“น้ำกัดเท้า” กับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า!
แนะสวมบูตยาง ถุงดำหุ้มขา
สำหรับปัญหาอุทกภัยที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่นี้ สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นความหนักใจของทุกฝ่าย คือ โรคภัยไข้เจ็บที่จะมาพร้อมกับปัญหาน้ำท่วม และโรคที่มักจะเลี่ยงไม่ได้สำหรับพี่น้องที่ประสบภัยและจำต้องแช่อยู่ในน้ำนานๆ ก็คือปัญหาน้ำกัดเท้า
นพ.จิโรจน์ สินธวานนท์ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง อธิบายว่า อาการโรคผิวหนังที่เกิดจากน้ำท่วมขังแบ่งเป็น 2 แบบคร่าวๆ คือ อาการผิวหนังอักเสบ เปื่อยยุ่ยจากความชื้นแฉะ เนื่องจากผิวหนังที่บวมเมื่อแช่น้ำนานๆ จะเปื่อยและเกิดบาดแผลเล็กๆ โดยเฉพาะตามง่ามนิ้วเท้าและขอบเล็บ ซึ่งผิวหนังอักเสบในระดับนี้ยังไม่มีเชื้อโรคใดๆ เข้าไปในบาดแผล และระดับที่ 2ก็ คือ แผลเล็กๆ ที่เกิดจากผิวหนังอักเสบในระดับแรก มีเชื้อโรคเข้าไป
“การให้ยาก็จะต่างกัน หากเป็นผิวหนังอักเสบไม่ติดเชื้อ ใช้แค่ยาทาที่ผสมสเตียรอยด์ก็พอ แต่ถ้าติดเชื้ออื่นๆ ก็จะต้องให้แพทย์วินิจฉัยเป็นกรณีไป ขณะนี้องค์การเภสัชฯ เร่งผลิตยาทาน้ำกัดเท้าประเภทที่ผสมตัวยาฆ่าเชื้อราอย่างหนัก เนื่องจากต้องการนำไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ แต่การจะดูว่าแผลน้ำกัดเท้านั้นติดเชื้อหรือไม่ อันนี้ต้องให้แพทย์ดู ซึ่งทางเราจะลงพื้นที่ออกหน่วย 4 วัน เพื่อลงไปช่วยผู้ประสบภัย”
ผอ.สถาบันผิวหนัง ได้ฝากแนะนำไปยังผู้ที่กำลังประสบภัยอยู่ ว่า แม้จะมีอุปกรณ์จำกัดและด้วยสถานการณ์บังคับ อาจจะทำให้หลายคนเสี่ยงต่อการเป็นโรคน้ำกัดเท้า แต่ก็ยังพอมีวิธีเลี่ยงได้ โดยหากท่วมไม่มาก ให้สวมบูตยางกันน้ำ แต่ถ้าท่วมสูง อาจจะเอาถุงดำหุ้มขาแล้วมัดเชือกฟางเอาไว้ เพื่อป้องกันน้ำสกปรกสัมผัสผิว และหากทำได้ให้ทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำสะอาดและด่างทับทิมวันละครั้ง
“อาจจะขลุกขลักหน่อย แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้แช่อยู่ในน้ำ สำหรับผู้บริจาคก็อาจจะส่งถุงดำ เชือก ด่างทับทิม ทิชชู ไปได้ เข้าใจว่า น้ำสะอาดมีน้อย แต่เราสามารถแบ่งออกมานิดหน่อย ให้พอแช่เท้าได้ หากน้ำน้อยก็แช่เฉพาะเท้า แช่ได้ทั้งครอบครัว เทน้ำลงในกะละมังแล้วเอาด่างทับทิมใส่นิดหน่อย แช่สักพัก เอาขึ้นแล้วเช็ดให้แห้ง ก็จะช่วยได้เหมือนกัน” นพ.จิโรจน์ ทิ้งท้าย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ astvผู้จัดการ
update:27-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่