตามหลักสุขาภิบาล เพื่อป้องกันโรคบิด อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ ท้องร่วง ตาแดง โรคฉี่หนู แผลเน่า สมองอักเสบ
ที่มา : เว็บไซต์ astv ผู้จัดการออนไลน์