น้องพี่ขับขานสืบสานดิเกฮูลู
บอกเล่าการสร้างสันติภาพ
รำมะนา ฉิ่ง ฆ้อง โหม่ง ลูกแซก รัวขยับสลับเป็นจังหวะคึกคัก น้องร้อง พี่รับ ขับขานศิลปะ บอกเล่าเรื่องราวในโครงการดิเกฮูลูเปี่ยมสุข ที่มีผู้ชมหลากวัยเกาะติดขอบเวที โดยมีศิลปินพื้นบ้าน เจะปอ สะแม ดูแลใกล้ชิด
กลุ่มนักศึกษาหนุ่มสาว คณะข้าวยำละครเร่จากคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี นำศิลปะการแสดงละครมาผสมผสานกับการแสดงพื้นบ้านดิเกฮูลูร่วมกับศิลปินตัวน้อย เพื่อให้เข้าถึงทุกเพศทุกวัย พร้อมบอกเล่าการสร้างสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
เสียงขับขานบทเพลงดังขึ้น มีดนตรีคอยรับส่งเข้ากันเป็นจังหวะ แม้จะอยู่ในท่านั่งแต่ลีลาการเคลื่อนไหวดูแล้วครึกครื้นจนต้องปรบมือตาม
จากสองคณะเล็กๆ เมื่อหลอมรวมเข้าด้วยกันกลายเป็นการแสดงที่เปี่ยมพลัง
บรรยากาศในมหกรรมเครือข่ายสื่อพื้นบ้านภาคใต้ “ชมบัว รัวโพน จาโปตาแง สานพลังสุขจากสื่อพื้นบ้านปักษ์ใต้” จัดโดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการดำเนินงานสื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะเยาวชน ที่โรงเรียนวัดทะเลน้อย (ลอยประชาคาร) อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
การแสดงในวันนั้น นอกจากดิเกฮูลูแล้ว ยังมีเยาวชนตัวน้อยมาร่วมสืบสานศิลปะปักษ์ใต้ทั้งมโนราห์ รองเง็ง หนังตะลุง ฯลฯ
นายเจะปอ สะแม ศิลปินพื้นบ้านชื่อก้องหัวหน้าคณะดิเกฮูลูแหลมทราย กล่าวถึงลูกศิษย์ตัวน้อย 12 คน ที่ร่วมแสดงบนเวทีครั้งนี้ว่า เด็กๆ จบชั้น ป.6 แต่ก็ยังพูดไม่ได้ เขียนหนังสือยังไม่ค่อยถูก ก็เลยอาสาเข้ามาสอนผ่านการร้องรำดิเกฮูลู เพราะอยากสอนเรื่องภาษาให้เขาสื่อสารได้ถูกต้อง สื่อในประเทศไทยมีเยอะมาก เราก็เป็นสื่อบุคคลมารวมตัวถ่ายทอดสะท้อนเป็นบทกลอน ร้องรำทำเพลง ทำให้หลายๆ คนสนใจ
“บางครั้งพ่อแม่เขาก็มาแอบดู แอบฟังตอนที่เราสอนลูกๆ เขา เพราะเป็นห่วงกลัวจะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ไม่เข้าใจสังคม กลัวถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี เพราะรู้ไม่เท่าทัน ผมไม่ได้สอนเรื่องดนตรีอย่างเดียว แต่เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างอื่นด้วย ได้รู้จักการทำงานเป็นทีม รู้จักความรับผิดชอบ ทุกคนต้องรับผิดชอบดนตรีคนละ 1 ชิ้น เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับคนหมู่มาก
เด็กๆ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เขาไม่ตะโกนโหวกเหวกเหมือนแต่ก่อน กล้าแสดงออก เคารพความคิดเห็นของเพื่อนๆ เด็กๆ ยังได้สืบทอดวัฒนธรรมศิลปะพื้นบ้านที่กำลังสูญไป ไม่เสียหายที่จะมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเรา เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นมรดกของเรา และเป็นอีกช่องทางที่ทำให้รู้จักรากตัวเอง รู้ว่าคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย วิถีชีวิตเป็นอย่างไร” ศิลปินครูดิเกฮูลูกล่าว
ด้านหนุ่มสาวจากกลุ่มข้าวยำละครเร่ มุ่งมั่นทำงานในการสร้างสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และพร้อมจะมอบความสุขให้กับพี่น้องชาวใต้ ที่ผ่านมาหนุ่มสาวกลุ่มนี้ลงพื้นที่ในชุมชนจัดการแสดงเร่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้กับชุมชน เช่น เรื่องยาเสพติด สันติภาพ พร้อมสื่อสารกับผู้คนในชุมชนให้เกิดความเข้าใจกัน
