‘น้ำซับ’ ชุมชนคนปลูกผักสู่หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ khaochad.com


‘น้ำซับ’ ชุมชนคนปลูกผักสู่หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร thaihealth


วิถีการบริโภคของผู้คนที่เปลี่ยนไป เอาสะดวกเข้าว่า อยากได้อยากกินอะไรก็เดินไปที่ตลาดแล้วจ่ายเงิน จะให้มาปลูกผัก เลี้ยงปลาไว้กินเองแล้วนับเป็นเรื่องยากมาก โดยเฉพาะในสังคมเมืองและชุมชนที่มีเศรษฐกิจดี ที่มีกำลังซื้อพร้อมจับจ่ายมากกว่าทำเอง


อย่างที่บ้านน้ำซับ ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ชาวบ้านร้อยละ 70 ประกอบอาชีพเกษตรกรเลี้ยงโคนม ที่เหลือทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ฐานะความเป็นอยู่พอมีไม่เดือดร้อน จึงไม่สนใจที่จะปลูกผักไว้กินเอง


“ทุกคนอ้างไม่มีเวลา ทำงานก็เหนื่อยแล้ว จะให้มาปลูกผักกินเอง ไม่เอาหรอก เสียเวลา เมื่อมีเงินมีรายได้หลัก สู้เอาเงินซื้อดีกว่า สะดวกกว่าเยอะ” รักขณา วงษ์ท้าว แกนนำบ้านน้ำซับ ชี้เหตุผลที่ชาวบ้านไม่นิยมปลูกผักไว้กินเอง


แต่รักขณา ไม่คิดแบบนั้น เธออยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการปลูกผักปลอดสารไว้กินเอง เพราะดีต่อสุขภาพ เป็นแหล่งอาหารปลอดภัยให้กับครอบครัวที่ปลูก และที่สำคัญยังช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนอีกด้วย


ดังนั้นจึงทำโครงการ “ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักปลอดภัยในครัวเรือนชุมชนบ้านน้ำซับ” โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเป็นแรงกระตุ้นกับชาวบ้านให้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง


แค่เริ่มต้นก็ไม่ง่าย เพราะชาวชุมชนฝังใจกับการรวมกลุ่มทำโครงการ ที่เคยล้มไม่เป็นท่ามานับไม่ถ้วน แต่กับครั้งนี้ แกนนำ ทุกคนได้ใช้ความผิดหวังในอดีตมาเป็นบทเรียน


‘น้ำซับ’ ชุมชนคนปลูกผักสู่หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร thaihealth


รักขณา บอกว่า เธอเคยรวมกลุ่มแม่บ้านทำโครงการมามากมาย แต่ไปต่อไม่ได้ ไม่มีความต่อเนื่อง แล้วก็ล้มไม่เป็นท่า และเมื่อมาชวนทำโครงการปลูกผัก เธอจึงนำอดีตมาเป็นบทเรียน เริ่มจากนำข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับการทำโครงการเข้าที่ประชุมหมู่บ้าน จนกลายเป็นข้อตกลงร่วมกัน ทุกคนรู้ และเห็นชอบ ว่าจะปลูกผักปลอดสารไว้บริโภค ด้วยการขับเคลื่อนของคนในชุมชนทุกคน แต่ก็ยังมีคนไม่ค่อยจะใส่ใจนัก


“ดังนั้นจึงต้องทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง” รักขณา บอกถึงวิธีจูงใจให้คนทำตาม โดยแกนนำทั้ง 11 คน จะต้องปลูกผักปลอดสารไว้กินเองในครัวเรือน จากนั้นขยายผลไปกับชาวชุมชน จนได้ผู้เข้าร่วมโครงการ 50 ครัวเรือน ซึ่งจะต้องปลูกผักปลอดสารไว้กินเองไม่น้อยกว่า 5 ชนิด และต้องไม่ซ้ำกัน ซึ่งเอาเข้าจริงทุกคนปลูกเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ทั้งสิ้น


เมื่อเริ่มปลูก ทุกคนก็ตื่นตัว มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ บ่อยครั้งที่พูดถึงการบริโภคผักปลอดภัย เพื่อลดสารเคมีตกค้างในร่างกาย ขณะเดียวกันแกนนำในโครงการได้นำเอาความรู้สู่ชาวบ้านทั้งเรื่องการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพบ้านไหนเลี้ยงโคนม ก็นำขี้วัวมาทำเป็นปุ๋ยหมัก หรือใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก รวมไปถึงเรื่องของการสร้างระบบนิเวศในแปลงผัก คือเน้นให้ปลูกผักหลากหลายชนิด สลับกัน เพื่อหลอกล่อแมลง และที่สำคัญต้องปลูกไม่ซ้ำกัน


‘น้ำซับ’ ชุมชนคนปลูกผักสู่หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร thaihealth


“ในอนาคตเราคิดไว้ว่าจะนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภค ออกจำหน่ายทั้งในชุมชนและตลาดออนไลน์ และตั้งเป้าให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย” รักขณา บอก


ขณะที่ ลุงไพโรจน์ พันธุรัตน์ ชาวบ้านน้ำซับ ได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณจากการทำงานหันมาใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้วยการพึ่งพาตนเอง ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ ทำให้มีกินตลอดปี และยังเป็นต้นแบบให้กับชาวบ้านได้มาศึกษาแนวทางที่ทำอยู่


ลุงไพโรจน์ กล่าวว่า เคยไปทำงานรับจ้างหลายแห่ง ไปเห็นตัวอย่างหลายๆ ที่ซึ่งเขาทำอยู่ก็สนใจ ก็เก็บความรู้ ความตั้งใจมาเรื่อยๆ อยากเอาแนวคิดนั้นกลับมาทำที่บ้านเรา พอได้โอกาสกลับ


มาอยู่บ้านก็ไม่รอที่จะรีบลงมือทำ เราปลูกหลายอย่าง พืชผักสวนครัวเช่น ข่า โหระพา กะเพรา ตะไคร้ ผักบุ้ง มะเขือ พืชผลมี มะม่วง กล้วย ฝรั่ง ส้มโอ น้อยหน่า ฯลฯ เลี้ยงสัตว์ก็มีไก่ และปลา ไม่ต้องซื้อ ของที่เราปลูกเองกินเองทั้งหมด เหลือก็แบ่งขาย


“ถามว่าการทำสวนปลูกผักเลี้ยงสัตว์มันจะรวยเหรอ เราไม่ต้องการรวย แค่ให้เราอยู่ได้ ไม่อด จะกินอะไรก็หาจากในบ้านนี่แหละไม่ต้องซื้อเขากิน ถ้าเอาไปขายได้เงินเล็กๆ น้อยๆ ในตอนนี้ก็พอแล้วเพราะเราไม่มีรายจ่าย ที่สำคัญเราได้สุขภาพ ร่างกายแข็งแรง” ลุงไพโรจน์ กล่าว


ด้วยพลังความทุ่มเทของแกนนำที่ต้องการให้ชาวบ้านน้ำซับได้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยไว้บริโภคในครัว จุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้เมื่อทุกคนแห็นความสำคัญและพร้อมใจช่วยกัน ก้าวเดินไปด้วยกันเป้าหมาย “หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร” คงไม่ไกลเกินเอื้อม

Shares:
QR Code :
QR Code