“แต่ก่อนเราก็กลัว แต่ตอนนี้เสียงตอบรับจากชุมชนดีขึ้น ไปนั่งบ้านไหนก็ได้ พ่อแม่เขาไว้ใจ จะบอกว่าข้าวยำมาแล้ว มาทำละครมาแสดงดิเกฮูลูให้ดู บรรยากาศเปลี่ยนไป ทำให้เรามีพื้นที่ในชุมชนด้วย ต่างจากแต่ก่อนที่มีความระแวงสงสัย” คำบอกเล่าของ ทราย น.ส.สุตาภัทธ หมั่นดี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หนึ่งในสมาชิกข้าวยำละครเร่” ไฟใต้เราทุกคนสามารถช่วยเหลือได้ถ้ามีความสามัคคี อยากให้สันติเกิดในทุกพื้นที่ ไม่เฉพาะใน 3 จังหวัดภาคใต้ แต่เป็นทั้งประเทศความขัดแย้งทางสังคมจะแก้ไขไม่ได้ ถ้าเราไม่ช่วยกัน”
ทรายกล่าวต่อว่า เสน่ห์ของดิเกฮูลูคือการเล่นท่าทาง หากเคยเห็นศิลปินรุ่นเก่าๆ แสดงจะมีการออกท่วงท่าเยอะมาก เสื้อผ้าก็เต็มยศ การร้องเพลงต้องใช้พลังเสียงมาก ดนตรีเป็นจังหวะสนุก เรียกความสนใจได้ แต่กลุ่มข้าวยำละครเร่มีการประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย นำละครและดิเกฮูลูซึ่งเป็นศิลปะพื้นบ้านเข้ามาด้วย เนื้อหาบทเพลงมีทั้งแต่งขึ้นเอง อย่างเช่น เพลงสันติภาพบ้านเรา จะร้องทั้งภาษาไทยและภาษามลายู
ทรายเล่าถึงความประทับใจว่า การแสดงของเด็กๆ น่าชื่นชม อย่างมโนราห์ เด็กๆ ไม่ได้ฝึกแค่ 1-2 วัน แต่ละคนกว่าจะแสดงได้ขนาดนี้ต้องใช้ความอดทนสูง ต้องมีสมาธิทุ่มเทในการฝึกซ้อม หรือน้องมอแกน จ.พังงา ที่เขาใช้สื่อพื้นบ้านเป็นกระบอกเสียง บอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิต เห็นแล้วภูมิใจ สื่อพื้นบ้านแต่ละแห่งมีความน่าสนใจในตัวเอง
ด.ช.อภิวัฒน์ จันผลึก หรือ หนุ่มวัย 14 ปี ชั้น ม.3 โรงเรียนวัดทะเลน้อย ที่หัดรำมโนราห์ตั้งแต่ 6 ขวบ วันนี้หนุ่มไม่ได้สวมบทบาทเป็นนักแสดง แต่ขอเป็นผู้ชม ชมการแสดงของน้องๆ และพี่ๆ
หนุ่มบอกเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า ครั้งนี้ได้เห็นการแสดงของน้องๆ แล้วรู้สึกดีภูมิใจได้เผยแพร่วัฒนธรรมพื้นบ้านของเราให้เป็นที่รู้จักและคงอยู่ต่อไป เพราะปัจจุบันเด็กรุ่นหลังจะไม่ค่อยสนใจและมักรับเอาวัฒนธรรมใหม่ๆ เข้ามาแทนของเดิมที่มีค่า
ขณะที่ โก้ นายเอกสัก เมืองสองสี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เล่าว่า บรรยากาศการแสดงวันนั้น สิ่งที่แตกต่างแต่ทำให้ยิ่งสนุกคือการรวมวงกัน แต่เราสามารถแสดงได้ เราไม่แตกแยก เพราะเราเป็นดิเกฮูลู เป็นศิลปะพื้นบ้านเหมือนกัน ต่อให้ไม่เคยซ้อมด้วยกันเลยก็ตาม
สำหรับการแสดงของน้องๆ โก้บอกว่าเห็นแล้วภูมิใจในตัวเขา เพราะปัจจุบันไม่ได้มีแค่เราที่พยายามทำสิ่งเล็กๆ เหล่านี้ น้องๆ ทำได้ดี เห็นแล้วใจชื้นขึ้นเยอะว่าศิลปะเหล่านี้ยังคงอยู่ต่อไปแน่นอน
“ผมฟังผู้ใหญ่ในแต่ละจังหวัดทางภาคใต้เขาคุยกันในวงเสวนา เขาบอกว่าการแสดงอย่างเพลงบอกนำมาใช้กับดิเกฮูลู รองเง็ง หนังตะลุง ทำให้เรารู้สึกว่าความหลากหลาย ความแตกต่างเหล่านี้สามารถหยิบเอามาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้”
สื่อพื้นบ้านเป็นรากของเราที่มีมาแต่บรรพบุรุษซึ่งก็เคยเป็นเยาวชนเหมือนกัน
“ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่ทำให้เรารู้จักรากของตนเอง” โก้กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update : 13-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร